ดร.สมเกียรติ ชูปลดล็อกประเทศไทยต้อง ล้างกฎหมายโบราณ การศึกษาท่องจำ ทดลองไม่เรียนรู้

ประธานทีดีอาร์ไอ ชู 3 ล็อกที่ทำให้ไทยติดกับดัก กฎหมายโบราณ การศึกษาท่องจำ ทดลองไม่เรียนรู้ จี้ภาครัฐต้องปรับตัว แนะแจกเงินดิจิทัล-แลนด์บริดจ์ ต้องเรียนรู้จากอดีต ทั้งไทย-ต่างประเทศ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ รร.พูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดสัมมนา PRACHACHAT BUSINESS FORUM โดยมี ดร.สมเกียรติhttps://www.youtube.com/watch?v=ONQTuf08NiM ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บรรยายพิเศษในหัวข้อ Unlocked Thailand ตอนหนึ่งว่า เรากำลังต้องฝ่าพายุการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งอ่อนไหวมาก เทคโนโลยีก้าวกระโดด พายุทั้งนั้นที่จะมาถึงประเทศไทย

และการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ถ้าเราถูกมัดไว้ ขยับเขยื้อนไม่ได้เราจะไปต่ออย่างไร ถึงเวลาที่ต้อง Unlock ประเทศไทย Unlocked Thailand คำถามคืออะไรที่ล็อกประเทศไทย ขอยก 3 เรื่อง กฎระเบียบโบราณ การศึกษาท่องจำ การทดลองโดยไม่เรียนรู้ ถ้าปลดล็อก 3 เรื่องนี้อนาคตประเทศไทยมีแน่ เพราะเอกชนไทยมีความเข้มแข็ง บริษัทใหญ่มีความพร้อม Startup, SMEs มีไดนามิก ขาดแต่กลไกสำคัญที่ไปล็อกธุรกิจของประชาชนในการทำมาหากินคือภาครัฐ

ภาครัฐเป็นตัวอย่างของการมีกฎระเบียบโบราณ เป็นตัวสำคัญที่มัดประเทศไทยไว้ ตั้งแต่กฎหมายคนเข้าเมือง อายุ 45 ปี คนต่างด้าวเข้ามาประเทศไทย อุตส่าห์มาลงทุนในประเทศไทย แต่นักลงทุนต้องรายงานตัวทุก 90 วัน ทั้งที่เรามีมาตรการต่าง ๆ ในการดึงนักลงทุน แต่นักลงทุนบ่นเรื่องนี้ บ่นแล้วบ่นอีก เพราะกฎหมาย 45 ปี ออกสมัยที่เราเป็นห่วงด้านความมั่นคง จึงอยากให้ต่างชาติไปรายงานตัวอยู่ ถ้าหากมีการย้ายสถานที่ทุกวันก็ต้องรายงานตัวทุกวัน แม้พยายามผ่อนคลาย แต่ยังช้ามาก

มีกฎหมายยุคคุณลุง กฎหมายเครื่องขยายเสียง อายุ 74 ปี ถ้าใครพูดภาษาอังกฤษออกไมโครโฟนติดคุก มีโทษทางอาญา เป็นกฎหมายซึ่งออกในยุคที่เรายังไม่ไว้วางใจคนต่างชาติ กฎหมายการพนัน อายุ 89 ปี ใครทำโปรโมชั่นชิงโชคต้องขออนุญาตทุกพื้นที่ กฎหมายค้าของเก่า อายุ 93 ปี แต่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค Low Carbon ต้องรีไซเคิล ไปสู่เศรษฐกิจ BCG แต่เราติดกฎหมายค้าของเก่า ซึ่งห่วงเรื่องโบราณวัตถุต่าง ๆ จึงควบคุมอย่างเข้มข้น ทำให้ซาเล้งขายของรีไซเคิลต้องขออนุญาต เหล่านี้เป็นกฎระเบียบโบราณ

กฎหมายเก่ายังไม่ตาย กฎหมายใหม่ตามเข้ามาเต็มไปหมด โดยเฉพาะรัฐบาลก่อนหน้า โดยเฉพาะช่วงมีสภาเดียว มีกฎหมายเต็มไปหมด บางเรื่องเป็นกฎหมายมีประโยชน์ แต่บางเรื่องน่าสงสัย สร้างภาระให้ประชาชนต้องขอใบอนุญาต ทำให้หากินยาก

ทีดีอาร์ไอเคยศึกษามีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจมากน้อยขนาดไหน โดยศึกษาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว พบว่า 1,700 เกี่ยวข้องกับกระบวนการเดินจากโต๊ะนั้นไปหาโต๊ะนี้ เช่น จะตั้งร้านอาหาร 1 ร้านต้องขอใบอนุญาตอย่างน้อย 6-7 ใบ ทำให้การทำมาหากินของประชาชนยากลำบาก จะทำธุรกิจโรงแรมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ต้องมีใบอนุญาตต่าง ๆ อีกมากมาย

“การขอใบอนุญาตที่มากมายทำให้ประชาชนหากินลำบาก นอกจากเสียเวลาติดต่อราชการ การปฏิบัติตามเงื่อนไขตามใบอนุญาตต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างยากมาก วิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้เหมือนกับที่หลายประเทศทำกัน ปล่อยให้ธุรกิจโบยบิน กิโยตินกฎหมาย เอากฎหมายมาจัดการ” ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า เช่น เกาหลีใต้โละกฎหมาย 48% นับตั้งแต่ประสบปัญหาเหมือนประเทศไทยในวิกฤตปี’40 กลับฟื้นตัวมาได้เร็วกว่าประเทศไทยมากมาย เวียดนามมีการจัดการใบอนุญาตต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย จนวันนี้เขากลับมา พร้อมดึงดูดการลงทุน และทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้

การทดลองกิโยตินกฎหมายในประเทศไทย เคยพบว่าประสบความสำเร็จ ทำให้การทำธุรกิจในประเทศไทยง่ายขึ้น ในปี 2560 เราเคยมี Ease of Doing Business ในอันดับ 26 แต่ปี 2563 อันดับเราดีขึ้น 5 อันดับ เพราะลดกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา และทีดีอาร์ไอศึกษาว่าหากเราดู 1,000 กระบวนการขออนุญาต แล้วเราแก้ไข 43 กระบวนการให้ดีขึ้น เลิกอีก 39-40% ก็จะทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นได้ทันที

“ทุกวันนี้เราห่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ เทเงินเข้าไปใส่ในระบบ แต่จริง ๆ วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีมากโดยไม่ต้องใช้เงิน คือแก้ไขกฎระเบียบให้ชาวบ้านทำมาหากินได้ง่าย ๆ” ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า 2.การศึกษาที่เน้นท่องจำ จำและท่อง เรื่องนี้สำคัญมากเพราะจะทำให้เราไม่สามารถเผชิญโลกที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราเรียนรู้กับวิชาที่นิ่งอยู่จากการท่องจำ เราปรับปรุงหลักสูตรครั้งสุดท้ายปี 2551 แต่สิงคโปร์ปรับหลักสูตรอยู่บ่อย ๆ ปรับหลักสูตรทุก 6 ปี แม้กระทั่งที่เคยเป็นเบอร์ 1 อย่างฟินแลนด์ ปรับหลักสูตรทุก 10 ปี แต่เราไม่ได้ปรับหลักสูตรตั้งแต่ปี 2551 ตั้งแต่ไอโฟนรุ่นแรก จนปัจจุบันไอโฟน 15

“ในระบบการศึกษาไทย อยากให้คนคิดเหมือนกัน แล้วเราจะมีนวัตกรรมที่ไปอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากได้อย่างไร เราจึงเห็นว่าการศึกษาไทยแย่ลงตลอด ถ้าเป็นอย่างนี้น่าจะไปรอดยาก ที่น่าเสียดายคือจนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ ฝ่าด่านการศึกษาที่เน้นท่องจำออกไปได้เลย” ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า หลักสูตรไทยเน้นความรู้ เน้นการท่องจำมากกว่าสมรรถนะว่าทำอะไรได้ ต่างประเทศกำลังเปลี่ยนไปสู่หลักสูตรอีกแบบหนึ่ง คือฐานสมรรถนะ แต่หลักสูตรนี้พอนำมาใช้ในประเทศไทยก็ถูกล็อกไว้

3.ปลดล็อกวิธีการทำงาน เราชอบทดลองโดยไม่เรียนรู้ ถ้าเราไม่เรียนรู้ ไม่เก็บผลมาประเมินต่อไปให้ดีขึ้น เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศที่แก้ยาก ๆ ได้

2 เรื่องที่สำคัญคิดว่ากระบวนการวางแผนอาจจะดีไม่พอ คือการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต นี่ไม่ใช่การแจกเงินครั้งแรก แจกเงินในประเทศไทย คิดมาแล้วทุกรูปแบบ ตั้งแต่เงินผัน เงินกำลังจะหมุนไป เช็คช่วยชาติ เราชนะ คนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน จนถึงเงินดิจิทัล

ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จะช่วยทำให้การวางแผนดีขึ้นและกระตุ้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ คือการดูบทเรียนในอดีต ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ต่างประเทศด้วย ในกรณีประเทศไทย ถ้าศึกษาดูจะพบว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการอัดฉีดเงินไม่ได้สูงอย่างที่รัฐบาลปัจจุบันคาดการณ์ไว้ ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ถึงเวลาทำถึงจะรู้กัน แต่ถ้าเตรียมพร้อมให้ดี ต้องดูข้อมูลจากอดีตก่อน

“ตัวคูณเศรษฐกิจของการแจกเงิน ถ้าแจกเงินสำหรับคนทั่วไป ตัวคูณประมาณ 0.4-0.5 ไม่ได้สูงขึ้น เป็นลมพายุอย่างที่รัฐบาลบอกว่าจะเป็นพายุหมุน 4-5 รอบ เช่นเดียวกับต่างประเทศลมพายุจากการแจกเงินก็ไม่ได้เกิดขึ้น ยกเว้นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจริง ๆ ตัวคูณของสหรัฐใส่เงิน 1 ดอลลาร์ จะทำให้เกิดจีดีพีประมาณ 1% หรือต่ำกว่า 1% เท่านั้น ดังนั้น คือสิ่งที่ควรคิดให้ดี”

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า และการแจกเงินโดยไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง มีบทเรียนทั่วโลกมาแล้ว อาจเกิดความเสี่ยงสูงได้ ถ้ารัฐบาลไม่รักษาฐานะทางการคลังให้ดี ไปกระตุ้นเศรษฐกิจและหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมา ประเด็นที่จะตามมาคือ บริษัทเอกชนถูกลดเครดิตเรตติ้งไปด้วยตามเครดิตเรตติ้งประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากลัว อยากให้คิดรอบคอบมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งคือ โครงการแลนด์บริดจ์ ที่รัฐบาลสนใจ แต่กระบวนการวางแผนยังค่อนข้างมีปัญหา อยากเห็นรัฐบาลคิดให้ดี คิดให้รอบคอบก่อน เมกะโปรเจ็กต์ โครงการขนาดใหญ่ที่จะไม่สำเร็จของโครงการขนาดใหญ่ในโลกทั่วไป สาเหตุที่มีร่วมกันคือ มองโลกดีเกินจริง และเมินความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การมองโลกในแง่ดีอย่างเข้าใจผิด แต่เป็นการพยายามปั้นตัวเลขเสกให้สวยเพื่ออยากลงทุนทำโครงการ ดังนั้น หัวใจสำคัญคือ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้ดี

“ถ้าประเทศไทยจะก้าวเดินไปได้ ธุรกิจมีความพร้อม รายใหญ่พร้อมมากกว่า รายเล็กพยายามปรับตัว แต่ถ้าภาครัฐไม่ปรับตัว ไม่ปลดล็อกประเทศไทย กฎหมายโบราณ การศึกษาจำท่อง ทดลองโดยไม่เรียนรู้ ประเทศก็ยากจะก้าวได้” ดร.สมเกียรติกล่าว