อ่านระหว่างบรรทัดกฎเกณฑ์รับสมัคร และกำกับดูแล Virtual Bank (1)

อ่านระหว่างบรรทัดกฎเกณฑ์รับสมัคร และกำกับดูแล Virtual Bank (1)
คอลัมน์ : ชวนคิดชวนคุย
ผู้เขียน : ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย 
เจ้าของเพจ Narun on Fintech Law

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมรับฟังคำชี้แจงแนวทางการรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) และรับฟังความคิดเห็นกฎเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังและสอบถามให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องจุดประสงค์และความมุ่งหมายของการเปิดภูมิทัศน์ระบบการธนาคารไทย วิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการสมัคร

รวมถึงเป็นเวทีให้แสดงความเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมายและเว็บไซต์ของ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ก่อนอื่นเลย ผมขอชื่นชม ธปท. ที่มีการสื่อสารเรื่องการเปิดให้มีธุรกิจการเงินประเภทใหม่นี้ให้บุคคลทั่วไปทราบและให้ความเห็นมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงที่นโยบายธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ยังกำลังตั้งไข่ จนกระทั่งตอนนี้ที่ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตออกมาแล้ว และทำในทุกช่องทาง เป็นตัวอย่างที่ดีของหน่วยงานรัฐในการสร้างระบบกฎหมายและกฎระเบียบที่ยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเพื่อให้สมความตั้งใจของหน่วยงาน ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมกันช่วยคิด ช่วยออกแบบระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ ผมขอชวนผู้อ่านทุกท่านคิดไปพร้อมกันว่า ทิศทางการพัฒนาเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสิ่งที่ ธปท. อยากเห็น (Green Line) ตามเอกสารเผยแพร่ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 และร่างประกาศ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ผมมีโอกาสได้รับฟังคำชี้แจง ดังนี้ครับ

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ

ผมขอฉายภาพบริบทและความสำคัญของธนาคารพาณิชย์ในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยกันก่อน เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันว่าทำไมการประกาศรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้ถึงเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เฉพาะสำหรับผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจดังกล่าวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรสนใจด้วยเช่นกันครับ

สถาบันการเงินประเภทธนาคารพาณิชย์เป็นผู้เล่นสำคัญในการบริหารจัดการและจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ เป็นตัวกลางหลักในการรวบรวมเงินออมในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการปล่อยสินเชื่อเพื่อเป็นทุนสำหรับการประกอบธุรกิจ (Credit Transformation)

ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2565 ของ ธปท.แสดงให้เห็นว่า ภาคเอกชนไทยยังพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากแบงก์อยู่อย่างมีนัยสำคัญ สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินเกินกว่า 500 ล้านบาท ที่แบงก์พาณิชย์เป็นผู้ปล่อยเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉลี่ยเกือบ 10% ต่อปีระหว่างปี 2562-2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 การปล่อยสินเชื่อวงเงินขนาดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นกว่าในช่วงก่อนวิกฤต

อย่างไรก็ดี แนวโน้มของการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อขนาดกลางและขนาดเล็ก (วงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท) ลดลงตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 และยังมีทิศทางที่จะปรับลดต่อเนื่องหลังวิกฤต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายของการกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงภาคครัวเรือนที่ต้องการทุนในการดำรงชีวิต เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

“Super License” ประตูสร้างโอกาส

นอกจากในมุมของความสำคัญในเชิงระบบด้านการเป็นแหล่งเงินทุนในระบบเศรษฐกิจของไทย ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถาบันการเงินประเภทธนาคารพาณิชย์เป็นใบอนุญาตที่พิเศษกว่าการได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจทางการเงินประเภทอื่น หรือที่เรียกในวงการกฎหมายว่า “Super License”

ประการแรก ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้บริการทางการเงินหลายประเภทโดยที่ไม่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจเหล่านั้นแยกรายบริการ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการรับฝากเงินและตั๋วเงิน บริการปล่อยสินเชื่อทั้งแก่ผู้ประกอบธุรกิจและภาคครัวเรือน (ซึ่งสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อได้สูงกว่าเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ กล่าวคือมากกว่า 15% ต่อปี) ธุรกิจซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนั้น ความสำคัญของสถาบันการเงินประเภท “ธนาคาร” ยังสะท้อนได้จากนโยบายของ ธปท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลหลักในการยังเปิดโอกาสและสนับสนุนให้แบงก์พาณิชย์พัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีทางการเงิน เช่น การเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และการใช้เทคโนโลยีทางการเงินมาใช้เพื่อสนับสนุนการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีการยืนยันและพิสูจน์ตัวตน หรือเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชน เป็นต้น

ประการที่สอง แบงก์พาณิชย์ยังได้รับมอบหมายจากกฎหมายทางการเงินและตลาดทุนอื่น ๆ ให้สามารถประกอบธุรกิจหรือให้บริการที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวเนื่อง หรือที่จำเป็นต่อธุรกิจหลัก (Core Business) เช่น ธุรกิจการเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน ธุรกิจการลงทุนในตราสารประเภท Collateralized Debt Obligation (CDO) การประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ (Escrow Service) ตามกฎหมายว่าด้วยการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา

และการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) ตามกฎหมายหลักทรัพย์และกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นประตูสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในโลกการเงินและตลาดทุนบ้านเราอย่างกว้างขวาง

Virtual Bank ภูมิทัศน์การเงินใหม่

ความสำคัญของการเปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank ประการสุดท้ายที่ผมขอนำเสนอ เกิดจากแนวทางการบริหารภูมิทัศน์ระบบการธนาคารไทย ซึ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศประสบปัญหาวิกฤตการเงิน เช่น ในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 อีกครั้ง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ที่ผ่านมารัฐบาลจึงไม่มีแผนการให้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใหม่มาเป็นเวลานาน ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจนี้จึงต้องใช้วิธีการเข้าถึงใบอนุญาตเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การควบกิจการหรือซื้อกิจการของธนาคารพาณิชย์ (กรณีล่าสุดคือ การตั้งธนาคารไอซีบีซี ในประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการเข้าซื้อกิจการธนาคารสินเอเชีย เมื่อปี 2553)

หรืออาจใช้วิธีการขออนุญาตปรับสถานะหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะการประกอบธุรกิจ จากธุรกิจการเงินประเภทอื่นมาเป็นธนาคารพาณิชย์ (กรณีล่าสุด ได้แก่ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นการปรับสถานะจากการเป็นแบงก์พาณิชย์เพื่อรายย่อยมาเป็นแบงก์เต็มรูปแบบ เมื่อปี 2554) ด้วยนโยบายการจำกัดจำนวนธนาคารพาณิชย์ในระบบการเงิน ทำให้ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจอยู่เพียง 13 รายเท่านั้น (นอกจากนั้นยังมีธนาคารของรัฐ ธนาคารสาขาของธนาคารต่างประเทศ และสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินอีกจำนวนหนึ่ง)

ทำให้การเปิดรับสมัครผู้ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank ซึ่งถือเป็นธนาคารพาณิชย์แต่มีการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เป็นโอกาสที่หายากอย่างยิ่ง และน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ระบบการธนาคารและระบบเศรษฐกิจของบ้านเรา