ทำไม “ไปรษณีย์ไทย” กำไรร้อยล้านแล้ว แต่ยังไม่สบายตัว

ไปรษณีย์ไทย

ไปรษณีย์ไทย เผยสัญญาณอันตราย บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ ทุ่มเงินรอบใหม่ ลุยโลจิสติกส์ หวั่นกำไรร้อยล้านครึ่งปี 2566 ไม่ยั่งยืน แบกรับต้นทุนพลังงาน-เชื้อเพลิงกว่าร้อยล้าน และภารกิจส่งทั่วถึงเท่าเทียม 1.2 พันล้าน แนะตั้งองค์กรกำกับดูแลโลจิสติกส์

วันที่ 5 พฤษจิกายน 2566 แหล่งข่าวระดับสูงของไปรษณีย์ไทย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลประกอบการในครึ่งปีแรกของปี 2566 ยังไม่สะท้อนสภาพการแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่การแข่งขันกันของบริษัทโลจิสติกส์ เนื่องจากปีนี้ทุกบริษัทสะบักสะบอมกันหมด เนื่องจากค่าพลังงาน-เชื้อเพลิงพุ่ง ทั้งต้องปรับตัวหลังหมดโควิด 19 ที่การขนส่งพัสดุลดลง จากความนิยมซื้อออนไลน์ลดลง ทั้งบริษัทเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซเริ่มตั้งหน่วยธุรกิจโลจิสติกส์ขึ้นเอง

“การแข่งขันกับบริษัทโลจิสติกส์ด้วยกันไม่ได้น่ากลัวเท่ากับบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติเหล่านี้ลงมาทำโลจิสติกส์เล่นในตลาดเอง และเราเริ่มเห็นสัญญาณมาแล้วตั้งแต่เริ่มมีการล็อกสเปกผู้จัดส่งพัสดุสัญชาติเดียวกันบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าหนึ่ง”

ในช่วงปีที่ผ่านมา ปณท มีการ Optimize ระบบขนส่งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรกของปี 2566 ประกาศออกมาว่า ปณท มีกำไร 157.72 ล้านบาท โดยมีรายได้ 10,833.31ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 12.67% ซึ่งกลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ครองสัดส่วนรายได้สูงถึง 44.11%

“แน่นอนว่าอีคอมเมิร์ซ คือ สิ่งที่ทำให้เกิดการจัดส่งพัสดุมากขึ้น อย่างเช่นครึ่งปีหลังหรือช่วงปลายปีที่มีแคมเปญทางการตลาดมาก ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนว่าในแต่ละช่วงเวลาที่มีแคมเปญกระตุ้นการซื้อขาย ส่วนลด หรืออื่นๆ จะมีคนเทไปใช้งานแพลตฟอร์มนั้นๆ เราก็ต้องบริหารจัดการให้ได้ เพราะแต่ละแพลตฟอร์มก็มีการบริหารคลังสินค้าแตกต่างกัน รวมถึงคนขายเองด้วย”

แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า ปีที่ผ่านมาต้องแบกรับต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้น และค่าน้ำมันที่ทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านบาท

“แต่การวางแผนและ Optimize อย่างใกล้ชิดทำให้สามารถพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ ผู้บริหารภายในต้องติดต่อพูดคุยกับบริษัทแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อขอเป็นผู้จัดส่งพัสดุและเพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการการขนส่งพัสดุจากแพลตฟอร์มนั้นๆ ได้สะดวก จะมีก็แต่บางรายที่เขาอยากจะทำโลจิสติกส์เอง ก็ไม่ยอมคุยด้วย ปณท. ต้องส่งคนไปเฝ้าเขาที่ออฟฟิศทุกวันเพื่อขอพบบริษัทแพลตฟอร์มรายนั้น”

“เรื่องการแข่งขันราคาตอนนี้บริษัทขนส่งโลจิสติกส์เหนื่อยกันหมด แต่ถ้ามีบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติที่เอาเม็ดเงินกำไรจากธุรกิจหนึ่งมาทุ่มใส่อีกธุรกิจหนึ่งนี่น่ากลัว ถ้ามีการทุ่มเงิน 3-4หมื่นล้านให้กับบริษัทโลจิสติกส์ของตัวเองซ้ำอีกรอบ ปณท. ก็คงสู้ต่อไม่ไหว”

หนุนตั้ง “องค์กรกำกับดูแลโลจิสติกส์” ร่วมทำบริการทั่วถึงและเท่าเทียม

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า นอกจากจะต้อง Optimize ระบบโลจิสติกส์เข้มข้นขึ้น ปณท ยังต้องลดจำนวนพนักงานจาก 40,000 กว่าราย เหลือเพียง 38,000 ในช่วง 1-2 ปีมานี้ ทั้งต้องแบกรับค่าพลังงานและเชื้อเพลิงเพิ่มปีละหลายร้อยล้าน ยังมีการทุ่มเม็ดเงินสนับสนุนการให้บริการพื้นฐาน “ขนส่งทั่วถึงและเท่าเทียม” คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นภารกิจตามกฎหมายจัดตั้งไปรษณีย์ไทย

“การแข่งขันกับบริษัทรายใหม่ๆ จะยากขึ้น เพราะรายใหม่ไม่ต้องวิ่งในเส้นทางที่ไม่มีดีมานด์ ไม่ต้องส่งข้ามเกาะ เส้นทางยากๆ ไม่ต้องรับผิดชอบบริการอย่างทั่วถึง-เท่าเทียม แต่ ปณท. จดหมาย 3 บาท ก็ต้องส่งตามภารกิจ”

“สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้คือการตั้งองค์กรกำกับดูแล ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการพลังงาน หรือ กสทช. เพื่อดูแลการแข่งขันและสร้างกลไกสนับสนุนการบริการทั่วถึงเท่าเทียมลองนึกภาพตามว่าภารกิจส่งจดหมายทุกที่ของ ปณท มันคือ ภารกิจ USO (Universal Service Obligation) ของ กสทช. ในการส่งเสริมการให้บริการทั่วถึงและเท่าเทียมทางโทรคมนาคม

แต่ของเราเป็น USO ทางโลจิสติกส์ หมายความว่าถ้าเอกชน ไม่อยากทำส่วนนี้เองก็ลงเงินใส่กองทุน ให้องค์กรกำกับดูแลไปทำ ดังนั้นทุกคนจะได้มีช่วยกันสร้างบริการที่ทั่วถึงและเท่าเทียม”