JPARK ลานจอดรถอัจฉริยะ ต่อยอดพลิกเกมโตด้วยเทคโนโลยี

สันติพล เจนวัฒนไพศาล
สันติพล เจนวัฒนไพศาล

ใครจะคิดว่าการให้บริการพื้นที่จอดรถจะกลายมาเป็นธุรกิจทำเงิน และขยับขยายต่อยอดไปได้อีกมากเมื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี จากยุคคูปองกระดาษ มาจนถึงการพัฒนาระบบชำระเงินอัตโนมัติ

บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่อยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 20 ปี ล่าสุดสามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai

JPARK ก่อตั้งในปี 2541 เริ่มจากการเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่และให้บริการพื้นที่จอดรถในตลาดสามย่าน ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ปัจจุบันให้บริการพื้นที่จอดรถกว่า 58 แห่ง มีจำนวนช่องจอดราว 28,000 ช่องจอด มีธุรกิจหลัก 3 ส่วนคือ 1.ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (parking service business : PS) เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนราว 60% มาจากค่าบริการรายชั่วโมงและค่าสมาชิกรายเดือน

2.ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (parking management service business : PMS) โดย JPARK จะเข้าไปออกแบบและพัฒนาโซลูชั่นต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่จอดรถที่ช่วยให้เจ้าของพื้นที่รองรับการจอดรถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ควบคุมการเข้า-ออกของรถในพื้นที่ วางระบบจัดเก็บข้อมูล และพัฒนาระบบการชำระเงิน เป็นต้น มีตัวอย่างโครงการ คือการพัฒนาพื้นที่จอดรถอัจฉริยะ (smart parking) ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ที่กำลังจะเปิดให้บริการเป็นทางการในกลางเดือน ต.ค. 2566

“สันติพล เจนวัฒนไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JPARK กล่าวว่าพื้นที่จอดรถอัจฉริยะในระยะแรกจะมี 10 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่การเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตั้งแต่สถานีรัชดาภิเษก-สามย่าน โดยจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเชิงพาณิชย์ เช่น การติดตั้งตู้อัตโนมัติ (vending machine) หรือตู้คีออสก์ (kiosk) สำหรับจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการเปิดให้ผู้ประกอบฟู้ดทรัก (food truck) เข้ามาขายอาหารในพื้นที่ โดยการใช้งานพื้นที่จอดรถอัจฉริยะทั้ง 10 แห่ง ควบคุมผ่านแอปพลิเคชั่น “MRTA Parking” ที่ รฟม.เปิดให้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2565 กับผู้ใช้บริการแบบรายเดือนเป็นหลัก ก่อนขยายผลมาสู่การใช้งานแบบเที่ยวเดียวในโครงการนี้

และ 3.ธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (consultant and installation parking system business : CIPS

“เรารับให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนและการบริหารพื้นที่จอดรถ ตั้งแต่วางแผนและออกแบบจุดติดตั้งระบบและอุปกรณ์เทคโนโลยีควบคุมทางเข้า-ออก, การวางแผนอัตรากำลัง และการรักษาความปลอดภัย และวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้พื้นที่ และกำหนดอัตราค่าบริการ”

มีตัวอย่างระบบและเทคโนโลยีที่ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ เช่น ระบบจดจำป้ายทะเบียนรถ (license plate recognition : LPR), เซ็นเซอร์ตรวจจับจำนวนรถในพื้นที่จอดรถ, ระบบอ่าน (member reader) และป้าย LED แสดงจำนวนรถ

สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจอยู่ที่ 455.09 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6.51 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการครึ่งปีแรก 2566 มีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท

“การเติบโตทางรายได้ของบริษัทขึ้นอยู่กับปริมาณช่องจอดที่สามารถให้บริการได้ ยิ่งมีจำนวนช่องจอดมาก ก็จะสามารถเพิ่มปริมาณและความถี่ในการให้บริการลูกค้าได้มากขึ้น คาดว่าจำนวนช่องจอดที่ขยายเพิ่มจะเป็นปัจจัยที่ทำให้รายได้ของปีนี้เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 20%”

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนการขยายช่องจอด ทั้งโดยการหาพื้นที่เพิ่มและจัดสรรพื้นที่เดิมให้รองรับปริมาณรถยนต์มากขึ้น เช่น นำระบบจอดแบบหมุน (rotary parking) เข้ามาใช้ในพื้นที่ ทำให้รองรับรถได้เพิ่มประมาณ 20 คัน/แห่ง รวมถึงในช่วงเดือน ต.ค.จะเปิดให้บริการพื้นที่จอดรถย่านลาดกระบัง รองรับได้ 160 คัน และปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าจะให้บริการพื้นที่จอดรถใกล้ ๆ กับ รพ.ศิริราช รองรับได้ 250 คัน คาดว่าทั้ง 2 ที่นี้จะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน

นายสันติพลกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจให้บริการที่จอดรถและกลุ่มธุรกิจให้คำปรึกษามีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนกลุ่มธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถค่อนข้างทรงตัว ทำให้แผนการลงทุนของบริษัทจะมุ่งไปที่การขยายช่องจอด และพัฒนาโปรเจ็กต์ที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

“เรากำลังพัฒนาโปรเจ็กต์ที่ช่วยสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอในระยะยาว หรือเป็นโครงการที่เวลาสัมปทานถึง 30 ปี เริ่มจากการสร้างอาคารจอดรถ รพ.พระนั่งเกล้า ที่ใช้เงินลงทุน 290 ล้านบาท รองรับ 500 ช่องจอดในระยะแรก กำลังอยู่ในช่วงของการก่อสร้าง คาดว่าจะคืนทุนได้ใน 7 ปี เพราะ รพ.เป็นสถานที่ที่มี traffic เยอะ ความต้องการพื้นที่จอดรถสูง ซึ่งเรามีแผนที่จะขยายพื้นที่จอดรถในโครงการนี้ด้วย แต่ก็ต้องมีการประมาณการใช้งานก่อน”

ขณะเดียวกัน JPARK ยังพัฒนาแอป “พร้อมพาร์ค” เพื่อนำระบบอัจฉริยะมาใช้ในการบริหารพื้นที่จอดรถ โดยเป็นแอปพลิเคชั่นที่เจ้าของพื้นที่สามารถใช้บริหารจัดการระบบหลังบ้านทั้งหมด ส่วนผู้ใช้ทั่วไปสามารถใช้เพื่อเข้า-ออกพื้นที่จอดรถได้ และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ JPARK ขยายธุรกิจได้มากขึ้น

“เราพัฒนาแอปพร้อมพาร์คไปได้เกือบ 90% แล้ว คาดว่าจะพร้อมให้ใช้งานต้นปีหน้า ซึ่งเราต้องการพัฒนาระบบอัจฉริยะที่ทุกอย่างทำงานโดยอัตโนมัติ เพื่อลดต้นทุนในการจัดการทรัพยากรคน อีกทั้งแอปพร้อมพาร์คและระบบอัตโนมัติจะช่วยให้เราขยายการให้บริการในพื้นที่เล็ก ๆ ได้มากขึ้น เพราะเป็นโซลูชั่นที่ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ จากที่ในแต่ละปีเราสามารถขยายพื้นที่จอดรถได้เพียง 6-8 แห่ง แต่ถ้าใช้โซลูชั่นนี้อาจขยายได้ถึง 100 แห่ง ในเวลา 3 ปีเท่านั้น”