Apple นับถอยหลังปิดตำนานพอร์ต Lightning ?

lightning port

ย้อนตำนาน “Lightning” พอร์ตคู่บุญของ “iPhone” หนึ่งในเทคโนโลยีลูกรักของ “Apple” ที่กำลังโดนสกัดดาวรุ่ง เพราะกฎเหล็กของ EU

วันที่ 4 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า “Apple Events” งานใหญ่ส่งท้ายปีของยักษ์ “แอปเปิล” (Apple) ใกล้มาถึงทุกที ซึ่งสาวกแอปเปิลหลายคนคงรอไฮไลท์สำคัญอย่าง “iPhone 15” ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวลือเกี่ยวกับดีไซน์ของตัวเครื่องออกมามากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB-C แทนพอร์ต Lightning ที่ Apple ใช้เป็นพอร์ตหลักของ iPhone มาร่วม 11 ปี

แม้ว่าความชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนพอร์ตของ iPhone จะต้องรอการเปิดตัวอย่างเป็นทางการใน Apple Events วันที่ 13 ก.ย. 2566 เวลา 00.00 น. (ตามเวลาไทย) แต่ด้วยกฎเหล็กของสหภาพยุโรป (EU) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2567 ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ที่จะวางจำหน่ายในกลุ่มประเทศสหภาพ ต้องใช้พอร์ต USB-C ทั้งหมด หมายความว่าต่อให้ Apple จะไม่หยุดใช้พอร์ต Lightning กับ iPhone รุ่นล่าสุด ก็จำเป็นต้องหยุดใช้กับ iPhone รุ่นใดรุ่นหนึ่งในอนาคตอยู่ดี ถือเป็นการปิดตำนานพอร์ตคู่บุญของ iPhone ไปโดยปริยาย

ย้อนกลับไปในเดือน ก.ย. 2555 ชื่อของพอร์ต Lightning เริ่มเป็นที่รู้จักในการเปิดตัว iPhone 5 โดยนายพิล ชิลเลอร์ (Phil Schiller) หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Apple ณ เวลานั้น กล่าวในงานเปิดตัวว่า Lightning คือพอร์ตเชื่อมต่อที่ทันสมัยสำหรับทศวรรษหน้า เพราะสามารถใช้งานแบบพลิกกลับด้านได้ต่างจากพอร์ตชาร์จ Micro USB ที่ต้องใช้งานตามล็อกที่กำหนดเท่านั้น อีกทั้งยังมีขนาดเล็กกว่าพอร์ตชาร์จ 30-pin ที่ Apple เคยใช้งานด้วย

ดังนั้น พอร์ต Lightning จึงมีสถานะเป็นนวัตกรรมที่ Apple แสนจะภาคภูมิใจในเวลานั้น เพราะสามารถพัฒนาสิ่งที่ต่างจากคู่แข่งและแก้ปัญหาในการใช้งานแบบเดิมได้ แต่เมื่อพอร์ต USB-C ถูกพัฒนาขึ้น และเริ่มนำมาใช้ในปี 2558 พอร์ต Lightning ก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการผูกขาดของ Apple รวมถึงคุณสมบัติที่ดูจะเสียเปรียบพอร์ต USB-C อยู่เล็กน้อย เช่น การส่งผ่านข้อมูลหรือกระแสไฟฟ้าที่ทำได้ช้ากว่า และการจำกัดการใช้งานสำหรับผลิตภัณฑ์ของ Apple เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น พอร์ต USB-C ยังมีการใช้งานแพร่หลายมาก ผู้ผลิตหลายรายใช้พอร์ต USB-C เป็นพอร์ตหลักของสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกรุ่น ซึ่งในแง่ของการใช้งานถือเป็นข้อดีสำหรับคอนซูเมอร์ที่สามารถใช้งานอุปกรณ์ได้หลากหลายยี่ห้อ หรือในแง่ของการดูแลสิ่งแวดล้อมก็สามารถลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงได้ เพราะผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องซื้อสายชาร์จที่มีพอร์ตแตกต่างกันมาใช้เพิ่ม โดยข้อมูลจาก Statista มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2566 จะสูงถึง 61.3 ล้านตัน

ถึงแม้การบังคับใช้พอร์ต USB-C โดยทั่วกันจะส่งผลดีต่อคอนซูเมอร์และเป็นปัจจัยที่ช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่สำหรับ Apple อาจต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะการสูญเสียรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมต้องจ่ายให้ Apple เมื่อผลิตอุปกรณ์ที่ใช้สาย Lightning อีกทั้งยังต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐาน Made For iPhone (MFi) ที่ Apple กำหนดไว้ รวมถึงยังเพิ่มโอกาสที่คนใช้อุปกรณ์ของ Apple ไปใช้อุปกรณ์ของค่ายอื่นเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ทิศทางของพอร์ต Lightning ในอีโคซิสเต็มของ Apple ยังคงน่าจับตา เพราะผลิตภัณฑ์หลายอย่างก็มีการใช้พอร์ต USB-C ไปแล้ว หรือถ้า Apple ยังเลือกที่จะผลิตอุปกรณ์ที่ใช้พอร์ต Lightning ก็ต้องวางแผนการผลิตและจัดการซัพพลายเชนสำหรับอุปกรณ์ที่จะวางจำหน่ายในกลุ่มประเทศสหภาพและประเทศอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน