ดัน “Travel Link” พลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย Big Data 

Travel Link

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link” เดินหน้าผลักดันการใช้ประโยชน์จาก Big Data เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวไทย

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) พร้อมคณะร่วมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link : เชื่อม (ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน” โดยมี รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (BDI), คณะทำงานโครงการ Travel Link, นายอนุกูล จันทร์จรัส ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมทีมงาน และนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต รายงานผลการดำเนินงาน 

นายชัยวุฒิเปิดเผยว่า กระทรวงดีอีเอสให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งจากความคืบหน้าการดำเนินงานของแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link : เชื่อม (ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน” แสดงให้เห็นอีกขั้นของการบูรณาการการทำงานระหว่างรัฐและเอกชน เข้ากับเทคโนโลยีเพื่อการจัดการข้อมูลก่อนเชื่อมโยงไปสู่การใช้งานจริง โดยอาศัยความรู้ความสามารถของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาแพลตฟอร์มทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ในการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส)


ด้าน รศ.ดร.ธีรณีกล่าวว่า แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link : เชื่อม (ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน” เป็นหนึ่งในโครงการที่สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหาร ข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) เริ่มต้นพัฒนาขึ้น โดยความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย 

โดยวิธีการศึกษาจะเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ มีการสัมภาษณ์เชิงลึก มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรมในบริบท และมุมมองที่หลากหลาย โดยผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานต่าง ๆ 

ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลได้ที่ https://www.travellink.go.th/ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ BDI ในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกิดจากการทำงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่

“BDI พร้อมป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยความสามารถของบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เข้าใจเทคโนโลยีอุบัติใหม่ Business Domain ต่าง ๆ ของรัฐ และมีประสบการณ์ด้านข้อมูลเพื่อการวางแผนของภาครัฐพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทย”

สำหรับ Travel Link เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงและพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว สนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูล โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่า 20 หน่วยงาน อาทิ ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม อัตราการเข้าพัก ฯลฯ เกิดชุดข้อมูลอ้างอิง (Data Catalog) มากกว่า 100 ชุด มีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวไทยมากกว่า 14,000 แหล่ง

โดยรวบรวมชุดข้อมูลจาก 2 ส่วน ทั้งชุดข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและรายได้ของนักท่องเที่ยวรายจังหวัดและประเทศ (สป.ก.ท่องเที่ยว) และชุดข้อมูลมาตรการเดินทางเข้าประเทศสำหรับชาวต่างชาติ (ททท.) จะมาจากการทำ MOU ร่วมกับภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 22 หน่วยงาน ส่วนชุดข้อมูลที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอื่น ๆ จะดึงมาจากอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)(BDI)


จากนั้นจะนำข้อมูลที่กระจายเป็นไซโลตามที่ต่าง ๆ มาประมวลผลเป็น “แดชบอร์ด” (Dashboard) แบบสาธารณะและส่วนตัว

มีทั้งหมด 6 หมวดหมู่ ได้แก่ โซเชียล พฤติกรรมนักท่องเที่ยว รีวิว วิเคราะห์แนวโน้ม ข่าว/กระทู้ และสถิติผู้เยี่ยมเยือน รวมถึงแปลงข้อมูลเป็นอินโฟกราฟิกส่งให้กับสมาชิก LINE Official Account (LINE OA) ของ Travel Link ทุก ๆ สองสัปดาห์

นอกจากนี้ คณะทำงานโครงการ Travel Link ยังทำ MOU ร่วมกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำร่องโครงการ “Tourism Data Intelligence Sandbox” ที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก

“ข้อมูลจากโครงการนี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตวางแผนพัฒนาธุรกิจของตนได้หลากหลายมิติ เช่น วางแผนการจัด Road Show เพื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต หลังจากตรวจสอบสถิติผู้โดยสารต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในจังหวัด หรือจัดเตรียมที่พักและบริการให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละสัญชาติ เป็นต้น”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเกิดการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนับเป็นการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนประเทศอย่างมั่นคงในอีกขั้น