“รีคัลท์” ลุยโจทย์ใหญ่ประเทศ ทลายกำแพง “ข้อมูล” ยกระดับเกษตรกร

อุกฤษ อุณหเลขกะ
สัมภาษณ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เกษตรกร” เป็นหัวใจสำคัญของประเทศที่ยังต้องเผชิญสารพัดปัญหา ทุกนโยบายของพรรคการเมืองและทุกรัฐบาล พุ่งไปที่การแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ขณะที่ “สตาร์ตอัพ” ทั้งหลายก็มุ่งที่จะคิดนวัตกรรม “แก้ปัญหา” จึงเป็นจุดบรรจบกันของ “รีคัลท์ : Ricult” สตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่ได้รับเงินทุนจากมูลนิธิ Bill & Melinda Gates

“ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “อุกฤษ อุณหเลขกะ” ผู้ก่อตั้ง ที่โปรไฟล์เยี่ยมทั้งปริญญาโทวิศวะจาก MIT อดีตที่ปรึกษา Accenture สำนักงานบอสตัน, วิศวกรซอฟต์แวร์ Cisco ซิลิคอนวัลเลย์

“เข้าไม่ถึงข้อมูล” ต้นตอเหลื่อมล้ำ

ผู้ก่อตั้ง “Ricult” มองว่า สตาร์ตอัพไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้คนมีเงินเท่านั้น เมื่อการเกษตรคือ 40% ของรายได้ประเทศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยก็สูงติดอันดับโลก ดังนั้น ถ้าช่วยเกษตรกรได้ก็สร้างอิมแพ็กต์ให้ประเทศได้ จึงเกิดเป็นรีคัลท์ และแอปพลิเคชั่น “ฟาร์มเมอร์อินโฟ” (Farmer Info) ที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรกว่าปีครึ่งเพื่อเรียนรู้ปัญหา แล้วก็พบว่า ต้นตอปัญหาทั้งหมดมาจาก “การเข้าถึงข้อมูล”

“การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่รู้จะผลิตอะไร ไม่รู้จะขายใคร แม้จะฟังดูแยกกันแต่ทุกอย่างมีต้นตอเดียวกัน จึงสร้างเทคโนโลยีที่ใช้ลูกค้าเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้แอปใช้ง่าย มีแมชีนเลิร์นนิ่งวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อแนะนำเกษตรกรตั้งแต่การหว่านเมล็ด การใส่ปุ๋ย ว่าต้องทำอะไรเมื่อไหร่ ขายให้ใคร ที่ผ่านมาเขาใช้ประสบการณ์ล้วน ๆ แต่สภาพอากาศเวลานี้เปลี่ยนไปเยอะ จึงเอาข้อมูลมาช่วยตัดสินใจ ดูข้อมูลลงลึกได้เป็นรายชั่วโมงและล่วงหน้า 9 เดือน ใช้ดาวเทียมดูแปลงเกษตรได้ว่ามีปัญหาตรงไหน รวมถึงรู้แหล่งเงินกู้ ทางธนาคารก็มีข้อมูลประเมินความเสี่ยงเกษตรกรได้”

ขณะที่การชักจูงให้เริ่มใช้ไม่ยากเลย เพราะเกษตรกรต้องการเรียนรู้ อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นอยู่แล้ว 20% จะกล้าลองใช้ ที่เหลือคือรอดูคนอื่นก่อนว่าดีไหม

ข้อดีของชุมชนคือ “ปากต่อปากเร็วมาก” ถ้าใช้ดีพร้อมบอกต่อ จึงมุ่งไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกรก่อน เริ่มเข้าไปให้ความรู้ตามโรงเรียนเพื่อให้กลับไปแนะนำผู้ปกครองที่บ้าน

เฉลี่ยรายได้เพิ่ม 50%

โดยหลังจากเปิดให้บริการ 2 เดือน มียอดดาวน์โหลด 2 หมื่นครั้ง แต่มีเกษตรกรที่นำร่องใช้จริงจังพันกว่าราย เฉลี่ยช่วยเพิ่มรายได้ให้ 50% แต่ถ้านำไปปรับใช้ทั้ง value chain จะเพิ่มได้ถึง 70-80% ซึ่งปรับใช้ได้กับทุกพืช แต่ที่ครบทั้งวงจรคำแนะนำคือ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งถ้าทำตามแอปเป๊ะ ๆ เชื่อว่าเพิ่มผลผลิตได้ 100%

“แต่เราไม่ได้หวังเงินจากเกษตรกร หลัก ๆ เป็นฐานข้อมูลให้ธนาคารและโรงงานเกษตรหรือภาคเอกชนที่ต้องการทำ CSR หรือนำไปประเมินความเสี่ยง ตอนนี้ที่เริ่มร่วมมือกันแล้วคือ ถ้าลูกค้าแบงก์ใช้ Ricult จะลดดอกเบี้ยให้ได้หรือไม่ถ้ามีรายได้เพิ่ม หรือมีประกันพืชผล แล้วก็มีโมเดลที่ทำกับองค์กร คือ ซื้อให้เกษตรกรใช้ฟรี อย่างอุตสาหกรรมน้ำตาล แป้ง ธุรกิจเขาขึ้นอยู่กับซัพพลายของเกษตรกร ซึ่งถ้าดูข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ฯจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ ๆ อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรเยอะมาก”

เทคโนโลยีเปลี่ยนชุมชน

เป้าหมายของ Ricult คือเข้าถึงเกษตรกรให้ได้หลักแสนคน จากทั่วประเทศ 20 ล้านคน โดยเชื่อว่าปีต่อไปก็ยิ่งโตจากกระแส “ปากต่อปาก” ที่รวดเร็ว และอยากจะตั้งสำนักงานประจำแต่ละภาค นำเทคโนโลยีไปเปลี่ยนแปลงชุมชน แต่ Ricult ก็ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองด้วย ไม่ใช่พึ่งเงินระดมทุนอย่างเดียว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทุน 3-4 ราย จาก 2 รอบที่เปิดรวมกว่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้ไปกับการขยายทีมให้ทั่วประเทศ และปัจจุบันบุกตลาดปากีสถานแล้ว ปีหน้าเตรียมไปเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งมีปัญหาคล้ายกัน

“แม้จะวางตัวเป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่ทำงานแบบสตาร์ตอัพ ไม่ได้ต้องการกำไร แต่ก็ไม่อยากขาดทุน ก็ต้องหาพันธมิตรเพิ่ม จากที่มีโรงงานมันสำปะหลัง ดีแทค ธ.ก.ส. อย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะนำเรื่องการออมเงินและการลงทุนมาใส่ในแอป รวมถึงขยายไปอีคอมเมิร์ซ เช่น ขายปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ผ่านแพลตฟอร์ม”

แก้ปัญหา “น้ำ” ทางออกยั่งยืน

ขณะที่ “ชลประทาน” คือปัญหาใหญ่ของเกษตรกรที่พบ เชื่อว่าถ้ารัฐบาลใดเข้ามาแก้ปัญหาน้ำได้จะได้ใจเกษตรกรเยอะมาก

“เกษตรกรอาจจะไม่ได้ต้องการรถไฟความเร็วสูง แต่ต้องการทางน้ำที่ตัดผ่านเข้ามาพื้นที่ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการปล่อยเงินกู้ให้สร้างที่เก็บน้ำในพื้นที่ประจำหมู่บ้าน อย่างข้าวโพดใช้เวลาปลูก 4 เดือน แต่ทั้งปีปลูกได้แค่หน้าฝน ดังนั้น ต้องเสียเวลาเปล่า ๆ ไป 8 เดือน แต่ถ้ามีแหล่งน้ำจะเพิ่มรายได้เป็น 3 เท่า ที่ Ricult ทำได้คือให้ความรู้การปลูกพืชอื่นเสริมทดแทนในช่วงนั้น”

“เกษตร” ทำเงินหลายหมื่นล้าน

เงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเกษตรมีหลายหมื่นล้านบาท แต่ “ยาก” เพราะรายละเอียดเยอะ ตั้งแต่การเพาะปลูก จนถึงการรับซื้อ การปล่อยกู้ ซึ่งสังคมต่างจังหวัด “ไม่ค่อยบันทึกข้อมูล” การลงพื้นที่ก่อน ๆ นี้ ก็เป็นการศึกษา-ออกแบบ คิดแบบ “คนเมือง”

“องค์ความรู้หายาก กว่าจะฟอร์มทีมก็ยาก ถ้าง่าย คงมีคนทำเยอะแล้ว แต่มีโอกาสเยอะ ลูกค้าเยอะ เงินหมุนมากกว่าธุรกิจสั่งอาหารในกรุงเทพฯอีก แต่ต้องเป็นคนเก่งที่อึด พร้อมคลุกคลีกับเกษตรกร ซึ่งก็ยังมีอีกหลายมุมที่เข้าไปช่วยได้ อย่างเพียวเกษตร เช่น ทำพันธุ์ข้าวโพดใหม่ การแปรรูป ส่งออก”

3 เสาหลักประเทศ

ภาคการเกษตร การศึกษา สาธารณสุข เป็น 3 เสาในการพัฒนาประเทศ แต่คนรุ่นใหม่มักจะมองข้าม และมีเรื่องกฎหมายและอีกหลายอย่างที่เป็นอุปสรรค

“จริง ๆ สตาร์ตอัพมันยากมาก ไม่ได้สวยหรู และสตาร์ตอัพไม่จำเป็นต้องทำกำไรอย่างเดียวก็ได้ ปัญหาสังคมไม่ต้องรอภาครัฐ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ บางอย่างอยากให้มองในมุมของประเทศเป็นหลักไม่ใช่แค่แก้ปัญหาให้คนเมือง เพราะมันเป็นแค่การแก้ปัญหาของคนมีเงิน”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!