ส่องความท้าทายปี‘67 ต่างชาติยึดเบ็ดเสร็จ-ทาเลนต์ขาดแคลน

กูรูสตาร์ตอัพ ชี้ความท้าทายปี 2567 ต่างชาติยึดเบ็ดเสร็จ-ทาเลนต์ขาดแคลน พร้อมชงผู้ประกอบการไทยสู้ศึกผ่านการทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วยดิจิทัล

วันที่ 20 มกราคม 2567 ในงานสัมมนา Creative Talk Conference FORECAST 2024 รู้ก่อน เริ่มก่อน เปลี่ยนแปลงก่อน ได้ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” CEO PaySolutions, Creden.co, Gash.ai และ “แซม ตันสกุล” กรรมการผู้จัดการ กรุงศรี ฟินโนเวต ที่ร่วมกันจัดตั้งกองทุน FINNO EFRA FUND เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพด้วยวงเงินตั้งแต่ 5 แสน-60 ล้านบาท มาแบ่งปันเรื่องราวความท้าทายของการทำธุรกิจในปี 2567 ในหัวข้อ “Entrepreneur Forecast” ในแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้

ปรับตัวใช้ระบบอัตโนมัติ

“ภาวุธ” เปิดเผยว่า จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยในปี 2564 อยู่ที่ 52.2 ล้านคน รวมถึงมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2565 อยู่ที่ 6.2 แสนล้านบาท และมีโอกาสขยายตัวถึง 6.94 แสนล้านบาทในปี 2567 ซึ่งปัจจัยหนุนสำคัญ คือจำนวนผู้ใช้งานในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2566 มีอยู่ 41.5 ล้านคน เพิ่มจากปี 2562 ที่มีอยู่ 30.7 ล้านคน

พฤติกรรมของคนไทยสะท้อนแล้วว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ทำให้ช่องทางออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางหลัก และการทำธุรกิจในยุคนี้ทุกอย่างต้องเชื่อมถึงกันทั้งฝ่ายขาย การตลาด และหลังบ้าน โดยมี CDP (Customer Data Platform) เป็นแพลตฟอร์มกลางในการจัดการข้อมูลของลูกค้า

“ผู้ประกอบการยุคนี้ควรใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลให้เป็น และปรับใช้กับการทำงานในส่วนต่าง ๆ ให้ได้ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน สมมติอยากรู้ว่าบริษัทเหลือกระแสเงินสดเท่าไรก็เปิดเช็กเองได้เลยโดยไม่ต้องรอฝ่ายบัญชี“

ด้าน “แซม” กล่าวว่า เมื่อผู้ประกอบการนำโซลูชั่นดิจิทัลมาใช้จนชำนาญ สิ่งที่ตามมาแน่ ๆ คือการใช้ AI และระบบอัตโนมัติ รวมถึงสิ่งที่คนทำธุรกิจยุคนี้ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น คือ ESG และภาษีคาร์บอน ซึ่งส่งผลกระทบกับธุรกิจที่มีการส่งออกโดยตรง

“AI ยุคนี้เก่งขึ้น เริ่มพยากรณ์พฤติกรรมของลูกค้าได้ หรือคนที่ทำธุรกิจส่งออกก็ควรลงทุนเกี่ยวกับโซลูชั่นต่าง ๆ มากขึ้น สมมติว่าต้องส่งออกสินค้า แต่ไม่มีข้อมูลว่าการผลิตทำให้เกิดคาร์บอนเท่าไร ก็ส่งออกไม่ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เก็บด้วยมือไม่ไหว ต้องมีโซลูชั่นมาช่วย“

สินค้าจีนทะลัก-อีคอมเมิร์ซแข่งดุ

“ภาวุธ” กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยอย่างหนักผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ถ้าดูจากผลประกอบการของแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะพบว่ามีการเติบโตเรื่อย ๆ เช่น Lazada มีรายได้ในปี 2566 อยู่ที่ 21,470 ล้านบาท กำไร 604 ล้านบาท ขาดทุนสะสม 15,980 ล้านบาท แต่ภาพรวมธุรกิจของ Lazada Group มีกำไรรวมอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท

หรือถ้ามองภาพการแข่งขันในธุรกิจขนส่งที่เชื่อมต่อกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะพบว่า ในปี 2565 บริษัทที่สามารถทำกำไรได้ คือ Shopee Express, Lazada Express และ J&T ที่ส่งสินค้าให้กับ TikTok Shop ซึ่งเป็นบริษัทที่คุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของอีคอมเมิร์ซได้อย่างเบ็ดเสร็จ

“ผู้ประกอบการไทยกำลังยืมจมูกคนอื่นหายใจ เมื่อก่อนค่าธรรมเนียมการขายบนแพลตฟอร์มแทบไม่มี แต่ตอนนี้คนขายของออนไลน์ถูกเก็บค่าธรรมเนียมเกือบ 7% ในเวลาแค่ 7 เดือน เขากอดคอขึ้นค่าธรรมเนียมเกือบ 150% และยังไม่การควบคุมจากรัฐ”

ขาดแคลนทาเลนต์

“แซม” กล่าวว่า ไทยขาดแคลนแรงงานด้านไอทีมาก เทียบกับเวียดนาม เขามีแรงงานด้านไอที 500,000 คน แต่ไทยมีอยู่แค่ 50,000 คน ซึ่งรวมแรงงานที่เป็นช่างซ่อม-ประกอบคอมพิวเตอร์แล้วด้วย ส่วนใหญ่หัวกะทิในไทยมักจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มแบงก์ ส่วนระดับกลาง ๆ ก็อยู่ในบริษัทอื่น ๆ หรือสตาร์ตอัพ

“เวียดนามส่งเสริมเรื่องการศึกษาด้านไอทีมาตั้งแต่ 10-20 ปีก่อน มีมหาวิทยาลัยที่สอนด้านโค้ดดิ้งโดยเฉพาะ บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของเขาอย่าง FTP ที่เป็น tech outsource รับทำแอปทั่วโลกมีพนักงานด้านไอทีกว่า 50,000 คน“

“ภาวุธ” เสริมว่า ทาเลนต์ด้านเทคโนโลยีในไทยขาดแคลนมาก ในฐานะที่ตนทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี จึงเริ่มขยายออฟฟิศไปที่เชียงใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้คนเก่ง ๆ มาร่วมงานด้วยกันมากขึ้น รวมถึงเริ่มมองไปที่ สปป.ลาว เนื่องจากค่าแรงถูก และเริ่มสร้างทักษะให้กับคนในประเทศเขามาซัพพอร์ตการทำงานในประเทศเราได้

“วันนี้ถ้าองค์กรต้องการคนเก่ง ๆ มาทำงานร่วมกัน ต้องออกไปสร้างตั้งแต่ตอนเรียน เพราะจำนวนทาเลนต์ในปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว“

นอกจากนี้ “แซม” ยังกล่าวด้วยว่า ไทยสามารถเพิ่มจำนวนทาเลนต์ด้านเทคโนโลยีได้ผ่านหลักสูตรที่เรียกว่า “Low Code” หรือการเขียนโค้ดโดยไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างที่ซับซ้อน ซึ่งที่ผ่านมามีคนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

“คนไทยสามารถ reskill ของตนเองได้ อย่างบริษัทผมก็มีคนในหลากหลายอาชีพผันตัวมาทำงานด้านไอที เพราะเชื่อว่าเป็นอาชีพที่รายได้ดีและเป็นที่ต้องการตัว บางคนใช้เวลาเพียง 3-6 เดือน ก็เริ่มชำนาญด้านการเขียนโค้ดแล้ว“