ขาขึ้นธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ “เอ็นทีที”ลุยเจาะธุรกิจการเงิน-ประกัน

“เอ็นทีที” โชว์มาตรฐานความปลอดภัยข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เจาะธุรกิจการเงินเพิ่มสัดส่วนรายได้ 50% คาดตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ยังโตต่อเนื่องเฉลี่ย 30% ต่อปี

นายสุทธิพัฒน์ ลือประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทคโนโลยี บริษัท ดิจิทอล พอร์ท เอเชีย จำกัด ในกลุ่มบริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ คอร์ปอร์เรชั่น กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนด้านไอทีของอุตสาหกรรมการเงิน ธนาคาร และประกันภัย มีการลงทุนเพิ่มมากที่สุด รองจากกลุ่มโทรคมนาคม เนื่องจากมีการชำระเงินผ่านมือถือหรือใช้เงินดิจิทัลมากขึ้น สอดคล้องกับปัจจุบันที่สัดส่วนรายได้ด้านดาต้าเซ็นเตอร์ของเอ็นทีทีมาจากกลุ่มลูกค้าการเงิน ธนาคาร และประกันภัย 30-40% เอ็นทีทีจึงขอรับรองมาตรฐาน PCI DSS ในการรองรับการชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ PCI DSS:Payment Card Industry Data Security Standard เวอร์ชั่น 3.2 ที่เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดของมาตรฐานด้านความปลอดภัยข้อมูลแห่งแรกในไทย เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจ และดึงดูดลูกค้ารายใหม่ คาดว่าสัดส่วนรายได้จะเพิ่มเป็น 50% ภายในสิ้นปีนี้

สุทธิพัฒน์ ลือประเสริฐ

“PCI DSS เป็นมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลในดาต้าเซ็นเตอร์ที่ป้องกันภัยคุกคามระดับโลก เกิดจากผู้ให้บริการบัตรเครดิต เช่น อเมริกันเอ็กซ์เพรส, เจซีบี, มาสเตอร์การ์ด และวีซ่า รวมตัวกันกำหนดมาตรฐาน ดังนั้นธนาคารที่ต้องการมาตรฐานดังกล่าวต้องลงทุนมากถ้าจะทำเองทั้งหมด บริการของเราจึงเป็นทางเลือกเพื่อลดภาระของแบงก์”

ปัจจุบัน เอ็นทีที มีดาต้าเซ็นเตอร์ 2 แห่ง ได้แก่ Bangkok 1 Data Center ที่บางนา และ Bangkok 2 Data Center ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี โดยจะเน้นที่ Bangkok 2 Data Center เป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ของบริษัท ไม่ใช่พื้นที่เช่าเหมือนที่แรก และได้การรับรองมาตรฐาน “Nexcenter” จากโครงสร้างอาคารที่ออกแบบมาเพื่อให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์โดยเฉพาะ มีระบบรองรับแผ่นดินไหว น้ำท่วม และปัญหาไฟฟ้า รวมถึงมาตรฐาน PCI DSS ปัจจุบัน เพิ่งปิดเฟส 2 มีลูกค้าเข้ามาใช้แล้วกว่า 2,000 ตร.ม. และกำลังจะเริ่มต้นเฟส 3อีก 1,000 ตร.ม. จากพื้นที่ทั้งหมด 5,000 ตร.ม. คาดว่าจะเต็มภายใน 5 ปี

สำหรับภาพรวมธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ คาดว่ายังโตต่อเนื่อง 30% ต่อปี เนื่องจากเห็นความต้องการที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสัดส่วนลูกค้าของเอ็นทีทีเดิมกว่า 80% เป็นองค์กรธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่นที่ขยายสาขาในไทย ปัจจุบันลดลงเหลือ 60% มีลูกค้าเป็นองค์กรในไทยโตขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปีนี้ ปีหน้า จะมีดาต้าเซ็นเตอร์เปิดอีกจำนวนมากซึ่งบริษัทเน้นตลาดระดับกลาง-บน และภาคเอกชนเป็นหลัก เพราะกฎหมายยังไม่เอื้อให้ภาครัฐใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ภายนอก


“ไอดีซีประเมินว่า ในไทยมีองค์กร 40% ที่ทำดาต้าเซ็นเตอร์เอง ต่างจากตลาดโลกที่พยายามผลักดันไปทางการใช้บริการภายนอกมากกว่า แต่ดีมานด์ตลาดในไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าจะโต 2 ดิจิตขึ้นไป จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เราคิดว่ามีความต้องการเป็นกลุ่มปิโตรเคมี แต่ยังไม่เห็นทิศทางชัดเจน เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่จะทำดาต้าเซ็นเตอร์เอง อีกกลุ่มเป็นไอทีเซอร์วิส เช่น คลาวด์โพรไวเดอร์ และออนไลน์ช็อปปิ้ง เป็นต้น”