ตั้งบริษัทร่วมทุน “ทีโอที-แคท” นับหนึ่งทางออกเพื่ออนาคต ?

ท่ามกลางกระแสคัดค้านของพนักงาน บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) ในการเดินหน้ารวมโครงข่ายสื่อสารภายในประเทศของทั้งคู่ ตั้งเป็นบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN co) และรวมโครงข่ายระหว่างประเภท ธุรกิจศูนย์อินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ (IDC) ตั้งเป็น บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC co)

แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ผู้กำกับดูแล ยังยืนยันว่า ต้องเดินตามมติ ครม. NBN และ NGDC ต้องเปิดให้บริการ 1 พ.ย. นี้ เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน เพิ่มความคล่องตัวและบริหารทรัพย์สินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้แข่งขันกับตลาดได้ ยืนยันไม่ถอยหลัง 3 ปีเริ่มกำไร

“พันธุ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีดีอี กล่าวว่า ถ้าจะถอยหลังก็ต้องบอกให้ได้ว่า เพื่ออะไร “ผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา เมื่อปรับเงื่อนไขต่าง ๆ แล้ว มั่นใจว่าพอในปีที่ 3 จะสร้างประสิทธิภาพความมั่นใจให้ลูกค้า ภายใต้บริบทใหม่มันจะเดินไปได้ ไม่คิดว่ามันจะเจ๊งหรือขาดทุน ไม่อย่างนั้นคงไม่มานั่งทำให้เสียเวลา”

ฟาก “มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า บริษัทที่ปรึกษากำลังประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อตีกลับมาเป็นสัดส่วนหุ้น ส่วนพนักงาน NBN จะอยู่ที่ 1,200 คน

โดยทั้ง 2 บริษัทร่วมทุนจะมีบอร์ดและกรรมการผู้จัดการเป็นของตัวเอง ซึ่งจะสรรหาเสร็จราว ก.ย. นี้ ส่วนโมเดลธุรกิจจะเป็นการขายส่งบริการจากการนำโครงข่ายที่เป็นทรัพย์สินของทีโอที

และแคทมาบริหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทั้ง NBN และ NGDC จะเป็นผู้ลงทุนขยายโครงข่ายใหม่ให้ทันกับความต้องการของตลาดแทนบริษัทแม่ ขณะที่ทีโอทีกับแคทยังเป็นผู้ให้บริการขายปลีก ผ่านการตั้งบริษัท Service Co เพื่อให้แข่งขันกับตลาดได้

“พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท กล่าวว่า พนักงานของบริษัท NGDC ประเมินไว้ที่ 479 คน ซึ่งต้องให้เวลาบริษัทที่ปรึกษาออกแบบแนวทางที่เหมาะสมและรายละเอียดที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งการคัดเลือก การประเมินสิทธิประโยชน์ สวัสดิการรัฐวิสาหกิจก็คล่องตัวได้

เมื่อ 2 บริษัทร่วมทุนยังเป็นรัฐวิสาหกิจตามมติ ครม. จึงเกิดคำถามว่าจะคล่องตัวต่างจาก “ทีโอที-แคท” ได้แค่ไหน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ความเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กฎหมายไม่ได้ลดทอนความสามารถในการแข่งขันมากเท่าไร เพียงแต่ที่ผ่านมายังผลักดันไม่ถึงขีดสุดของความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะกฎหมายเปิดช่องให้สร้างวิธีการทำงานที่โปร่งใสและรวดเร็วได้

“ปัญหานี้แคทกับทีโอทีแก้ไม่ได้ เพราะเป็นองค์กรที่ตั้งมานาน บางอย่างมันแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่ NBN – NGDC เพิ่งก่อร่างสร้างใหม่ ยังกำหนดกติกาการดำเนินชีวิตของตัวเองได้”

แต่ปัญหาที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่านั้น เช่น ผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว เอไอเอสก็ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาทางการกับทีโอที
บริษัทร่วมทุนระหว่างแคทกับดีแทคก็ไม่คืบหน้า บริษัทร่วมทุนจะแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ได้แต่ยอมรับตรง ๆ ว่า อยู่นอกเหนือความสามารถที่จะตอบได้

ด้าน “สังวรณ์ พุ่มเทียน” ประธานสหภาพฯแคท ย้ำว่า การตั้งบริษัทร่วมทุนไม่ได้แก้ปัญหาเดิมของแคทและทีโอที
ทางออกคือการตั้งบอร์ดเดียวคุมทั้งแคทและทีโอที เพื่อให้มีทิศทางเดียวกันไม่ใช่แก้ด้วยการมี 4 บอร์ด 4 บริษัท