คุยกับ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.ก้าวไกล ทำไม “ดีอี” ต้องเป็นกระทรวงเกรด A

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

หลังพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเที่ยวล่าสุดอย่างถล่มทลาย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในแวดวงเทคโนโลยี รายชื่อแรก ๆ ที่หลายฝ่ายคาดหมายว่าน่าจะเป็นตัวเต็งรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

น่าจะเป็น “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 13 ของพรรคก้าวไกล ด้วยคุณวุฒิ และประสบการณ์การทำงานทั้งในแวดวงเทคโนโลยี ทั้งในบทบาทของรองเลขาธิการ ฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูล และดิจิทัล ของพรรค และ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการงบประมาณ ในปี 2562-2566 กับแนวคิด “เทคโนโลยี เปลี่ยนประเทศ”

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “สส.ณัฐพงษ์” หลากหลายแง่มุมไม่ว่าจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นรัฐมนตรีดีอีเอส

สนใจงานการเมืองตั้งแต่เมื่อไร

ผมคิดมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่าอยากสร้างประโยชน์ให้สังคม และก็เคยคิดว่าจะมาทำงานการเมือง ต้องเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อน กระทั่งเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ขาด สส.เขตพอดีจึงได้ลงเขตบางบอน ชนะมาได้ด้วยคะแนน 170 คะแนน พรรคอนาคตใหม่ทำให้เห็นว่าคนธรรมดา ยังไม่ต้องประสบความสำเร็จก็เข้าไปช่วยสร้างประโยชน์ให้สังคมได้ อาศัยความรู้ และประสบการณ์ที่มี

การทำงานในอนาคตใหม่จนถึงก้าวไกล ก็มีบทบาทในการดูแลเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ที่เห็นชัด คือการมาทำระบบบริจาคตอนเลือกตั้ง ที่เราระดมได้ 20 ล้านบาท รวมถึงการทำงานในฐานะกรรมาธิการงบประมาณ

ที่ผ่านมา รัฐมนตรีไอซีที หรือดีอีเอส มาจากสายเทคน้อย ให้นึกชื่อก็คงนึกไม่ออก แม้หลายคนในพรรคร่วมฯทั้ง 8 พรรค จะพูดเรื่องดิจิทัล เรื่องคริปโตเคอร์เรนซี แต่ก็ไม่ใช่สายที่ชำนาญด้านเทคนิคโดยตรง ก็อาจโชคดีที่เราเป็นคนหมู่น้อยในสภา 500 คน ที่ชำนาญด้านเทคโนโลยีโดยตรง

จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ ผมค่อนข้างเป็นเด็กเนิร์ด ๆ ชอบเล่นเกม อย่าง Counter Stikes หรือ Dota พอชอบเล่นเกม ก็เริ่มสนใจว่าเกมทำงานอย่างไร จึงเลือกเรียนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พอจบมาก็มาเปิดบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์บนคลาวด์ ทำโปรแกรมอีอาร์พีให้องค์กรต่าง ๆ เป็นรายแรก ๆ ของไทย

ทำไมดีอี ควรเป็นกระทรวงเกรดเอ

มุมของเรา กระทรวงเกรดเอ หรือบี ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยงบประมาณ แต่ใช้นโยบาย และอำนาจที่มีขยับไปได้ทุกทิศทุกทาง ตอนนี้ดิจิทัลฝังอยู่ในทุกอณูของชีวิต ถ้าพูดถึงสาธารณสุข ก็คือ digital health พูดถึงภาคการเงินก็จะเป็น open banking ให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้มีสินทรัพย์ เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น เพราะแบงก์เข้าถึงข้อมูลที่หน้าเชื่อถือ จากยอดขาย หรือบิลสาธารณูปโภค

ประวัติจับจ่ายใช้สอยที่น่าเชื่อถือ หรือด้านการทำงาน และการศึกษา ถ้าเก็บประวัติการทำงานไว้ในดิจิทัล เวลามีคนมาสมัครงาน นายจ้างกดดูข้อมูลจากดิจิทัลไอดีได้เลย ไม่ต้องเชื่อตามที่เขียนใน CV แล้วโทร.เช็กประวัติทีละคน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจได้ 3 เสาสำคัญของชีวิต สาธารณสุข การเงิน และการศึกษา เกี่ยวหมด ยังมีอีกหลายด้านที่ดิจิทัลเข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และชีวิตคน

แนวคิด “เทคโนโลยี เปลี่ยนประเทศ”

เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเทรนด์โลกที่ต้องไป แต่ที่ผ่านมาในกลไกรัฐ ไม่ได้ utilized ให้มากกว่านี้ เทรนด์ของโลกเศรษฐกิจดิจิทัลสร้าง GDP เฉลี่ย 15% ในแต่ละประเทศ แต่ตัวเลขบ้านเรายัง 6-7% จึงมีช่องว่างพอสมควรที่น่าจะขยายเพิ่มได้

ทางยุโรปหรือประเทศตะวันตกเริ่มไปแล้ว แต่เรายังไม่เริ่ม คือ “เศรษฐกิจข้อมูล” หรือดาต้าอีโคโนมี พรรคก้าวไกลชูเรื่องนี้ การทำให้ข้อมูลที่เก็บอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ เคลื่อนย้ายถ่ายโอนกันได้สะดวก ถึงเวลาให้เรียกใช้งานด้วยกันได้ ถ้าดูในอังกฤษ เฉพาะการเปิดข้อมูลเซ็กเตอร์การเงิน จะมีโอเพ่นแบงกิ้ง ทำให้ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่ให้บริการลูกค้าได้ ลูกค้าเอง

ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิข้อมูลที่อยู่ในนั้นก็สามารถนำไปทำให้เกิดบริการอื่น ๆ อีกมาก เช่น P2Pเลนดิ้ง มีการศึกษาว่าแค่การเปิดข้อมูลออกมาให้ใช้เซ็กเตอร์เดียว สร้าง GDP ได้ประมาณ 1-2% หรือของอินเดีย สร้างได้ถึง 5-6% แค่เซ็กเตอร์เดียว

ของบ้านเราจะมีเซ็กเตอร์สุขภาพ ที่เริ่มเปิดแล้ว คือ health link ผมได้มีโอกาสคุยกับคุณหมอที่ทำเรื่องนี้ บอกว่า หมอที่ดีต่อคนไข้ คือหมอที่รักษาคนไข้ครั้งเดียวหาย หรือทำให้คนไข้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด ดังนั้นการรู้ว่าต้นทุนในการรักษา มีความสำคัญ ถ้าเป็นระบบเดิม ไม่มีการบูรณาการข้อมูล ไม่มีบัตรประชาชนดิจิทัล ไม่มีการเชื่อมประวัติการรักษา ก็จะไม่รู้ว่าเคยจ่ายยาอะไรไปบ้าง ฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ ไปหาหมอที่ไหนบ้าง แต่ละที่ราคาเท่าไหร่ ก็จะไม่มีการคุม unit cost มาตรฐานของระบบสาธารณสุขได้เลย

นี่คือ เศรษฐกิจข้อมูล

เรื่องซอฟต์อินฟราสตรักเจอร์ก็สำคัญ ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องฮาร์ดอินฟราสตรักเจอร์ เรามีอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ มีโครงข่าย 4G 5G แต่ซอฟต์อินฟราฯ ไม่แข็ง อย่างดิจิทัลไอดี ก็ช้าทั้งที่เป็นกุญแจดอกแรกในการต่อยอดทางเศรษฐกิจ

มุมมองเรื่องความเสี่ยงภัยไซเบอร์

ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ คือปัญหาวัวพันหลัก เรื่องความปลอดภัยในข้อมูล มีหลายวิธีการ ไม่ได้มีคำตอบเดียวที่แก้ปัญหา ด้วยขนาดของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่มาก ต้องมองทั้งซัพพลายเชนของดิจิทัลเซอร์วิส ตั้งแต่ใครเป็นเจ้าของดาต้าเซ็นเตอร์ ใครเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ใครเป็นคนเขียนซอฟต์แวร์ มีช่องโหว่ตรงไหน ใครเป็นคนควบคุมข้อมูลที่ภาครัฐที่มีปัญหามาก เพราะทั้งซัพพลายเชนให้เวนเดอร์ดูแลหมด ตั้งแต่เป็นเจ้าของเซิร์ฟเวอร์ ทำซอฟต์แวร์ เแล้วก็เป็นผู้ควบคุมข้อมูลแทนรัฐด้วย

ถ้าไปดูโมเดลต่างประเทศ ทุกวันนี้ ต้องมองให้ออก อย่างนโยบาย Cloud First Policy ภาครัฐใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ หรือคลาวด์สาธารณะได้ แต่ต้องควบคุมข้อมูลเอง ผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะ มีมาตรฐานในการดูแลความปลอดภัยข้อมูลให้ลูกค้าอื่น ๆ ไม่ใช่แค่รัฐ หากไม่สามารถรักษาความปลอดภัยของดาต้าเซ็นเตอร์ได้ก็ทำธุรกิจไม่ได้

ไมนด์เซตเดิมที่ว่าข้อมูลบนแอปภาครัฐไปอยู่บนคลาวด์สาธารณะไม่ได้ เพราะเป็นข้อมูลเปราะบางนั้นไม่จริง ในอังกฤษเมื่อทำการจำแนกข้อมูลแล้ว พบว่า 95% นำขึ้นคลาวด์สาธารณะได้ปลอดภัยกว่าเก็บเองด้วยซ้ำ ส่วนข้อมูลความมั่นคงอีก 5% เป็นสิ่งที่รัฐต้องเก็บรักษาเอง อะไรที่เป็นข้อมูลสำคัญก็อาจเลือกให้ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยได้

มีคลาวด์กลางภาครัฐอยู่แล้ว

ผมว่ามันผิดฝาผิดตัว ต่างประเทศ เขารวมศูนย์งบประมาณ และกระจายศูนย์ข้อมูล บ้านเราต่างคนต่างขอทำ กระจายงบประมาณ แต่รวมศูนย์ข้อมูล ปัญหาคือ NT ที่ทำคลาวด์กลางให้ภาครัฐ เท่าที่คุยมาเขายอมรับว่าก็ยังไม่มีศักยภาพเท่ากับต่างประเทศ ต่างประเทศใช้ hyper scaler เราทำได้แค่ VM base แต่ที่ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ แล้วเอา VM มาโฮสต์ ก็เรียกว่าคลาวด์แล้ว แต่จริง ๆ ไม่ใช่

วิธีที่ควรทำ คือภาครัฐควรรวมศูนย์งบประมาณ เหมาซื้อไปเลย ทั้ง AWS, Google และ Microsoft บริษัทเหล่านี้ประกาศว่าอยากมาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย พร้อมลงทุน แต่ไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน ถ้าภาครัฐประกาศจะทำคลาวด์กลางโดยใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ เขามาแน่ เราขอซื้อเหมาเขาได้ ทุกกระทรวงอย่าไปทำเอง เพราะส่วนกลางซื้อไว้ให้แล้ว ให้ไปใช้จากหลาย ๆ provider เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

เรื่องนี้ควรจะใช้ช่องทางผ่านคณะกรรมการดิจิทัล ที่นายกฯเป็นประธาน เพราะสั่งได้ทุกกระทรวง แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นหัวโต๊ะ กรณีที่ NT ลงทุนทำไปแล้ว หากเราซื้อเหมาคลาวด์ โพรไวเดอร์จากต่างประเทศมา ทางออกของ NT ที่คุยมา คือต้องพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากตัวดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ เช่น สมาร์ท CCTV ที่ผู้ว่าฯชัชชาติกำลังก็ได้ ใช้ตรวจจับว่าใครฝ่าฝืนกฎจราจร ข้อมูลพวกนี้ไม่ได้ต้องการคลาวด์จ๋า

เทคโนโลยีบริษัทต่างชาติหมดเลย

ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเรายังล้าหลังต่างประเทศ เราต้องมาหาทางอุดช่องว่างว่าสิ่งที่เรามี เราจะใช้ประโยชน์อย่างไร อย่างเช่นดาต้าเซ็นเตอร์ของ NT เอามาใช้เรื่อง CCTV ได้ ตอบโจทย์ได้ สเกลใหญ่พอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7-8 พันแห่ง นำไปใช้ได้ ข้อมูลที่ได้จากกล้อง CCTV ก็ไม่ได้น้อย

และต้องหายูสเคสให้โอเปอเรเตอร์ไทยมีรายได้แล้วยกระดับตนเองขึ้นไป ขณะเดียวกันเราไม่สามารถเอาขีดจำกัดทางเทคโนโลยีที่เราไม่ถนัดมาเป็นตัวสกัดไม่ให้ประเทศไทยก้าวกระโดดไปข้างหน้าได้ ดังนั้นจำเป็นต้องดึงเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามาเพื่อปิดช่องว่าง

ที่มาของนโยบาย Cloud First Policy

Cloud First Policy แทบไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่ม พอประกาศไป เอกชนก็ต้องมองความคุ้มค่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อจะมาให้บริการในไทย กฎของฟิสิกส์ คือถ้าตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยจะโอเปอร์เรตได้ดีกว่า เร็วกว่า โดยเฉพาะหากจะพัฒาเอไอหรืออะไรต่าง ๆ ดังนั้นก็มองได้ว่าเป็นการดึงดูเม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านเข้ามาในประเทศ แต่เราอาจตั้งเงื่อนไขเพิ่มว่าเมื่อมาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยแล้ว และภาครัฐจะขอซื้อขอใช้เป็นพิเศษ หรืออาจมีเงื่อนไขว่าต้องจ้างคนในประเทศเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดผลในเชิงความรู้อีกมาก เพราะดาต้าเซ็นเตอร์ใช้คนน้อย จึงควรต้องตั้งเงื่อนไขเหล่านี้ขึ้นมา

อีกเรื่องคือค่าไฟ ดาต้าเซ็นเตอร์ใช้ไฟเยอะ อาจมีการทำสัญญาให้โอเปอเรเตอร์จ้างใครก็ได้ อาจตั้งบริษัทลูกมาผลิตไฟฟ้าก็น่าสนใจ คือตั้งเงื่อนไขได้ว่าถ้ามาตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย สามารถให้ใครก็ตามมาทำโซลาร์ฟาร์มเพื่อลดค่าไฟฟ้าได้ เป็นต้น

รัฐบาลเดิมก็ผลักดันเรื่องดิจิทัล

ที่ผ่านมา พูดเรื่อง เศรษฐกิจ 4.0 และลงทุนด้านนี้พอสมควร แต่พบว่าการลงทุนเหล่านั้นไม่มีทิศทางชัดเจน เช่น เรื่องดิจิทัลไอดี เคลียร์กันไม่จบว่าตกลงใครจะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ ถ้าเราเป็นรัฐบาลสิ่งแรกที่ให้ได้ คือ ทิศทางที่ชัดเจน ที่ผ่านมากระจัดกระจาย ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายกฯเป็นประธาน แต่ชอบส่งรองนายกฯไปประชุม ปีหนึ่งประชุมกี่ครั้ง ทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกัน คืออำนาจตาม บอร์ดเยอะมาก ข้ามได้ทุกกระทรวง แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

ทิศทางด้านดิจิทัล

เรื่องคลาวด์ เรื่องดิจิทัลไอดี เป็นแบบรากฐานสำคัญสุด ที่จะทำให้เกิดการต่อยอดในอนาคต คลาวด์ เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยไซเบอร์ คือถ้าบริการของภาครัฐต้องเป็นดิจิทัล ต้องออนไลน์ แล้วคุณยังไม่รวบบริการทั้งหมดมาอยู่บนคลาวด์ ก็ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยได้ ก็ไปต่อไม่ได้ ประชาชนไม่ไว้วางใจที่จะเอาข้อมูลมาอยู่ เป็นการล้อมรั้วให้รอบคอบ ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ และอินเดีย

ภาครัฐเปิด API ให้เอกชนไปต่อยอดได้ เช่น เรื่องการขออนุญาตการต่อใบขับขี่ การย้ายทะเบียนบ้าน เริ่มทำได้บน ThaiD แต่ยังมีบริการภาครัฐอีกประมาณ 4,000 กว่าบริการที่ออฟไลน์อยู่ แค่ราว 1-2 พันที่ ขึ้นออนไลน์แล้ว แต่มีแอปภาครัฐรวมกัน 300-400 แอป

ปัญหาที่เจอกับแอปพลิเคชั่นที่รวมบริการภาครัฐไว้มากอย่าง “ทางรัฐ” กฎหมาย พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลให้อำนาจแล้ว ใช้ข้อมูลแล้ว แต่หน่วยงานต้นสังกัดที่ถือข้อมูลไม่ยอมนำข้อมูลมาเชื่อม อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ตนเอง เลยเข้าไปคุยกับ ผอ.สำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล คิดว่าโซลูชั่นที่เหมาะ คือ ต้องใช้อำนาจกฎหมายบังคับ ทางที่เราจะทำได้คือต้องเป็นนายกฯ หรือแม้แต่กระทรวงการคลัง พูดง่าย ๆ คือ ถ้าตั้งโครงการมาของบฯทำแอป เราจะไม่ให้ หน้าที่คุณ คือไปเชื่อมข้อมูลเข้ากับแอปทางรัฐให้หมด แต่ทุกวันนี้ไม่มีคนไปคุม แต่ละหน่วยงานก็จะตั้งงบฯทำแอปของตัวเองไม่มีวันจบ

อันนี้เป็น เฟิรสต์ไพรออริตี้ หลายอย่างที่พูดไม่ว่าจะเป็นการคุมงบประมาณ หรือเชื่อมแอปเข้ามา ไม่ต้องใช้งบฯเพิ่มเลย แค่เปลี่ยนนโยบาย มีอำนาจแล้ว สั่ง ก็เข้ามาเชื่อมกันแล้ว

ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำอะไร

open government สำคัญ ทำได้ทันที แม้จะมีการพูดกันมามาก แต่ที่ทำยังไม่ค่อยเปิดอะไร จากมุมมองของนักพัฒนาระบบ ผมฝันว่ารัฐบาลจะมี portal กลาง สำหรับเชื่อมนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากภาคเอกชนให้เชื่อมกับภาครัฐทีเดียว และให้บริการได้ทั้งหมด

เศรษฐกิจข้อมูลตัวอย่างเรื่องสมาร์ทซิตี้ดาต้า ทุกวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีป้ายแค่ 15% ผมเคยคุยกับเวนเดอร์เจ้าหนึ่งที่มีรถคล้ายกับ Google Street ขับไปตามถนนแล้วสแกนป้ายว่ามีเท่าไหร่แล้ววิเคราะห์ว่าเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือยัง นี่ตัวอย่าง ยังมีอีกมากที่เวนเดอร์ไทยพร้อมทำให้ท้องถิ่น

ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งในด้านสเกลมันใหญ่พอให้โอเปอเรเตอร์ไทยโตได้ ขาดแค่ทิศทางที่ชัดเจน วันนี้เรามีงบฯอุดหนุนเฉพาะกิจในท้องถิ่นหลายหมื่นล้านจึงอยากทำดิจิทัลแค็ตตาล็อกให้ท้องถิ่นจิ้มเลือกว่าอยากได้บริการดิจิทัลแบบไหน เพื่อจัดซื้อจัดจ้างไปบริการให้ประชาชน เช่น กล้อง CCTV แบบผู้ว่าฯชัชชาติ กล้องเซ็นเซอร์ PM 2.5 หรือเอไอตรวจสอบภาษีป้าย นี่คือการทรานส์ฟอร์มท้องถิ่นไทย และรัฐส่วนกลางก็จะได้ข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อ

เป็นการเปลี่ยนวิธีทำงานของคน อาจใช้เวลาถึง 10 ปี สำหรับแนวคิดเทคโนโลยีเปลี่ยนประเทศไทย แต่สิ่งแรกที่จะทำในเชิงกฎหมาย คือ ยกเลิกศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม รวมถึงการแก้ พ.ร.บ.คอมพ์ เจตนาของกฎหมายมีเพื่อป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ แต่มีการนำมาใช้ควบคุมคอนเทนต์ ซึ่งรัฐไม่ควรเข้ามาจัดการตรงนี้

ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาล

โดยส่วนตัว ถ้าเป็นฝ่ายค้าน หรือหากต้องทำงานในสภาก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำ ถ้าต้องเป็นฝ่ายค้านจริง ๆ ก็อยากขับเคลื่อน smart parliament ให้เต็มที่ ให้ฝ่ายนิติบัญญัติเจ๋ง ๆ ไปเลย ทุกวันนี้การพิจารณางบประมาณในสภา สส. มีเวลา 2-3 สัปดาห์ พิจารณางบฯ 3 ล้านล้านกับกระดาษหลายหมื่นหน้า ผมจะพยายามขับเคลื่อน การติดตาม การจัดทำงบประมาณ เพราะจากที่ทำงานมา 4 ปี คิดว่าประธานกรรมาธิการ ยังใช้อำนาจได้ไม่ดีพอ ในส่วนการจัดงบประมาณ มีอำนาจในการเรียกข้อมูลจากรัฐบาลอยู่แล้ว คำของบฯ 5 ล้านล้าน ต้องลดให้เหลือ 3 ล้านล้าน ทุกวันนี้ ไม่มีใครในประเทศนี้รู้เลยว่าเลือกงบฯอย่างไร 2 ล้านล้านหายไปไหน ทำไมงบฯสร้างถนนจากงบฯ 3 ล้านล้าน กระจุกตัวอยู่บางจังหวัด

ทำให้ประชาชนเห็นตั้งแต่ 5 ล้านเป็น 3 ล้านล้าน อย่างโปร่งใส ในฐานะประชาชน เราก็ไม่ได้อยากให้กรรมาธิการไปเลี้ยงคะแนนในพื้นที่ ถ้าเปิดเผยงบฯกรรมาธิการทั้งหมดได้ก็น่าสนใจ มีอะไรให้ทำอีกเยอะในฐานะ สส. แต่ถ้าเป็นรัฐบาลดีกว่าแน่นอน