กัลฟ์-ไบแนนซ์-AIS ยักษ์ผนึกยักษ์ยึดบัลลังก์คริปโตไทย

Gulf
สารัชถ์ รัตนาวะดี-ริชาร์ด เทง

นับเป็นย่างก้าวไม่ธรรมดา สำหรับยักษ์พลังงานไทย “กัลฟ์” (Gulf) กับการตัดสินใจร่วมลงทุนกับ Binance บิ๊กธุรกิจบล็อกเชน-คริปโตเคอร์เรนซีระดับโลก หลังเผยโฉมแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าดิจิทัล BinanceTH by Gulf Binance ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดได้ฤกษ์เปิดตัวเป็นทางการในงาน Gulf Binance Digital Asset Forum กลาง มี.ค.ที่ผ่านมา

ในโอกาสนี้ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ “ริชาร์ด เทง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Binance ได้เปิดเผยมุมมองต่ออุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

สินทรัพย์ดิจิทัล ศก.ใหม่

“สารัชถ์” กล่าวว่า คริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่ ซึ่งยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แม้มีความเสี่ยงสูง แต่น่าจะมีโอกาสไปต่อ และเป็นสิ่งที่กัลฟ์ให้ความสนใจ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาลงทุนในอินทัช และเอไอเอส ก็มีการพูดคุยว่าจะขยายการลงทุนไปอย่างไร และโดยส่วนตัวได้รู้จักกับ “ฉางเผิง จ้าว” หรือ CZ อดีตซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Binance อยู่แล้ว

“การที่เราจะเข้ามาทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องหาคนที่รู้จริงมาช่วยทำ และให้ความรู้เราได้ ซึ่งก็มีหลายบริษัทที่คุยกันแล้วล้มหายตายจากไปก็มี ที่เลือก Binance เพราะค่อนข้างมีความมั่นคง และที่สำคัญในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความชัดเจน โปร่งใส เพราะเงินที่ฝากไว้ในกระเป๋าหรือแพลตฟอร์ม พร้อมให้ซื้อขายได้ตลอด หากมีการสูญเสีย Binance ก็มีทุนสำรองเพียงพอ”

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัว ตนไม่ได้ถือครองคริปโต แม้จะมีความสนใจ แต่ยังไม่มีเวลาลองเสียที จะมีก็แต่ในนามบริษัทที่เข้าซื้อเหรียญ BNB Coin ไว้ เนื่องจากเป็นพาร์ตเนอร์กับ Binance จึงเชื่อมั่นในการเติบโตว่าจะไปได้ดี และยังมีการร่วมกันลงทุนในคริปโตและสตาร์ตอัพต่าง ๆ ด้วย

โดยคริปโตสกุล BNB เป็น Native Token หรือ Coin ประจำบล็อกเชน Binance Smart Chain ซึ่งบริษัท Gulf International Investment จำกัด ได้เข้าไปซื้อ BNB ราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ 
เมื่อกลาง เม.ย. 2565 ขณะนั้นราคาตลาดของ BNB อยู่ที่ 270-300 เหรียญสหรัฐต่อโทเค็น

เชื่อม BinanceTH-AIS

ก่อนหน้านั้น กัลฟ์ ได้เข้ามาถือหุ้น “เอไอเอส” บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีของไทย ทำให้มีความสามารถที่จะขยายการทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างมาก

“โครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัล คนเราใช้ชีวิตกับดิจิทัลมากขึ้น อย่างตอนนี้เรื่องเอไอเข้ามาในชีวิตมากขึ้น เราเองก็เพิ่งสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ร่วมกับเอไอเอสและ Singtel ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลก็ต้องขยายไปเรื่อย ๆ ตามความต้องการ”

สำหรับการทำตลาด BinanceTH คิดว่า เอไอเอสจะเข้ามามีบทบาทด้วย โดยจะมีการเชื่อมแพลตฟอร์มระบบหลังบ้านของแอปพลิเคชั่น MyAIS เข้ากับกระดานเทรดคริปโตได้ คาดว่าการเชื่อมโยงแพลตฟอร์มจะเสร็จสิ้นในเดือน เม.ย. และการที่ทั้งสองแพลตฟอร์มเชื่อมกันได้จะช่วยขยายช่องทางการซื้อขายคริปโต ไปยังกลุ่มผู้ใช้บริการ MyAIS ซึ่งก็คือลูกค้ามือถือกว่า 40 กว่าล้านราย

ผลักดันระบบนิเวศคริปโต

ในส่วนของ BinanceTH เปิดตัวเป็นทางการเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กับเป้าหมายที่ต้องการขยับขึ้นเป็นผู้นำตลาดคริปโตเคอร์เรนซีของไทย ทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้งาน และปริมาณซื้อขายบนแพลตฟอร์มภายในปี 2568

อย่างไรก็ตาม “ริชาร์ด เทง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Binance ซึ่งนับว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกคริปโตคนหนึ่ง บอกว่า เจตนาของการร่วมมือกับกัลฟ์ ในประเทศไทย ไม่ได้ต้องการจะแข่งขันกับ “กระดานเทรดท้องถิ่น” ที่ครอบครองส่วนแบ่งในตลาดมานานเท่านั้น แต่ต้องการร่วมสร้างโอกาส และผลักดันระบบนิเวศ Web3 บล็อกเชน คริปโต ให้เติบโตในประเทศไทย

“จากข้อมูลที่เราเห็น ประเทศไทยมีอัตราการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีติดอันดับ 10 ของโลก แม้จะมีประชากรเพียง 70 ล้านคน และมีผู้เข้าถึงบริการคริปโตเพียง 10% ของประชากร เป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการปรับใช้เพิ่มขึ้นได้”

และไม่ใช่แค่คริปโตเคอร์เรนซี แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของคริปโตมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่สามารถต่อยอด และส่งเสริมทั้งอีโคซิสเต็มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเอไอ บล็อกเชน คลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์

“การได้ Gulf ซึ่งเป็นผู้ที่มีทั้งธุรกิจพลังงานและโทรคมนาคมมาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ จะทำให้มีการนำความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปเสริมสร้างอีโคซิสเต็มดิจิทัล คริปโต บล็อกเชนได้อย่างดี”

3 คำมั่นสัญญา

“ริชาร์ด เทง” กล่าวว่า โดยส่วนตัวจากมุมมองของคนที่เคยทำงานด้าน “การกำกับดูแล” และขึ้นมารับตำแหน่งต่อจาก “ฉางเผิง จ้าว” นั้น แน่นอนว่าความท้าทายคือเรื่องระเบียบข้อบังคับที่มีความแตกต่างกันทั่วโลก ซึ่งตนเข้าใจเป็นอย่างดี และเห็นด้วยว่า “คริปโต” ต้องมีความชัดเจน ซึ่งในบริบทของแต่ละประเทศ มีสภาพแวดล้อมของการกำกับดูแลตลาดที่แตกต่างกัน เช่น ในประเทศไทย ก็กำกับดูแลแตกต่างจากสหรัฐอเมริกา จึงมอบความไว้วางใจให้กับทีมบริหารของประเทศไทย และ BinanceTH มี กัลฟ์ เป็นพันธมิตรรายใหญ่ ทำให้เกิดความคล่องตัวมาก

ส่วน Binance จะคอยเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยี การถ่ายโอนความรู้ เพื่อใช้สร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้ และร่วมสร้างระเบียบ และป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางการเงินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในไทย และทั่วโลก

อีกส่วนที่เป็นความท้าทาย คือเรื่องการสร้าง “ความตระหนักรู้” ให้กับชุมชนผู้ใช้งาน เพราะคริปโต บล็อกเชน Web3 ยังเป็นสิ่งใหม่ และอัตราการใช้งานยังน้อยอยู่เพียง 10% ของประชากร ดังนั้นหากขยายความรู้ความเข้าใจออกไป ก็จะช่วยส่งเสริมระบบนิเวศของอุตสาหกรรมได้

ผู้บริหาร Binance ทิ้งท้ายว่า ตนขึ้นมารับตำแหน่งซีอีโอ พร้อมกับคำมั่นสัญญา 3 อย่าง ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรา อย่างแรก คือโฟกัสประสบการณ์ผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเทคโนโลยี โปรดักต์ ความปลอดภัย และความเชื่อมั่นของผู้ใช้อย่างสม่ำเสมอ อย่างที่สอง การสร้างความร่วมมือด้านกฎระเบียบ ที่เราตั้งเป้าจะร่วมมือกับหน่วยงานกํากับดูแลทั่วโลกเพื่อรักษามาตรฐานอุตสาหกรรม

และสุดท้าย คือการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการเติบโตของระบบนิเวศ Web3 รวมถึงการส่งเสริมการตระหนักรู้ให้กับผู้คนอีกมากที่กำลังจะเข้าสู่ชุมชนคริปโต บล็อกเชน Web3