AI พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง “บิทคับ-ลูลู่” แนะธุรกิจเร่งอัพสกิล “คน”

ในงานสัมมนา Prachachat Business Forum 2024 ฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลง จัดโดยประชาชาติธุรกิจ ในช่วงเสวนาพิเศษ “Unlocked Thailand” (Part 2) เชิญ “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และ “ปริชญ์ รังสิมานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด ร่วมพูดคุย หลายแง่มุมเกี่ยวกับผลกระทบ และการปรับตัวของธุรกิจไทยท่ามกลางการรุกคืบของ AI ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนหลายสิ่ง โดยมี “พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี” ซีอีโอ “แอนนิเทค” ดำเนินการสนทนา

AI พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง

“จิรายุส” กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่มีการพูดถึงอย่างมากในเวที World Economic Forum ล่าสุดเป็นเรื่องความแตกแยกในโลก ทั้งจากเทคโนโลยี และสภาพอากาศ เข้าสู่โลกใบใหม่ ที่ต้องเร่ง “สร้างความเชื่อมั่นใหม่” จากโลกที่แตกเป็นเศษส่วน ซ้าย-ขวา บน-ล่าง ซ้ายขวาคือแบ่งจีน-อเมริกา ส่วนใหญ่จะเกิดจากฝั่งเทคโนโลยี เพื่อแย่งชิป-เซมิคอนดักเตอร์ บน-ล่างคือ สภาพอากาศที่ความสนใจไปกระจุกตัวที่ซีกโลกเหนือ ส่วนฝั่งใต้ มีประชากร 2 ใน 3 ของโลก เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสภาพอากาศ

และเรื่องของเทคโนโลยี AI ที่กำลังจะเข้ามา เปรียบได้กับ The new internet ที่จะเป็นเทคโนโลยีที่จะเป็นพื้นฐานของชีวิต เหมือน “ไฟฟ้า” หรือ “รถ” ที่จะส่งผลกระทบตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงบนสุดของประเทศ ปลดล็อกผลิตภาพ มหาศาล กระทบอนาคตตลาดแรงงาน

“ทักษะ ของคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า 44% ของความสามารถจะใช้ไม่ได้ 1 ใน 3 ของประชากรโลกจะต้องกลับไปเรียนหนังสือใหม่ภายในปี 2030”

อีกเรื่องคือสภาพอากาศ ทุกคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่กระทบต่อโลกหนักไม่แพ้เอไอดิจิทัลดิสรัปต์ เพราะซัพพลายเชนจะต้องเปลี่ยนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ต้องเป็น “เน็ตซีโร่” ทั้งหมดประเทศไทยมีแต่บริษัทใหญ่ ๆ ที่รู้เรื่อง ส่วนเอสเอ็มอีที่เป็น 80-90% ของจีดีพี กำลังจะโดนดิสรัปต์โดยยังไม่เข้าใจกฎใหม่ของโลกที่โดนแทรกแซงด้วยนโยบาย “กรีน”

“ปริชญ์” มองว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ “มาเร็ว มาแรง และมาตลอดไป” มาเร็วคือเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานในวงกว้างอย่างรวดเร็ว เห็นได้จาก ChatGPT มีผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านคน ภายใน 2 เดือน ถ้าเทียบนวัตกรรมอื่น เช่น หลอดไฟ ใช้เวลา 50-60 ปี กว่าจะมีการใช้อย่างแพร่หลาย

“มาแรง” คือทุกครั้งที่เกิดการปฏิวัติทางนวัตกรรม และมีองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น จะเกี่ยวกับการเพิ่มความสามารถให้มนุษย์ ลดภาระการทำงาน แต่ AI เป็นครั้งแรกที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานถึง 40%

ส่วนคำว่า “มาตลอดไป” คือ AI เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกเห็นพ้องกันว่าจะเข้ามาช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น ภาคธุรกิจเริ่มนำไปปรับใช้กับองค์กรของตน ไม่ใช่เวลาที่จะมากลัวการใช้ AI อีกต่อไป

“เรากำลังอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิต โดย AI จะเข้ามาปฏิวัติความสามารถของมนุษย์ เช่น ในยุคก่อน เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีสิทธิใช้ความเห็นเปรียบเทียบข้อมูลบนเว็บไซต์ต่าง ๆ แต่ยุคนี้เรามี AI ช่วยสรุปเนื้อหาเป็นประเด็นให้เสร็จสรรพ”

มองโอกาสและความท้าทาย

“จิรายุส” กล่าวว่า DeepTech เป็นหนึ่งเสาหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีทั้ง AI บล็อกเชน บิ๊กดาต้า หรืออินเทอร์เน็ตจากฟ้าเหล่านี้จะเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อินเทอร์เน็ตจากฟ้า ต้นทุนอินเทอร์เน็ตต่ำลง ต่างกับการใช้ 4G ที่ต้องวางโครงข่าย หรือไฟเบอร์ออปติกส์ ส่วน AR/VR หรือเมตาเวิร์ส คือ อินเทอร์เน็ต 3 มิติ ไม่ใช่ 2 มิติแบบเก่า

“DeepTech ทำให้เกิดสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยทำได้มาก่อนในยุคที่แล้ว ทำให้โมเดลธุรกิจใหม่ บริษัทพันล้านใหม่ ๆตัวอย่างการมีสมาร์ทโฟน, จีพีเอส และกูเกิลแมพ เกิดขึ้นจากโครงสร้างไอทีแบบเก่า หรือเว็บ 2.0 ก็มีคนที่รวมทุกอย่างไว้ สร้างสิ่งที่เรียกว่า อูเบอร์ถ้าไม่มีสมาร์ทโฟน อูเบอร์เกิดไม่ได้ เพราะแบกคอมพิวเตอร์ติดตัวไปใช้เรียกรถไม่ได้”

“DeepTech ปัจจุบัน สมมติเราเอาบล็อกเชนผสมกับ AI โดยนำองค์ความรู้เฉพาะทาง เช่น นำทักษะหมอผิวหนังมาเทรนด์ AI แล้วใช้บล็อกเชน Crowd Source ทักษะหมอผิวหนังทั่วโลกเข้ามาช่วยวิเคราะห์โรค เมื่อบล็อกเชนจำแนกแล้วก็จะแจกค่าตอบแทนให้กับหมอที่ร่วมวิเคราะห์”

โครงสร้างพื้นฐาน AI ตอนนี้ NVIDIA ได้พัฒนาชิป Blackwell ประมวลผลขั้นสูงที่ทำให้ต้นทุนของการใช้เครื่องคำนวณของแต่ละอุตสาหกรรมลดลงมหาศาล สิ่งนี้ทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชั่น หรือการคำนวณโดยเครื่องจักรแบบไม่มีต้นทุน

ห่วง Winner takes all.

zero marginal computing เป็นคีย์เวิร์ดเปลี่ยนแปลงโลก การที่จะให้คอมพิวเตอร์ทำงานต่อเนื่องในการประมวลผลให้ จะไม่มีต้นทุนแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแน่ จะมีการนำองค์ความรู้กลับมาเทรนด์ AI แล้วสร้างแอป เช่น เอาความรู้ของหมอมาเทรนเอไอแบบไม่มีต้นทุนเพื่อสร้างแอปกลับไปขายหมอทั่วโลกอีกทีจะเกิดโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ที่ต้นทุนคำนวณเหลือ “ศูนย์” เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ทำไมเราไม่ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เอาข้อมูลที่ดีใส่ในคอมพิวเตอร์ที่ทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา และฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ”

ความเสี่ยงที่ตามมา คือ เมื่อมีการใช้ AI ที่มีพลังการคำนวณมหาศาล ความสามารถของคนจะไม่ทันต่อ AI เพราะการทำงานของคนอาศัยความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่เกิดจากการเรียนรู้มานาน ขณะที่ AI เข้าถึงความรู้ พลังการคำนวณขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลเป็นเรียลไทม์ จะทำให้มีข้อมูลใหม่ ๆ มหาศาลเข้ามา ทำให้ความรู้หรือข้อมูลของคนทำงานล้าสมัย ทักษะ และภารกิจต้องเพิ่มขึ้น แต่งานที่ซ้ำซ้อนจะลดลง

“โครงสร้างพื้นฐานการศึกษาต้องเซตใหม่ โครงสร้างแบบตึกแถวที่ให้คนไปเรียน 5 วัน/สัปดาห์ ใช้ไม่ได้เล้ว ขอแค่เรามีแพลตฟอร์มด้านการศึกษาแบบ Coursera และ Khan Academy ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ใหม่ ๆ โดยไม่จำกัดภูมิหลังเดิม ก็จะปลดล็อกเรื่องทักษะของคนในประเทศได้อีกมาก”

“ปริชญ์” เสริมว่า AI และ DeepTech เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กได้มหาศาล เพราะมีคนที่วางโครงสร้างพื้นฐาน และรอให้ไปต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ ๆ บนนั้น เช่น OpenAI พัฒนาโมเดล AI สำหรับการใช้งานด้านต่าง ๆ ที่ลงทุนไปเป็นมูลค่ามหาศาล โดยหวังว่าจะสร้างรายได้จากคนที่มาสร้างโซลูชั่นต่าง ๆ บน AI ของเขา

“ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน ช่วงที่ไอโฟนเกิดขึ้นใหม่ ๆ คนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าจะใช้งานอย่างไร แต่พอมีคนพัฒนาแอป มาใช้บนนั้น ก็เกิดการสร้างรายได้จากแอปต่าง ๆ เกิดงานใหม่ ๆ สร้างโอกาสให้ผู้คนได้อีกจำนวนมาก สถานการณ์เช่นนั้นกำลังเกิดขึ้นกับ AI ในตอนนี้”

ท่ามกลางโอกาสก็มีความท้าทายหลายด้านเช่นกัน โดยเฉพาะการปรับตัวของกลุ่มเอสเอ็มอีที่อาจไม่ทันการณ์ ทำให้เส้นแบ่ง ประสิทธิภาพการทำงานระหว่างผู้นำกับผู้ตามห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

“หลายคนรู้สึกว่าอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการใช้งาน AI อย่างรวดเร็ว แต่จริง ๆ แล้วมีการใช้งานจริงเพียง 5% จากความสามารถของเทคโนโลยีเท่านั้น และเป็นการใช้งานแค่กลุ่มบริษัทใหญ่ด้วย หมายความว่าถ้าธุรกิจเล็ก ๆ ที่ยังไม่เริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ จะยิ่งทิ้งห่างจากกลุ่มที่ใช้งาน AI เก่ง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนทำให้ภาพรวมของตลาดกลายเป็น Winner takes all.”

แนะองค์กร-SMEs ปรับตัว

“จิรายุส” กล่าวว่า ปี 2024 เป็นปีที่ทุกคนต้องเริ่มใช้ AI แล้ว เนื่องจากแอปพื้นฐานทุกวันนี้มีปุ่มเพิ่มเครื่องมือ AI มาให้ด้วย บริษัทใหญ่หรือเอสเอ็มอี ควรจ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อย เพื่อเข้าถึงการใช้งาน ไม่ควรทำใช้เองจากภายในองค์กร (อินเฮาส์) เพราะแอปที่มี AI เชื่อมกับคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่แบบ Blackwell Chips ที่ NVIDIA บอก ซึ่งเราไม่มีทางที่จะสร้างและเข้าถึง Computing Power ขนาดใหญ่แบบนั้นได้จากการพัฒนาใช้แบบอินเฮาส์

สำหรับเอสเอ็มอีส่วนตัวค่อนข้างกังวล ดิสรัปชั่นครั้งนี้มาทั้ง ดิจิทัล และกรีน ซึ่งเอสเอ็มอีจะปรับตัวไม่ทัน เช่นกันกับเรื่อง “กรีน” ที่จะหนักไม่แพ้กัน หรือมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะกฎของโลกเปลี่ยนแล้ว แต่วิถีการผลิตที่ทำลายโลกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำยังไม่เปลี่ยน ขณะที่ด้านดิจิทัลยังใช้ “เบสิกแอป” ไม่เป็นต้องมีต้นทุนการรีสกิลทักษะใหม่ที่ถูกลง ซึ่งการปรับโครงสร้างแบบนี้ลำพัง เอสเอ็มอี และเอกชนคงทำไม่ได้ ต้องฝากผู้มีอำนาจ

ด้าน “ปริชญ์” มองว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีฐานข้อมูลที่ดี ยุคนี้ผู้ประกอบการต้องรู้จักเก็บดาต้า เพราะ “ดาต้า” เป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล ช่วยให้เอสเอ็มอีดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแข่งขันกับบริษัทใหญ่ ๆ ได้ เมื่อวางแผนจาก “ดาต้า” ที่มีแล้วต่อยอดเป็น “แอป” หรือ “โซลูชั่น” ช่วยลดเวลาและขั้นตอนการทำงาน

“ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มเอาเทคโนโลยีมาใช้ทำธุรกิจอย่างไร ให้เริ่มจากเก็บดาต้าก่อน สมมติว่าขายเครื่องดื่มที่ต้องชงแก้วต่อแก้ว เวลามีลูกค้ามาต่อแถวซื้อเยอะ ๆ ลูกค้าที่มาใหม่ก็เปลี่ยนใจไปซื้อร้านอื่นแทน เพราะไม่อยากรอคิว แต่ถ้าเรามีดาต้าก็จะรู้ว่าเมนูไหนขายดีช่วงไหนชงเครื่องดื่มเตรียมไว้ได้ ลูกค้ามาก็ขายได้เลยไม่ต้องรอ แค่นี้ก็ประหยัดเวลา และเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายมาก ๆ แล้ว”

ต้องยอมรับว่าถ้าวันนี้ไม่มี “ดาต้า” แพ้แน่นอน

ฝากการบ้านรัฐบาล

“จิรายุส” กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในยุคของ Private & Public Partnership รัฐกับเอกชนต้องทำงานร่วมกัน ต่างคนต่างทำไม่ได้แล้ว ยิ่งในยุคที่ AI เข้าไปมีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม ให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียม (Public Goods) ไปจนถึงการเปลี่ยนข้อมูลทุกอย่างให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เป็นทรัพยากรดิจิทัลที่ทำงานบนระบบอัตโนมัติได้อย่างต่อเนื่อง

“ทุกประเทศเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี AI และรู้แล้วว่า ดาต้าแพงกว่าน้ำมัน พอทำทุกอย่างให้เป็นดิจิทัลได้สำเร็จ ก็ต้องคำนึงถึงการเก็บรักษาข้อมูล ไม่ให้รั่วไหลออกนอกประเทศ”

อีกส่วนคือการปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเรื่องการลงทุน หรือการทำงานของชาวต่างชาติ ถ้ามีการให้ Golden Visa ดึงทาเลนต์ต่างชาติเข้ามาในประเทศก็จะเกิดถ่ายทอดความรู้ระหว่างเพื่อนร่วมงาน เป็นการยกระดับทักษะของคนไทยไปในตัว

“รัฐบาลต้องลงทุนทั้งอินเทอร์เน็ต ดิจิทัลไอดี ดาต้า AI และการศึกษา เปิดให้เอสเอ็มอีเรียนฟรี มีดิจิทัลไอดีสามารถยืนยันตัวตนออนไลน์เป็นสิทธิพื้นฐาน ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นแสงไฟบนท้องถนนที่ทุกคน มารีสกิล-อัพสกิล คนในองค์กรได้ โดยที่ไม่ต้องมีต้นทุน”

“เอสเอ็มอีมีเงินไม่เยอะมาก แต่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ มีส่วนในการสร้างรายได้เป็น 80-90% ของจีดีพี จะช่วยขับเคลื่อนไปในทิศทางของโลกได้”

“ปริชญ์” เสริมว่า เทคโนโลยี จะเปลี่ยนบทบาทให้เรากลายเป็นคนถามคำถามที่ใช่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ แล้วคนรุ่นใหม่ยังมีแนวโน้มเปลี่ยนงานอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าการรีสกิลเพื่อเพิ่มทักษะใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องการรีสกิล “คน” ด้วย เช่น สิงคโปร์มีโปรแกรม SkillsFuture มอบเงินสนับสนุน 4 พันดอลลาร์ ให้คนวัยทำงานเพื่อใช้เพิ่มทักษะด้าน AI

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ อธิปไตยของ AI เนื่องจากข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนให้ AI มีทั้งเรื่องการเมือง ทหาร และความมั่นคงของชาติภาครัฐต้องสร้างเกราะป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการโน้มน้าวจาก AI ในทิศทางที่ไม่เหมาะสม เพราะแค่ในยุคของโซเชียลมีเดียที่ผู้ใช้สามารถรับรู้ข่าวสารได้หลายช่องทาง เราเห็นแล้วว่าโซเชียลมีเดียสามารถโน้มน้าวการเลือกตั้งได้ขนาดไหน แล้วยิ่งใช้ AI ที่สรุปทุกอย่างเสร็จสรรพ อิทธิพลการโน้มน้าวจะยิ่งมีมากขึ้น