“ไพรซ์ซ่า” เชื่อม “ฟินเทค” เสริมแกร่ง “อีคอมเมิร์ซ”

ขาช็อปคนไทยคุ้นกับช่องทางออนไลน์แล้ว เพราะสะดวกทั้งจ่ายเงินและจัดส่ง แถมบางจังหวะยังมีโปรโมชั่นดี ๆ แต่การหาข้อมูลเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดยังจำเป็น โดยเฉพาะ “ราคา”

“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นเปรียบเทียบราคาสินค้า “Priceza” กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังโต 20-30% ต่อเนื่อง คาดว่าจะอิ่มตัวในปี 2568 ขณะที่การแข่งขันยังคงรุนแรงเพราะมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่จากต่างชาติบุกหนักขึ้น

“อีกไม่เกิน 5 ปี การค้าจะไร้พรมแดน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ในฝั่งมาร์เก็ตเพลซยังแข่งกันรุนแรง เช่นลาซาด้า เคยตั้งเป้าทำกำไรภายใน 3-5 ปี แต่มีคู่แข่งใหม่มาตลอดจึงต้องปรับกลยุทธ์ลดค่าธรรมเนียมร้านค้า เพราะคู่แข่งบางรายไม่เก็บ ดังนั้น ถ้าอยากอยู่รอดต้องโฟกัสที่ลูกค้า ต้องมีบริการที่ดีมีจุดเด่น ไม่ใช่สู้ที่ราคาอย่างเดียว เพราะลูกค้าที่ใช้ไพรซ์ซ่า 80% ไม่ได้เลือกที่ราคาถูกสุด แต่เลือกที่ความไว้วางใจ”

ภาพรวม Priceza ครึ่งปีแรก 2561 มีผู้เข้าชมเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นกว่า 70 ล้านครั้ง มีอัตราการซื้อ 2.98% เพิ่มจาก 2.81% เมื่อปีก่อนด้วยความมั่นใจของผู้บริโภคที่จะซื้อออนไลน์ โดย 81% สั่งซื้อจากสมาร์ทโฟนและแท็บเลต

ส่วนจำนวนสินค้าบนแพลตฟอร์มโตขึ้น 28% จาก 28 ล้านชิ้นในปี 2560 เป็น 36 ล้านชิ้นในปัจจุบัน จากการเติบโตของกลุ่มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน หรือ cross border ทำให้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันมีฐานข้อมูลสินค้าประเภทนี้บนแพลตฟอร์ม 17 ล้านชิ้น หรือ 47% ของสินค้าทั้งหมด

มูลค่าซื้อขายรวม 1.42 พันล้านบาท ยอดซื้อเฉลี่ย 1,702 บาท/ออร์เดอร์ ถ้าซื้อผ่านคอมพิวเตอร์เฉลี่ย 2,309 บาท แอปพลิเคชั่น 1,495 บาท ผ่านเว็บไซต์โมบาย 1,266 บาท แสดงว่าถ้าราคาสูงผู้บริโภคมั่นใจจะซื้อผ่านคอมพิวเตอร์สินค้าที่ขายดี ได้แก่ แฟชั่น 15%, ยานยนต์ 14%, อิเล็กทรอนิกส์ 13%, มือถือ 12% และเฟอร์นิเจอร์ 10%

ขณะเดียวกัน “ไพรซ์ซ่า” ได้เพิ่มบริการใหม่ “ไพรซ์ซ่ามันนี่” เว็บไซต์เปรียบเทียบบริการทางการเงิน ได้แก่ 1.ประกันรถยนต์ 2.บัตรเครดิต และ 3.สินเชื่อส่วนบุคคล ปัจจุบันมีข้อมูลครอบคลุม 1.6 ล้านแผนประกัน จาก 30 บริษัทประกัน 10 สถาบันการเงิน และ 69 บัตรเครดิตโดย 80% ผู้ที่เข้ามาค้นหาประกันออนไลน์ผ่านไพรซ์ซ่า มองว่าตอบโจทย์มีการซื้อประกันรถยนต์แล้ว 14.6 ล้านบาท

“เรายังเพิ่มฟีเจอร์แสดงส่วนลดจากบัตรเครดิตต่าง ๆ มาเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคได้เลือกดูด้วย ครึ่งปีหลังจะขยายบริการใหม่ด้านฟินเทค โดยการชำระเงินเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสนใจ ที่อีคอมเมิร์ซเติบโตมากเพราะอินฟราสตรักเจอร์พร้อม หนึ่งในนั้นคือ เพย์เมนต์”

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับตลาดในอินโดนีเซียมากขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 1.45 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50% ของตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียน แต่ผู้ใช้ไพรซ์ซ่าในอินโดนีเซียมีเพียง 2 ล้านคน จากประชากรกว่า 200 ล้านคน จึงเติบโตได้อีกมาก ตั้งเป้าสิ้นปีให้มีผู้ใช้งาน 187 ล้านครั้ง โต 50% จากปีก่อนที่ 125 ล้านครั้ง ในฟากของรายได้ยังมาจากโฆษณา ปัจจุบันให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ รวมถึงการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินครอบคลุม6 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์