รื้อค่าบริการมือถือใหม่เรตเดียวทุกคลื่น

กสทช.รื้อเพดานค่าบริการมือถือใหม่ ราคาเดียวทุกย่านคลื่น ย้ำทุกแพ็กเกจทุกค่าย ค่าโทร.ตามโปรฯ ต้องไม่เกิน 57 สตางค์ ส่วนเกินโปรฯห้ามแพงกว่า 90 สตางค์/นาที แถมต้องมีอย่างน้อย 1 โปรฯสำหรับผู้มีรายได้น้อย 244 บาท/เดือน ฟากค่ายมือถือโอด กำไรหดกระทบลงทุน จี้กำกับค่า IC ดีกว่า

รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เตรียมออกประกาศการกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ เพื่อให้ค่าบริการอยู่ในอัตราที่เป็นธรรมและผู้บริโภคเข้าใจง่าย หลังจากก่อนนี้ กสทช.ได้กำกับโดยระบุไว้แนบท้ายใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ ทำให้ค่าบริการแต่ละย่านคลื่นแตกต่างกัน

“กำลังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นสาธารณะ คาดว่าอีกราว 3 เดือนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ และทำให้การกำหนดค่าบริการทั้งค่าโทร. ค่าอินเทอร์เน็ต SMS (ค่าบริการข้อความสั้น) ต้องเป็นอัตราเดียวกัน ไม่ว่าผู้บริโภคจะใช้งานบนคลื่นความถี่ใด”

โดยโครงสร้างการกำกับดูแลจะมี 2 ส่วนคือ อัตราค่าบริการตามสิทธิการใช้งานที่ผู้บริโภคเลือกใช้ “ทุกแพ็กเกจ” ค่าโทร.ต้องไม่เกิน 0.57 บาทต่อนาที ค่า SMS ไม่เกิน 0.88 บาทต่อข้อความ บริการ MMS (ข้อความมัลติมีเดีย) ไม่เกิน 2.05 บาทต่อข้อความ บริการอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.14 บาทต่อเมกะไบต์

ส่วนค่าบริการ “ที่เกินกว่าแพ็กเกจ” ค่าโทร.ต้องไม่เกิน 0.90 บาทต่อนาที SMS ไม่เกิน 1.50 บาทต่อข้อความ MMS ไม่เกิน 2.50 บาทต่อข้อความ อินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.50 บาทต่อเมกะไบต์

นอกจากนี้ผู้รับใบอนุญาตทุกรายต้องมีอย่างน้อย 1 แพ็กเกจที่ราคาเริ่มต้นไม่เกิน 244 บาทต่อเดือน สำหรับลูกค้าประเภทจ่ายรายเดือน (postpaid) ส่วนลูกค้าเติมเงิน (prepaid) ต้องมีค่าโทร.ไม่เกิน 0.0108 บาทต่อวินาที SMS ไม่เกิน 1.05 บาทต่อข้อความ MMS ไม่เกิน 2.56 บาทต่อข้อความ อินเทอร์เน็ตไม่เกิน 0.00016 ต่อกิโลไบต์

ด้าน นายสุเทพ เตมานุวัตร์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การกำกับอัตราค่าบริการ ควรพิจารณาจากต้นทุนของโอเปอเรเตอร์ ที่รายงานให้ กสทช.อยู่แล้ว จึงควรนำมาคำนวณเพื่อให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสมกว่านี้ เนื่องจากค่ายมือถือมีต้นทุนค่าประมูลคลื่นสูงมาก อัตราที่กำหนดจึงยังไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ

ขณะที่ นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
(ดีแทค) กล่าวว่า ในการตัดสินใจเข้าร่วมประมูลคลื่นครั้งล่าสุดของดีแทค อยู่บนพื้นฐานของการกำหนดอัตราค่าโทร.ไม่เกิน 69 สตางค์ต่อนาที และจะอยู่ในอัตรานี้ไปอีกระยะหนึ่ง จึงได้รับผลกระทบจากการปรับเพดานค่าบริการขั้นสูง ขณะที่การจะก้าวสู่เทคโนโลยี 5G ยังต้องใช้เงินลงทุนอีกมาก จึงอยากให้ กสทช.พิจารณาให้รอบคอบ

“ถ้าผู้ประกอบการไม่ได้มีรายได้และกำไรพอสมควรก็จะลงทุนใหม่ค่อนข้างยาก ขณะที่ในตลาดไทยเชื่อว่ามีการแข่งขันกันสูงอยู่แล้ว และอยากให้พิจารณาที่ต้นทุนค่าคลื่นกับอัตราค่าบริการของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศว่าอยู่ในจุดไหน ซึ่งเชื่อว่า ไม่ได้แพง”

ขณะเดียวกันในต่างประเทศจะปล่อยให้กลไกตลาดจัดการ และเลิกกำกับที่อัตราค้าปลีกแล้ว แต่จะมุ่งกำกับที่อัตราค่าบริการขายส่ง โดยเฉพาะค่า IC (เชื่อมต่อโครงข่าย) แทน รวมถึงพิจารณาจากต้นทุนที่เหมาะสม

“ค่า IC ที่กำหนดตอนนี้คือ 19 สตางค์ต่อนาที และเลยเวลาที่ต้องทบทวนมาเป็นปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการปรับปรุง ซึ่งอัตรานี้ทำให้รายเล็กอยู่ยาก กสทช.ควรเริ่มกำกับที่ค่า IC ก่อน”