ตบเท้าลุย Virtual Bank ดึง “บิ๊กเทค-ยักษ์ธุรกิจ” เสริมแกร่ง

Virtual Bank

สมรภูมิการประกอบธุรกิจ “ธนาคารไร้สาขา” หรือ “Virtual Bank” ของไทยเริ่มขึ้นแล้ว และมีความเข้มข้นขึ้นมากทุกขณะ เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายประกาศเดินหน้า เตรียมความพร้อมยื่นชิงไลเซนส์ในลอตแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จะเปิดให้เพียง 3 รายก่อน

ทำให้ผู้ที่สนใจแต่ละราย มีการประกาศเปิดตัว “พันธมิตรธุรกิจ” ที่ดึงเข้ามาเสริมทัพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นยักษ์ธุรกิจทั้งสิ้น

SCBX ดึง WeBank เสริมแกร่ง

หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัท เอสซีบีเอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ได้ประกาศความร่วมมือกับ KakaoBank ซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ในการจัดตั้ง Consortium ไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank

ล่าสุด SCBX ก็ได้ประกาศจับมือ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน เข้ามาเป็นพันธมิตรเพิ่มเติมอีกราย โดยเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยี ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพ Consortium นำประสบการณ์ระดับโลกและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสู่ประเทศไทย เพื่อเข้ามาช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ หรือยังไม่ได้รับบริการทางการเงินที่ดีเพียงพอ

“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX กล่าวว่า เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ และมีความคล่องตัว จะเป็นรากฐานที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้ Virtual Bank ประสบความสำเร็จ ซึ่ง WeBank เป็นธนาคารดิจิทัลชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง

“การร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างเรากับ WeBank ในครั้งนี้ จะช่วยขยายขอบเขตและศักยภาพทางเทคโนโลยีของ Virtual Bank พร้อมยกระดับประสบการณ์การใช้บริการธนาคารที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า มุ่งหวังที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทย ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและโซลูชั่นต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายในการได้รับใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทย”

“อาทิตย์” ชี้ไม่กังวลการแข่งขัน

ซีอีโอ SCBX กล่าวว่า การที่มีไลเซนส์จำนวนเยอะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะสามารถช่วยเข้าไปให้บริการลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน อย่างไรก็ดี บริษัทจะทำให้ดีที่สุดในการเข้าไปยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งไม่สามารถตอบได้ว่าจะอยู่ใน 1 หรือ 3 รายแรกหรือไม่ แต่เชื่อว่าโมเดลจะต้องมีความสามารถในด้านเทคโนโลยี และความสามารถในการบริหารความเสี่ยง โดยการนำข้อมูล (Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ ซึ่งหากเดินในรูปแบบนี้จะสามารถเชื่อมกับพันธมิตรได้อีก และจะทำให้ธุรกิจมีความแข็งแรง และมีต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อาทิตย์ นันทวิทยา
อาทิตย์ นันทวิทยา

“การที่มีคนเข้ามาแข่งขันหลายคน อาจจะไม่ต้องตื่นเต้น เพราะยิ่งมีจำนวนมาก จะช่วยคนที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึง แม้ว่าปัจจุบันจะมีธนาคารและน็อนแบงก์ทำสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และไมโครไฟแนนซ์แล้วก็ตาม แต่เราจะต้องมี Engine ใหม่ โดยเฉพาะเครื่องมือในการดูข้อมูล และการส่งผ่านต้นทุนที่ถูกไปสู่ลูกค้า”

ซี.พี. เชื่อมพันธมิตร ทรูมันนี่

ขณะที่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซี.พี.) กล่าวว่า ทางกลุ่ม ซี.พี.อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank ที่ ธปท.เปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตได้แล้ว อย่างไรก็ดี ในส่วนของ ซี.พี.ยังไม่มีความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันจะมีพันธมิตรธุรกิจในส่วนของทรูมันนี่ (truemoney) อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นหากจะมีรายใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม

“กัลฟ์” ผนึก “กรุงไทย-AIS-OR”

“สารัชถ์ รัตนาวะดี” กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวว่า การยื่นขอไลเซนส์มีเวลา 6 เดือน คงไม่ต้องรีบยื่นทันที โดยบริษัทได้ร่วมกับพันธมิตร คือ ธนาคารกรุงไทย และกลุ่มบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่จะลงทุนเรื่องนี้ เชื่อว่าทั้ง 2 บริษัท มีความพร้อมและมีความเข้าใจที่จะร่วมกันลงทุน เบื้องต้นเฟสแรก วางกรอบว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท

ส่วนพันธมิตรอีกราย คือ บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) นั้น ขณะนี้โออาร์อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขในส่วนของการร่วมลงทุน

ตาราง Banking

ทั้งนี้ มองว่า Virtual Bank เป็นธุรกิจที่จะช่วยให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนสำหรับคนที่ไม่มีโอกาสกู้เงิน

“ระบบนี้พันธมิตรของเราสามารถใช้ข้อมูลจากในส่วนของค่ายมือถือและข้อมูลในส่วนของแบงก์มาตรวจเช็กถึงความสามารถในการปล่อยกู้ได้ ว่าสามารถปล่อยได้มากแค่ไหน ซึ่งดอกเบี้ยก็คงจะไม่สูงมาก”

“เจมาร์ท” เร่งหาพาร์ตเนอร์

ด้าน “ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีบล็อกเชนในเครือ บมจ.เจมาร์ท (JMART) กล่าวว่า เจมาร์ทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เช่นเดียวกัน ซึ่งธุรกิจดังกล่าวจะเป็นก้าวต่อไปของเจมาร์ท ที่จะมาช่วยเติมเต็มอีโคซิสเต็มของการบริการที่มีอยู่ และทำให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตได้สะดวกขึ้น

“ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยและหาพาร์ตเนอร์เพิ่มเติม คาดว่าจะมีรายละเอียดชัดเจนขึ้นช่วงหลังสงกรานต์”

จะเห็นได้ว่า ทุกค่ายล้วนเตรียมความพร้อมด้วยการหาพันธมิตรธุรกิจที่จะสามารถเข้ามาตอบโจทย์การทำธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทย ซึ่งหลัก ๆ ก็คงเป็นธุรกิจที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงแบงก์ โทรคมนาคม แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ส่วนที่เหลือจะเติมส่วนใดเข้ามาช่วยปิดจุดอ่อน หรือเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้กว้างขวางขึ้น ก็คงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละกลุ่ม ใครจะเป็นใครบ้างอีก 6 เดือน คงชัดเจน