ล้มกระดาน กสทช. ลุ้น ม.44 สรรหาใหม่ วัดใจประมูลคลื่นมือถือ ดีแทคระทึก

ไม่พลิกความคาดหมายเมื่อการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 19 เม.ย. 2561 ใช้เวลาประชุมลับ 4 ชั่วโมงก่อนลงมติ 118 เสียงจาก 163 เสียง เห็นสมควรไม่เลือก “กสทช.” จากบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. เสนอผ่านสำนักงานเลขาฯวุฒิสภา เนื่องจากมีกระแสท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมด้านคุณสมบัติของผู้ผ่านเข้ารอบเป็นระยะ ๆ แถมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนโหวตยังมีคลิปเสียงปริศนาเผยแพร่ในโลกโซเชียล อ้างถึงความไม่พอใจของผู้นำรัฐบาลต่อ 14 บัญชีรายชื่อ

หวั่นบล็อกโหวต

สาเหตุที่ สนช.โหวตล้มกระดานสรรหา “กสทช.” เนื่องจากรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของ 14 ผู้เข้ารอบตามบัญชีรายชื่อที่เสนอเข้า สนช. ระบุชัดว่า 6 คนมีคุณสมบัติต้องห้ามเข้าเป็นกรรมการ ตาม พ.ร.บ.กสทช. และ 2 คนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อน ส่งผลให้มีเพียง 6 คน ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ สนช. สามารถลงคะแนนเลือกได้ ซึ่ง “สนช.-สมชาย แสวงการ” อภิปรายในที่ประชุมว่า หากมีการโหวตเลือกจะมีประเด็นปัญหาทางกฎหมายว่า สนช.ได้รับบัญชีรายชื่อครบ 14 คนหรือ 2 เท่าของจำนวนกรรมการที่ต้องเลือกตามที่กฎหมายระบุหรือไม่ และหากโหวตเลือกเฉพาะ 6 คนที่ผ่านคุณสมบัติ จะเข้าข่าย “บล็อกโหวต” ให้เป็นข้อครหาหรือไม่

ส่อใช้ ม.44 ล้มกระดานนับ 1

เมื่อไม่เลือกทั้งหมดจึงต้องเริ่มต้นสรรหาใหม่ แต่มีมุมมองที่แตกต่างกันด้านกฎหมาย เมื่อในที่ประชุม สนช.ระบุว่า การนับหนึ่งโดยใช้กระบวนการตามมาตรา 17 วรรค 2 และวรรค 4 ของ พ.ร.บ.กสทช. คือ แจ้งให้คณะกรรมการสรรหา ส่งบัญชีรายชื่อใหม่ให้ สนช.ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้ง และให้ สนช.โหวตเลือกใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่ได้บัญชีรายชื่อ หลายฝ่ายกล่าวว่าใช้กับกรณีที่เลือกกรรมการได้ไม่ครบ ไม่ใช่ล้มหมดทั้งกระดาน ขณะที่ พ.ร.บ.กสทช.ก็ไม่ได้ระบุว่า กรณีแบบนี้ต้องเริ่มสรรหาใหม่อย่างไร

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการโทรคมนาคม และภายใน กสทช.กล่าวตรงกันว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาหาทางออก เพื่อให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ล้มคณะกรรมการสรรหาชุดเดิม และยกเลิกบัญชีรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้ง 86 คน เพื่อให้เริ่มนับใหม่ เพราะถ้าใช้กระบวนการตามมาตรา 17 วรรค 2 จะได้กรรมการสรรหาชุดเดิมแล้วเสนอบัญชีรายชื่อใหม่ โดยเลือกจาก 86 คนที่เข้ามาสมัคร ซึ่งก็คงได้กลุ่มเดิม ๆ เข้ามาอีก ขณะที่กรรมการสรรหาชุดเดิมมีข้อกังหาว่า ทำไมปล่อยให้คนขาดคุณสมบัติเข้ารอบมาได้ถึง 8 คน เป็นที่มาของการเสนอให้ใช้ ม.44 เพื่อล้างไพ่ใหม่

“ถ้าเริ่มใหม่ตั้งแต่หากรรมการสรรหาชุดใหม่ เปิดรับสมัครใหม่ น่าจะใช้เวลาราว 5 เดือน”

ชงบอร์ดเดิมลุยประมูล

เงื่อนเวลาในการสรรหาบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ กลายเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากเดือน ก.ย.นี้ สัมปทานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ “ดีแทค” จะสิ้นสุดลง ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช.ได้ชะลอการนำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.เห็นชอบเพื่อรอให้บอร์ดชุดใหม่ เพราะคาดว่า สนช.จะเคาะรายชื่อได้ในวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา

“พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร” ประธาน กสทช. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

การประมูลคลื่นในสัมปทานดีแทค มีเงื่อนไขเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยจากการต้องประกาศใช้มาตรการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วทั้งกรณีสัมปทานทรูมูฟ เอช และเอไอเอส โดยผ่านมาหลายปีภาครัฐยังไม่ได้เงินรายได้ แถมมีคดีฟ้องร้องกับเอกชน

“คณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันมาแล้วว่า บอร์ดชุดเดิมมีอำนาจเต็มที่ในการจัดประมูลได้ และยังอยู่ในตำแหน่งที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ แม้การประมูลครั้งนี้จะมีความคาดหวังสูงทั้งในแง่รายได้ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปลัดกระทรวงการคลัง เพิ่งทำหนังสือกำชับมาเรื่องรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ที่ กสทช.ต้องดำเนินการ รวมถึงความเสี่ยงสูงว่าจะขายคลื่นออกมากน้อยแค่ไหน ด้วยราคาเริ่มต้นที่สูง แต่บอร์ดลดราคาลงไม่ได้ หากลดเสี่ยงโดนฟ้อง และอาจเป็นข้ออ้างให้ผู้ชนะประมูลไม่จ่ายเงินงวดที่เหลือ ขณะที่เอไอเอสและทรูอาจมีปัญหากระแสเงินสด เนื่องจากไม่ได้ผ่อนผันการจ่ายเงินประมูลงวดก่อน ตรงนี้อาจต้องพิจารณาเกณฑ์การจ่ายเงินประมูลหนใหม่ที่จะยืดหยุ่นขึ้นหรือไม่ ต้องรอบอร์ดวันที่ 25 เม.ย.นี้พิจารณาอีกที เชื่อว่าเสียงที่เคยเห็นว่าควรรอบอร์ดชุดใหม่มาดำเนินการจะเห็นด้วยกับการเริ่มกระบวนการประมูลทันทีมากขึ้น”

เสียงแตกค้านเร่งประมูล

ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดประมูลคลื่นภายใต้สัมปทานดีแทคยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่บอร์ดชุดนี้จะต้องดำเนินการในทันที สิ่งที่ควรทำคือวางกรอบเวลาให้ชัดเจนว่าแต่ละกระบวนการในการจัดประมูลคลื่นควรอยู่ในช่วงเวลาใด และเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับร่างประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ เพื่อให้บอร์ดชุดใหม่มารับช่วงได้

“การประกาศหลักเกณฑ์ลงในราชกิจจาฯ” คือการล็อกไม่ให้บอร์ดชุดใหม่เข้าไปแก้ไขได้ง่าย ๆ แม้จะเห็นด้วยที่ต้องรีบประมูลก่อนสัมปทานสิ้นสุด เพื่อไม่ให้ต้องเข้าสู่กระบวนการเยียวยาที่ทำให้เกิดปัญหาได้ แต่บอร์ดควรมีมารยาทในการทำงานด้วย”

คลื่น 1800 แบ่ง 3 ไลเซนส์

ฟาก นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ยังต้องรอ สนช.แจ้งกลับมาว่าจะใช้เวลาในการสรรหาบอร์ดชุดใหม่นานเท่าใด แต่บอร์ดชุดปัจจุบันมีอำนาจเต็มที่ในการปฏิบัติหน้าที่

ซึ่งในการประชุมบอร์ดวันที่ 25 เม.ย. 2561 นี้จะเสนอให้พิจารณาหลักเกณฑ์การจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ภายใต้สัมปทานดีแทค ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.นี้ จำเป็นต้องหาผู้ชนะประมูลที่จะใช้คลื่นต่อให้ทันก่อนหมดสัมปทาน

โดยร่างประกาศหลักเกณฑ์ที่จะเสนอ คือ นำออกประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท อายุใบอนุญาต 15 ปี ใช้กฎ N-1 เพื่อกระตุ้นการแข่งขัน

ส่วนคลื่น 900 MHz ยังไม่นำออกประมูลจนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการรบกวนคลื่นสื่อสารของระบบรถไฟความเร็วสูง

ส่วนงานอื่นที่ต้องดำเนินการช่วงนี้ คือผลักดันมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล การประกาศหลักเกณฑ์การเรียกคืนคลื่นเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยี 5G