สส.เท้ง ก้าวไกล แนะนายกฯ ชงคลาวด์เฟิรสต์ จุดพลุเศรษฐกิจข้อมูล

สส.ณัฐพงษ์ ก้าวไกล อภิปรายรัฐบาลเพื่อไทยวางนโยบายดิจิทัลไม่ชัด ดิจิทัลวอลเลตไม่เพียงพอ ไม่สามารถวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล-เศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศ ชี้ภายใน 4 ปี รัฐบาลต้องทำ 3 เรื่องสำคัญ คือนโยบายด้านโครงข่ายคลื่นความถี่ นโยบายรัฐบาลดิจิทัล และคลาวด์เฟิรสต์ และนโยบายเศรษฐกิจข้อมูล

วันที่ 12 กันยายน 2566 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือเท้ง สส.พรรคก้าวไกล ได้ขึ้นอภิปรายนโยบายดิจิทัลของรัฐบาลเมื่อค่ำคืนวันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยชี้ว่าผิดหวัง และการวางนโยบายคร่าว ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงจะเป็นความผิดพลาด และการมีรัฐบาลผสมข้ามขั้วทำให้นายกฯ ไม่มีอำนาจที่แท้จริงในการทำนโยบาย เพราะแบ่งสันปันส่วนในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้กับหลายพรรค ควรวางแนวนโยบายด้านดิจิทัลที่ถูกต้อง และมีความชัดเจนมากกว่านี้

“ส่วนตัวผมไม่เคยมองว่านโยบายดิจิทัลเป็นภารกิจของกระทรวงดิจิทัลฯ หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นพันธกิจหรือเป้าหมายร่วมที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการวางสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่เป็นอนาคตให้กับประเทศ”

“วันนี้น่าผิดหวัง เพราะไม่เห็นคำแถลงนโยบายด้านดิจิทัลที่เป็นการวางสถาปัตยกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นอนาคตของประเทศมากไปกว่าดิจิทัลวอลเลต ผมไม่เห็นคำแถลงนโยบาย คำว่า Cloud First Policy หรือนโยบายการเลือกใช้คลาวด์ไว้ก่อนมาประกอบคำแถลงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ และการเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ”

“ผมไม่เห็นคำว่า Open Contracting Policy หรือการเปิดเผยการใช้งบประมาณ จัดซื้อ จัดจ้าง ภาครัฐ ตลอดทั้งกระบวนการในคำแถลงฯ ด้านความโปร่งใส และการปราบปรามการทุจริตเลย นอกจากคำสัญญาที่บอกว่าพวกเราจะบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต”

“ผมไม่เห็นคำว่า เศรษฐกิจข้อมูล ประกอบคำแถลงฯ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ หรือเศรษฐกิจแห่งอนาคต วันนี้ผมคิดว่ามีแต่คำสัญญา”

“สาเหตุที่คำแถลงนโยบายออกมาเป็นแบบนี้ เพราะพวกท่านคือรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้วที่ทำให้รัฐไม่เคยเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่ เพราะเป็นรัฐบาลที่มีการแบ่งเค้ก แบ่งกระทรวงตามผลประโยชน์ของพรรคการเมือง มากกว่าความเชี่ยวชาญของตัวรัฐมนตรีใช่หรือไม่”

“ดังนั้น ภายใต้รัฐบาลแบบนี้ ทุกท่านคิดว่านายเศรษฐา ทวีสิน จะมีอำนาจนำทางการเมืองที่ใช้ในการสั่งห้ามไม่ให้ทุกกระทรวงใช้งบประมาณจัดซื้อ จัดจ้างซอฟต์แวร์ หรือโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่ซ้ำซ้อน อำนาจนำในการสั่งให้ทุกกระทรวงต้องบูรณาการข้อมูล และแอปทุกแอปของภาครัฐเข้าเป็นแอปเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนหรือไม่”

“อำนาจในการสั่งแก้งบอุดหนุนเฉพาะกิจ ให้เปลี่ยนเป็นโครงการในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอาเทคโนโลยี IOT ไปแก้ปัญหาเมืองให้กับท้องถิ่น อำนาจนี้ก็ไปอยู่ในมือพรรคภูมิใจไทย อำนาจในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีผลิตเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ IOT ที่จะนำไปแก้ปัญหาเมืองและเศรษฐกิจยุคใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็อยู่ในมือพรรครวมไทยสร้างชาติ

ขณะที่นโยบายการเกษตรแม่นยำที่ต้องใช้การเข้าถึงและประมวลข้อมูลจากคลาวด์และอุปกรณ์ IOT ก็เป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่พรรคเพื่อไทยที่ดูแลกระทรวงดิจิทัลฯ มีแค่การกำกับจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นอำนาจของ กสทช. ดังนั้น การเดินทางของนโยบายดิจิทัลย่อมจะผิดทางเหมือนเช่นรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา”

นอกจากนี้ นายณัฐพงษ์ยังได้เสนอ 3 ชุดนโยบายที่รัฐบาลควรจะต้องทำได้ภายใน 4 ปี เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศ ครอบคลุมในแง่โครงข่ายคลื่นความถี่ การบริหารจัดการข้อมูล ความปลอดภัยไซเบอร์-คลาวด์ และการเปิดข้อมูลภาครัฐเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจข้อมูล

1.การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านคลื่นความถี่ที่สำคัญ

เป็นไปเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเมือง อย่างเช่น โครงข่าย LoRa Wan และ NB-IOT ที่เป็นโครงข่ายโทรคมนาคมที่ใช้ในการรองรับอุปกรณ์ IOT สมาร์ทเซ็นเซอร์ ซึ่งกินพลังงานต่ำกว่า และรองรับมากกว่าการที่ใช้คลื่นสัญญาณ 5G

ในปัจจุบันหลายประเทศนำเอาเทคโนโลยี IOT มาใช้ในการจัดการปัญหาเมืองได้สำเร็จแล้ว สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่ค่อยเห็นมากนัก แต่มีหนึ่งตัวอย่างที่ผมมีโอกาสไปปฏิบัติงานด้วยตนเอง ในตำบลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ภายใต้พื้นที่ 7 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรกว่า 4,000 คน มีจำนวนผู้ใช้น้ำ 1,400 มิเตอร์ วันนี้กระบวนการผลิตน้ำประปาสะอาดทั้งหมดในเทศบาลตำบลอาจสามารถ เป็นระบบอัตโนมัติที่ใช้เงินลงทุนราวสิบล้านบาท ซึ่งเราสามารถติดตั้งระบบเช่นเดียวกันนี้ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ปัญหาอื่น ๆ เช่น ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาเรื่องไฟส่องสว่าง ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาการบังคับใช้กฎจราจรก็ต้องใช้อุปกรณ์ IOT ประเทศอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้อีกขนาดไหน หากลองคำนวณออกมาก็หลายแสนล้านบาท

2.กลุ่มนโยบายการวางสถาปัตยกรรมด้านดิจิทัล

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยทำผิดมาแล้ว 9 ปี “ประยุทธ์” ก็ยังทำผิดอยู่ “เศรษฐา 1” ก็ทำท่าว่าจะผิดต่อไป นั่นคือแนวนโยบายด้านคลาวด์กลางภาครัฐ และความปลอดภัยไซเบอร์ ที่ผ่านมามีความพยายามทำบริการดิจิทัลเป็นแอปมากมาย ซึ่งใช้วิธีจ้างเหมาเอกชนไปทำทั้งหมด ทำแอปให้แล้วจ้างดูแลระบบความปลอดภัยต่อด้วย ปัญหาที่ตามมาคือข้อมูลภาครัฐรั่วไหล

หากจะไปใช้โครงข่าย “คลาวด์สาธารณะ” เช่น กูเกิล (Google), Amazon Web Service (AWS) หรือไมโครซอฟท์ (Microsoft) ก็ติดว่าเป็นข้อมูลภาครัฐไม่ควรไว้กับเอกชน แต่พอทำคลาวด์กลางก็ไม่มีทางทำได้

ในต่างประเทศ เมื่อมีการจำแนกข้อมูลภาครัฐออกมาแล้ว พบว่ามีข้อมูล 80-90% ที่สามารถนำขึ้นคลาวด์สาธารณะได้ ซึ่งจะได้รับบริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เหมือนกับเราตั้งออฟฟิศโดยการเช่าตึกก็จะมีระบบความปลอดภัย ทำให้ประหยัดงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อนของการลงทุน เมื่อเราเช่าคลาวด์เหมือนไปเช่าตึกเข้าอยู่แล้ว เอาแอปพลิเคชั่นทุกอย่างของรัฐมาอยู่ในตึกเดียวกัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมรักษาความปลอดภัยแบบหมดจด เสร็จเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ นี่คือสถาปัตยกรรมทางด้านดิจิทัล

3.การเปิดกว้างข้อมูลภาครัฐ เศรษฐกิจข้อมูล

ปัจจุบันหลายประเทศได้นำโค้ดโปรแกรมที่ภาครัฐสร้างขึ้นมาอยู่บน GitHub เพื่อเป็น open source ให้นักพัฒนาหรือประชาชนได้เห็น นอกจากจะมีความโปร่งใสตรวจสอบได้แล้ว ยังทำให้ภาคเอกชนสามารถเข้าไปต่อยอดเพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล

สิ่งสำคัญที่อยากให้เกิดคือ “ดิจิทัลไอดี” เป็นกุญแจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ประชาชนในอังกฤษใช้ดิจิทัลไอดีเพื่อเข้าถึงบริการรัฐบาลบนเว็บไซต์เดียวอย่าง gov.uk ได้ และทำให้เกิดการต่อยอดเป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลแบบใหม่

นอกจากนี้ ปัจจุบันเราต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามกระทรวง ทั้งด้านสาธารณสุข การเงิน แล้วเปิดกว้างข้อมูลขึ้นมาเพื่อให้มีการนำไปต่อยอดในต่างประเทศแค่การเปิดข้อมูลด้านการเงินขึ้นมาเป็น open source สามารถดันจีดีพีประเทศได้ 1-5%

“ผมก็ได้แต่หวังว่าคณะรัฐมนตรี ที่วันนี้นั่งอยู่ในห้องประชุมจะรับนำเอานโยบายที่ผมได้นำเสนอไปวันนี้ไปปรับใช้ รวมถึงให้คำมั่นสัญญาในที่ประชุมแห่งนี้ว่าท่านจะให้ความสำคัญกับคำสำคัญที่ผมได้นำเสนอไว้ไปดำเนินการในอีก 4 ปีข้างหน้านี้”