เช็ก 5 แอปแอบอ้างดูดเงิน-หลอกลงทุนไม่แผ่ว

กระทรวงดีอี

ตำรวจไซเบอร์เผย 5 แอป 5 หน่วยงาน ถูกแอบอ้างชื่อหลอกติดตั้งดูดเงินเกลี้ยง ด้านศูนย์เฟกนิวส์รายงานคอนเทนต์ลวงลงทุนไม่แผ่ว

วันที่ 25 ธันวาคม 2566 รายงานข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เรื่องผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระหว่างวันที่ 15-21 ธันวาคม 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,206,130 ข้อความ ประเด็นเรื่องการลวงลงทุนยังไม่แผ่ว ติดท็อป 5 จาก 10 ข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด

จากข้อมูลเชิงลึกพบว่ามีการเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับข่าวสารราชการและนโยบายรัฐ โดยใช้หัวข้อที่คนส่วนใหญ่สนใจ หรือคิดว่าตนจะได้ประโยชน์ เพื่อหลอกลวงให้คนสนใจคลิกเข้ามาอ่านและแชร์ ซึ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง วิธีการตรวจมะเร็งง่าย ๆ โดยการเอาน้ำมันพืชมาทาแขน แล้วเอาเล็บขูด ๆ เกา ๆ

อันดับที่ 2 : เรื่อง ออมสินปล่อยสินเชื่อ กู้ได้สูงสุด 30,000 บาท ผ่านเพจตลาดหุ้นไทย

อันดับที่ 3 : เรื่อง เปิดลงทุนกองทุนระยะสั้น (Day Trade) 1,259 บาท ปันผลกำไร 12-30% ต่อวัน ผ่านเพจ Investing to make a profit

อันดับที่ 4 : เรื่อง อาบน้ำหลัง 6 โมงเย็น จะทำให้ม้ามอ่อนแอ ปวดเข่า ความจำไม่ดี ผมร่วง และเลือดจางได้

อันดับที่ 5 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊ก หุ้น กองทุนรวม ชวนเปิดพอร์ต เริ่มต้น 1,000 บาท รับปันผลสูงสุด 36%

อันดับที่ 6 : เรื่อง ใบลำไยต้ม ช่วยบรรเทาอาการติดเชื้อ แผลเป็นหนองให้หายได้

อันดับที่ 7 : เรื่อง ก.ล.ต. เปิดบัญชีไลน์สำหรับผู้สนใจรับข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ไทย

อันดับที่ 8 : เรื่อง กฟภ. SMS แจ้งการจดตัวเลขมิเตอร์ผิด ทำให้ระบบยืนยันการชำระค่าไฟไม่สำเร็จ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ผ่านลิงก์

อันดับที่ 9 : เรื่อง รอยย่นบริเวณหลังหูบอกอาการตีบของเส้นเลือดลมที่ไปเลี้ยงศีรษะได้

อันดับที่ 10 : เรื่อง ก.ล.ต. เปิดกองทุนรวมทองฮั่วเซ่งเฮง เปิดพอร์ตกับฮั่วเซ่งเฮง เริ่มต้น 1,000 บาท รับปันผล 3-20%

ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 49 เรื่อง เช่น รัฐบาลมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนปี 2567 ด้วยคูปอง
เงินสด เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 13 เรื่อง เช่น บัญชีไลน์ให้ข้อมูลด้านการลงทุน โดยมีหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทย เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติจำนวน 4 เรื่อง เช่น สทนช. เตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ 18-25 ธ.ค. 66 เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจจำนวน 13 เรื่อง เช่น OR ตรึงราคาน้ำมัน 10 วัน ระหว่างวันที่ 24 ธ.ค. 66-2 ม.ค. 67 เป็นต้น โดยแบ่งเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 11 เรื่อง

เช็ก 5 แอป 5 หน่วยงาน ถูกอ้างชื่อหลอกติดตั้งแอปดูดเงิน

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) เปิดเผยสถิติระหว่างวันที่ 10-16 ธ.ค. 2566 พบว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้แอบอ้างชื่อหน่วยงานเพื่อหลอกลวงประชาชนโอนเงิน 264 เรื่อง หรือลวงให้ติดตั้งแอปดูดเงิน 232 เรื่อง

โดยหน่วยงานที่ถูกอ้างมากที่สุด

    1. ตำรวจ 204 เรื่อง
    2. ธนาคาร 44 เรื่อง
    3. ค่ายมือถือ 7 เรื่อง
    4. การไฟฟ้า 5 เรื่อง
    5. ศุลกากร 4 เรื่อง

หน่วยงานที่ถูกแอปอ้างให้ติดตั้งแอปดูดเงิน

    1. การไฟฟ้า 124 เรื่อง
    2. บริษัทขนส่ง 37 เรื่อง
    3. กรมที่ดิน 34 เรื่อง
    4. กรมบัญชีกลาง 34 เรื่อง
    5. แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ 3 เรื่อง