“บิทคับ” ชี้ เอไอ-กรีน สะเทือน SME เร่งทำการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นบริการสาธารณะ

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

ท๊อป จิรายุส ชี้ พายุครั้งใหม่มาทั้ง ดิจิทัลดิสรัปชั่น และ กรีนดิสรัปชั่น กังวล SME ไทย ปรับตัวไม่ทัน ฝากการบ้านรัฐบาลทำโครงสร้างพื้นฐาน เอไอ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้เป็น Public Goods ให้ทุกคนเข้าถึงเท่าเทียม ลดต้นทุนผู้ประกอบการรายย่อย เอื้อรีสกิลคนทั้งชาติ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวในเวทีสัมมนา “PRACHACHAT BUSINESS FORUM #ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ภาคบ่าย ในหัวข้อ Unlocked THAILAND ความเปลี่ยนแปลงของโลกอันเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดย ได้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญสองเรื่อง คือ เรื่องของ เอไอดิสรัปชัน และ กรีนดิสรัปชัน

นายจิรายุส กล่าวว่า เอไอไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงครั้งคราวแต่เป็นผลกระทบใหญ่หลวงต่อทุกอุตสาหกรรม รวมถึงองค์ความรู้และทักษะของ 1ใน 3 ของประชากรโลกที่ต้องกลับไปเรียนหนังสือหรือ “รีสกิล” ใหม่

“หากในอดีตเราเห็นว่า อินเทอร์เน็ต คือสิ่งที่นำการเปลี่ยนแปลงมากมาย เอไอก็คือ New internet ที่กระทบทุกอุตสาหกรรม ทั้งปลดล็อก Productivity มหาศาล”

“อีกอย่างคือการประกาศล่าสุดจาก NVIDIA ในการพัฒนา Blackwell Chips การประมวลผลขั้นสูงที่ทำให้ต้นทุนของการใช้เครื่องคำนวนของแต่ละอุตสาหกรรมลดลงมหาศาล (Zero marginal computing cost) จากการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานคอมพิวเตอร์ร่วมกัน สิ่งนี้จะทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือการคำนวนโดยเครื่องจักรแทบไม่มีต้นทุน”

“ในปี 2024 เป็นปีที่ทุกคนต้องเริ่มใช้เอไอแล้ว เนื่องจากแอปพลิเคชันพื้นฐานทุกวันนี้มีปุ่มเพิ่มเครื่องมือเอไอมาให้ด้วยหมดแล้ว บริษัทใหญ่หรือเอสเอ็มอี ควรจ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อย เพื่อเข้าถึงการใช้งาน เราไม่ควรทำใช้เองจากอินเฮ้าส์ เพราะแอปพลิเคชั่นที่มีเอไอล้วนเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่แบบ Blackwell Chips ที่ NVIDIA บอก เราไม่มีทางที่จะสร้างและเข้าถึง Computing Power ขนาดใหญ่แบบนั้นได้จากการพัฒนาใช้แบบอินเฮ้าส์

และเมื่อมีการใช้เอไอที่มีพลังการคำนวณมหาศาลแล้ว ความเสี่ยงหนึ่งคือ ความสามารถของคนจะไม่ทันต่อเอไอ เพราะการทำงานของคนอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญแบบเฉพาะที่เกิดจากการเรียนรู้มานาน ขณะที่ถ้าเอไอเข้าถึงพลังการคำนวณขนาดใหญ่ที่เป็น เรียลไทม์คอมพิวต์ จะทำให้มีข้อมูลใหม่ๆ และมีข้อมูลมหาศาล ทำงานข้อมูลที่คนทำงานมีล้าสมัย”

ในด้านการสนับสนุนและการปรับตัวให้ทันเอไอ นอกจากจะต้องเรียนรู้การใช้และจ่ายเพิ่มเล็กน้อยแล้วสิ่งที่ต้องทำระดับนโยบายของรัฐ คือ การวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพ และความสามารถของทรัพยากรมนุษย์

“เราอยู่ในยุคที่รัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกัน อย่างแรกที่ผมคิดว่าประเทศไทยต้องทำเลย คือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึงเวลาที่ต้องเป็นเหมือนแสงไฟบนท้องถนน ทุกคนเข้าถึงต้องทั่วถึง อันนี้ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าPublic Goods คือไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องมีแผนเอ็นทรี ทุกคนต้องเข้าถึงเป็นฟรีเบสิก ที่เป็นสิทธิ์ของคนในประเทศแล้ว และรัฐบาลต้องช่วยให้ ดิจิทัลไอดี เพื่อยืนยันตัวตน ให้ทุกคนมีเพื่อเชื่อมให้เรามีทรัพยากรดิจิทัล”

“ผมจะเน้นเรื่อง Zero marginal computing ขอย้ำว่าข้อเท็จจริง ต้นทุนคำนวนเหลือศูนย์เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำไมเราไม่ใช้ประโยชน์จากมัน เอาข้อมูลที่ดีใส่ในคอมพิวเตอร์ที่ทำงานคิดอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ”

แต่ก่อนที่ทุกอย่างจะเป็นทรัพยากรดิจิทัล เราต้องทำข้อมูลให้เป็นดิจิทัลทั้งสิ้น เพราะข้อมูลเป็นสิ่งที่มีค่าแพงกว่าน้ำมัน ทุกประเทศรู้เช่นนี้ ดังนั้นเมื่อถ่ายโอนข้อมูลเสร็จ ต้องให้มีเก็บไว้ที่ต่างประเทศ แล้วให้พลังการคำนวนมาช่วยกันขุดน้ำมันในประเทศเรา

อีกส่วนคือเรื่องของทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัย ตอนนี้ลูกค้าไม่ใช่เด็กที่มีเวลาเรียน 5 วัน แต่เป็นทุกคนที่ทำงานทุกคนที่มีภาระ มีครอบครัวแล้วว่างตรงกัน ต้องมีโอเพ่นแพลตฟอร์มที่เป็นด้านการศึกษา

“โครงสร้างพื้นฐานแบบตึกแถวที่ต้องให้ทุกคนไปเรียน 5 วันต่อสัปดาห์มันไม่ใช่ ขอแค่อินเทอร์เน็ตแอคเซสที่มือถืออินเตอร์เน็ตทุกคน ผ่านแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มการศึกษา อีกด้านหนึ่ง คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเลยก็คือการเรียนรู้จากเพื่อร่วมงาน เร่งโกลเดนวีซ่า และลดอุปสรรค เอาเทคทาเลนต์ต่างชาติมาทำงานแล้วสอนคนไทย”

รัฐบาลต้องลงทุนทั้งอินเทอร์เน็ต ดิจิทัลไอดี ดาต้า เอไอ และแพลตฟอร์มการศึกษาเพื่อเอื้อให้ต้นทุนการเข้าถึงองค์ความรู้สามารถเข้าถึงได้ทุกคน เราถึงจะรีสกิลคนทั้งประเทศได้

ผลกระทบของเอไอดิสรัปชัน ต่อ SME ไทย

“ผมส่วนตัวค่อนข้างค่อนข้างกังวล เพราะว่าดิสรัปชันครั้งนี้ มาทั้งของดิจิทัล มาทั้ง กรีน”

“ที่เราพูดเรื่องเอไอ SME จะปรับตัวไม่ทัน ผมบอกเลยว่ากรีนหนักไม่แพ้กัน หรือมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะกฏของโลกเปลี่ยนไปแล้ว ซัพพลายเชนไม่กระดิกเลย กระดิกแค่บริษัทใหญ่ ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ากฎใหม่ของโลกมันจะมาแล้วที่จะกู้แบงก์ไม่ได้แล้ว จะส่งออกไม่ได้ โดนแซงชั่น โดน Tariff ขึ้นมหาศาล”

“ถ้าขบวนการผลิตที่ทำลายโลกอยู่ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ มันต้องเปลี่ยนเพราะเป็นทิศทางของโลก ขณะที่ด้านดิจิทัลก็ยังใช้เบสิคแอพพลิเคชันไม่เป็น”

รัฐบาลต้องลงทุนทั้งอินเทอร์เน็ต ดิจิทัลไอดี ดาต้า เอไอ และแพลตฟอร์มการศึกษา จะเปิดฟรีให้เอสเอ็มอีทุกคนมาเรียนฟรีได้แล้วที่ทุกคนเข้าถึงได้ฟรี มีดิจิทัลไอดีสามารถยืนยันตัวตนออนไล เป็นสิทธิพื้นฐาน อินเทอร์เน็ตเป็น เป็นแสงไฟบนท้องถนนทุกคนสามารถที่จะมารีสกิล-อัพสกิล คนในองค์กรของเขาโดยที่ไม่ต้องมีต้นทุน

“เอสเอ็มอีเขาไม่มีเงินเยอะมาก แต่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ เป็น 80-90% ของจีดีพี ฉะนั้นทุกอย่างที่ผมพูด คือ ให้ทุกคนเข้าถึงฟรี เพื่อที่จะช่วยขับเคลื่อนไปในทิศทางของโลกได้”