ดร.สุรเกียรติ์-ดร.สันติธาร แนะในโลกที่ปั่นป่วน ไทยควรวางตัวอย่างไร เลือกข้างแบบไหน ?

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ร่วมเสวนาพิเศษ “Geopolitics Outlook” บนเวที “PRACHACHAT BUSINESS FORUM #ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง” แนะไทยควรวางตัวอย่างไร เลือกข้างไหน ในโลกที่ปั่นป่วน มีการแบ่งขั้ว และต่อสู้กันรุนแรงอย่างในปัจจุบัน 

วันที่ 20 มีนาคม 2024 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ร่วมเสวนาพิเศษ “Geopolitics Outlook” ในงานสัมมนา PRACHACHAT BUSINESS FORUM โดย “ประชาชาติธุรกิจ” 

ประเด็นหลักของเสวนาพิเศษหัวข้อนี้คือ ในโลกที่ปั่นป่วน มีการแบ่งขั้ว-แบ่งข้าง และต่อสู้กันรุนแรงอย่างในปัจจุบัน ไทยควรดำเนินนโยบายทางการทูตและนโยบายทางการค้าอย่างไร ? ไทยวางตัวเป็นกลางอยู่เฉย ๆ ไม่เลือกข้าง ได้หรือไม่ ? 

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าวในประเด็นนี้ว่า ก่อนที่จะตัดสินใจได้ว่าไทยจะวางตัวอย่างไร เราต้องเข้าใจโลกก่อนว่าโลกมันปั่นป่วนอย่างไร ดิสรัปต์อย่างไร 

“เราจะอยู่เฉย ๆ ท่ามกลางความปั่นป่วนได้ไหม ในเมื่อทุกคนเขาก็มาชวนเราเป็นพวกหมด” ดร.สุรเกียรติ์ย้ำคำถามสำคัญนี้ ก่อนแสดงความเห็นของตนเองว่า “ไทยไม่ควรอยู่เฉย ๆ”

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ร่วมเสวนาพิเศษ “Geopolitics Outlook”
ดร.สันติธาร เสถียรไทย และ ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

“เราชอบพูดว่าเราเป็นกลาง เพื่อความสบายใจ แต่บางเรื่องมันเป็นกลางไม่ได้ ต้องเข้าข้างความถูกต้อง จริง ๆ แล้วเวลาเราพูดว่าเป็นกลาง เราหมายความว่าเราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง เวลาเราพูดคำว่าเป็นกลาง ภาษาไทยฟังดูดี แต่ภาษาอังกฤษขึ้นพาดหัวว่า ‘Thailand Take Neutral Stance.’ บางเรื่องมัน Neutral ไม่ได้ รัสเซียบุกยูเครน เราต้องบอกว่ารัสเซียทำไม่ถูก ถ้าเราบอกว่าเป็นกลาง เราเสียทันที” 

“เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจความอ่อนไหวของโลก ถ้าพูดพลาดไปนิดเดียว เสียหายเรื่องความมั่นคงทันที พูดพลาดไปนิดเดียว เสียเพื่อนทันที อยู่เฉย ๆ ก็ไม่ได้ พูดผลีผลามถลำถลากไป ประเทศชาติก็เสียหาย ที่มันแย่คือความเสียหายด้านต่างประเทศนี่เราไม่ค่อยรู้ตัว กว่าเราจะรู้ตัวว่ามันเสียหาย เวลามันเลยไปนานแล้ว เราก็จะสงสัยว่าทำไมคนนี้เขาไม่เป็นเพื่อนกับเรา ทำไมคนนี้เขาไม่มาลงทุนกับเรา ทำไมคนนี้เขาแกล้งเรา กว่าจะรู้ว่ามันเป็นเพราะเราไม่พูดอะไร หรือพูดอะไรที่ไม่ถูกต้อง”

“เวลาที่ใครมาชวนเราเป็นพวก เช่น จีนกับอเมริกา เราต้องกล้าแสดงจุดยืน อยู่เฉย ๆ ไม่ได้” 

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ยกตัวอย่างสิงคโปร์ว่า เป็นประเทศที่กล้าแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ในบางเรื่องสิงคโปร์แสดงจุดยืนชัดเจนว่าเข้ากับจีน เพราะได้ประโยชน์จากจีนมากกว่า แล้วเขากล้าบอกสหรัฐอเมริกา และในบางเรื่อง สิงคโปร์เลือกอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา เพราะได้ประโยชน์มากกว่า แล้วก็กล้าบอกจีนตรง ๆ  

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ร่วมเสวนาพิเศษ “Geopolitics Outlook”
ดร.สันติธาร เสถียรไทย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และผู้ดำเนินรายการ

“ผมคิดว่าเราเป็นเพื่อนกับทุกคน แต่เราต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เข้าใจความอ่อนไหวของสถานการณ์ มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่สถานการณ์ไม่ซับซ้อนมากนัก … อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ หลายเรื่องต้องตัดสินใจ-ต้องเลือกข้าง แต่มีข้อมูลไม่มากพอแล้วตัดสินใจ ก็พัง”  

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์บอกอีกว่า หลายเรื่อง ไทยต้องปรับจุดยืนของตนเอง ยกตัวอย่างเช่นเรื่องเมียนมา ซึ่งไทยเกรงใจรัฐบาลทหารเมียนมา แต่มันถึงเวลามานานแล้วที่ไทยจะต้องแสดงจุดยืนว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะใช้อาวุธสงครามเข่นฆ่าประชาชนอย่างนี้ไม่ได้ 

“ถ้าเพื่อนเราทำไม่ถูก เราก็ต้องบอกเพื่อนเรา” ดร.สุรเกียรติ์กล่าว 

ขณะที่ ดร.สันติธาร เสถียรไทย กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้ระเบียบ โลกในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคที่ไม่ใช่แค่ผันผวน แต่โลกกำลังจะหักมุม เป็น Twists And Turns มันเปลี่ยน 3 ด้านที่กระทบเศรษฐกิจและธุรกิจไทยอย่างมาก คือ “สงครามดุดัน แข่งขันดุเดือด และอาเซียนโดดเด่น”  

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ร่วมเสวนาพิเศษ “Geopolitics Outlook”
ดร.สันติธาร เสถียรไทย ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และผู้ดำเนินรายการ

ดร.สันติธารขยายความว่า สงครามดุดันขึ้น และปัญหาคือเราไม่ค่อยรู้ว่าสงครามจะเกิดที่ไหน ด้านที่สองคือสงครามเศรษฐกิจซึ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แข่งขันดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ และกระทบต่อไทยมาก จีนมีความสามารถในการผลิตมาก แต่เศรษฐกิจในประเทศจีนไม่ดี จีนต้องส่งออกนอกประเทศ ธุรกิจจีนจึงมาบุกตลาดอาเซียน และธุรกิจไทยได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ส่วนด้านที่สาม อาเซียนโดดเด่น คือต่างชาติมองว่าอาเซียนไม่เป็นศัตรูกับใครมากนัก ธุรกิจต่าง ๆ จึงลดความเสี่ยง เข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น 

“แต่ต้องขีดเส้นใต้เน้นว่า ‘อาเซียน’ เพราะถ้าดูในอาเซียน ไทยยังไม่ใช่ตัวเอก ตอนนี้ยังอยู่กลาง ๆ เป็นตัวประกอบ ตอนนี้ตัวเด่น ๆ เป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย แล้วค่อยเป็นไทย ก็หวังว่าในอนาคตไทยจะเด่นขึ้นได้”

นอกจากนั้น ดร.สันติธารกล่าวถึงการแข่งขัน หรือ “สงคราม” ใน Future Economy หรือเศรษฐกิจแห่งอนาคต ว่ามีการแข่งขันหรือสงครามเกิดหลายมิติ ไฮไลต์ 3 สงครามคือ สงครามเทคโนโลยี (Tech War) สงครามเศรษฐกิจสีเขียว (Green War) และสงครามแย่งชิงคนเก่ง (Talent War) 

“สงครามเกิดหลายระดับ สงครามที่ยักษ์เขาตีกัน เราก็ดูไป เราอาจจะไม่ต้องเลือกข้าง แต่เราเลือกข้างที่ให้ประโยชน์เราในแต่ละประเด็น เพราะเราก็มีสงครามที่พวกตัวเล็กอย่างเราแข่งกันเอง” ดร.สันติธารกล่าว 

ดร.สันติธารบอกว่า อยากให้เห็นทั้งสามสงครามเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ในด้านหนึ่ง สงคราม-การแข่งขันเหล่านี้เป็นคลื่นยักษ์ ซึ่งถ้าไทยโต้คลื่นโดยกระโดดขึ้นขี่คลื่นทัน ก็มีโอกาสที่ไทยจะแซงหน้าคนอื่น 

“โลกปัจจุบันเปลี่ยนเร็วจนเป็นดิสรัปชั่น แต่ถ้าเราจับคลื่นทัน เราจะเป็นคนดิสรัปต์คนอื่น ถ้าโลกไม่มีคลื่นใหญ่ เราแซงคนอื่นไม่ได้ พอโลกมันมีคลื่นใหญ่เราเลยแซงได้” ดร.สันติธาร เสถียรไทย กล่าว