ระหว่างบรรทัดกฎเกณฑ์รับสมัคร และกำกับดูแล Virtual Bank (2)

AI
คอลัมน์ : ชวนคิดชวนคุย
ผู้เขียน : ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย 
เจ้าของเพจ Narun on Fintech Law

สมรภูมิการแข่งขันใหม่

หลังจากบทความ (ตอน 1) เห็นบริบทและความสำคัญของการเปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank แล้ว ผมก็เสนอให้ช่วยกันพิจารณาว่า การเปิดให้มี Virtual Bank จะส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวความคิดพื้นฐานของ ธปท. ในเรื่องนี้

การแข่งขันในระบบตลาดเกิดได้บนพื้นฐานของเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการเข้าสู่ตลาด เสรีภาพการนำเสนอสินค้าหรือบริการ เสรีภาพของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ จำนวนของผู้แข่งขัน และเสรีภาพจากการแทรกแซงโดยรัฐจนทำให้เกิดการบิดเบือนของตลาด

หากภาครัฐมีนโยบายเปิดโอกาสให้ผู้ที่สมัครเพื่อขออนุญาตได้โดยไม่มีการจำกัดจำนวน ในกรณีที่ผู้สมัครแสดงให้เห็นประจักษ์ชัดว่าตนมีมาตรฐาน ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตามหลักเกณฑ์และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ และเป้าหมายที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น หากมีผู้เสนอตัว 30 ราย เข้าเป้า 10 ราย สามารถออกใบอนุญาตได้ทั้ง 10 ราย นโยบายเปิดการแข่งขันในลักษณะนี้อาจเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารเพิ่มมากขึ้น

คือเป็นนโยบายสนับสนุนให้เกิดเสรีภาพในการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ (Freedom of Entry) ซึ่งผู้เล่นรายใหม่เหล่านี้ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาบริการ และลดต้นทุนดำเนินการ และเป็นแรงกระตุ้นให้ธนาคารกลุ่มเดิมปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในกระบวนทัศน์ของระบบธนาคารใหม่ ส่งผลให้ผู้รับบริการทั้งประชาชนและเอกชนได้รับประโยชน์จากต้นทุนการทำธุรกรรมการเงินที่ลดลง (เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมลดลง หรือไม่มีเลย)

อย่างไรก็ดี ประกาศกระทรวงการคลังที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใบอนุญาต Virtual Bank โดยเฉพาะข้อ 8 กำหนดไว้ว่า ธปท.อาจพิจารณาจำกัดจำนวนธนาคารพาณิชย์ประเภท Virtual Bank ให้เหมาะสมกับระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน โดยจะดูผลกระทบของการเพิ่มการแข่งขันต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และข้อมูลเพิ่มเติมจากคู่มือประชาชนพบว่า ในช่วงเริ่มต้น ธปท.มีนโยบายจะ “จำกัดโควตา” ใบอนุญาตเพียงแค่ 3 ใบเท่านั้น

Advertisment

กล่าวคือ เราจะมีโอกาสได้เห็น Virtual Bank ออกมาให้บริการอย่างมากที่สุด 3 ราย และอาจมีกรณีที่ให้อนุญาตเพียง 1 หรือ 2 รายก็ได้ หากเห็นว่าไม่มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดีเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีจำนวนอย่างมากที่สุด 16 แห่ง (ธพ. เดิม 13 แห่ง และ Virtual Bank อีก 3 แห่งเป็นอย่างมาก)

เนื่องจากนโยบายการจำกัดจำนวนใบอนุญาตนี้ ดังนั้นเราอาจจะไม่ได้เห็นการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เข้มข้นดังเช่นในสหรัฐอเมริกา ที่มีธนาคารพาณิชย์กว่า 4,700 ราย หรือสหราชอาณาจักรที่มีธนาคารกว่า 350 ราย

บริการทางการเงินรูปแบบใหม่

ทั้งนี้ หากการเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา “แข่งขัน” อย่างเสรี ไม่ใช่จุดประสงค์ของการจัดให้มี Virtual Bank แล้วอะไรที่ผู้กำหนดนโยบายเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่าง “เหมาะสม” สำหรับบริบทของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของไทย

หากพิจารณากรอบการพัฒนาระบบธนาคารของไทยข้างต้น จะเห็นว่า Key Words เรื่องนี้ไม่ใช่การส่งเสริมการแข่งขันที่หมายถึงการเพิ่มจำนวนของผู้เล่นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างสภาวการณ์แข่งขันที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อให้เกิด “ความเหมาะสม” ซึ่งหากพิจารณาหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาตและร่างแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแล Virtual Bank อาจจัดกลุ่มปัจจัยที่มีผลต่อความเหมาะสมของการแข่งขันในมุมมองของ ธปท. ได้ดังนี้

Advertisment

“ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการ” ปัจจัยนี้สะท้อนอยู่ในแนวพิจารณาอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank หมวด 4 ข้อ 7(1)(ค) คือ ผู้สมัครต้องเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่และบริการควรมีคุณภาพและราคาที่ดีขึ้นกว่าบริการทางการเงินในระบบสถาบันการเงินในขณะนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการแข่งขันอย่างเหมาะสม

“ความสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่” กลุ่มลูกค้าที่ได้รับความสำคัญและกำหนดไว้เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาต ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้บริการรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องการเงินทุน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved)

“ประสิทธิภาพการประกอบกิจการ” ปัจจัยสนับสนุนการแข่งขันข้อนี้แฝงอยู่ในประกาศหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น การนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่นอกจากจะต้องมีความหลากหลายแล้ว อาจจะสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิม แต่ทำได้โดยมีประสิทธิภาพให้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้บริการทางดิจิทัลและการบริหารจัดการของธนาคาร และการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงเปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data)

Virtual Bank เกณฑ์เข้มกว่าแบงก์

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลักการส่งเสริมการแข่งขันในระดับที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศเป็นแนวทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ความสามารถในการแข่งขันยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นที่อาจทำให้ทิศทางการพัฒนาไม่ได้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในนโยบายของรัฐ

ตัวอย่าง เช่น ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีของผู้เล่นรายใหม่ อาจไม่ได้ทำให้ผู้เล่นมีแต้มต่อเหนือธนาคารพาณิชย์เดิมมากนัก เพราะผู้เล่นรายเดิมมีความได้เปรียบด้านความสัมพันธ์กับลูกค้า มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจตลาดการเงินและความต้องการของลูกค้าทุกประเภท ทั้งผู้ฝากเงิน ผู้ขอสินเชื่อ และอื่น ๆ

นอกจากนั้นยังมีความได้เปรียบด้านประสบการณ์ในการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ หรือแนวทางการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาหลักการกำกับดูแล Virtual Bank ที่ ธปท. เสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็นดังนี้

“Virtual Bank มีขอบเขตการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่มีรูปแบบดำเนินธุรกิจที่แตกต่างออกไป โดยให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ดังนั้น นอกจาก Virtual Bank ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินแล้ว Virtual Bank ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ Virtual Bank”

แนวทางในการกำกับดูแลข้างต้นมีความเสี่ยงทำให้เกิดกรณีที่ Virtual Bank มี “ต้นทุน” การประกอบธุรกิจเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ที่ยังประกอบธุรกิจในรูปแบบเดิมอยู่ หรือพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการเฉพาะบางส่วน

ตัวอย่างเช่น Virtual Bank ต้องรักษาระบบ IT ให้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยต้องหยุดชะงักไม่เกิน 8 ชั่วโมงใน 1 รอบปีปฏิทิน และแต่ละครั้งต้องใช้ระยะเวลากู้คืนให้กลับมาให้บริการภายใน 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังไม่สามารถใช้ระบบบริการทางการเงิน เช่น ระบบรับฝากและระบบปล่อยสินเชื่อ ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศได้ (ข้อ 2.7 ของร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลฯ)

อย่างไรก็ดี เพื่อให้สามารถเริ่มต้นประกอบธุรกิจโดยไม่มีภาระหรือต้นทุนประกอบธุรกิจสูงเกินไป ร่างหลักเกณฑ์ของ ธปท. มีกลไกผ่อนผันการปฏิบัติตามข้อกำหนดบางอย่างที่อาจจะไม่จำเป็นในช่วงแรก เช่น การทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) การจัดทำแผนล่วงหน้ารองรับการเสริมสร้างความมั่นคงและแก้ไขปัญหา (Recovery Plan) เป็นต้น

ซึ่งในระยะยาว หาก Virtual Bank สามารถเสนอแนวทางดำเนินการตามกฎเกณฑ์เหล่านี้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุนในการทดสอบหรือจัดทำแผนดังกล่าว โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูล รวมทั้ง Machine Learning น่าจะช่วยให้สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีนัยสำคัญ