สังคม “สุข” สูงวัยไฮเทค AI-Smart Pod อัพคุณภาพชีวิต

13 เมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ทั้งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ตั้งแต่ปี 2561 ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุ : Aged Society” แล้วโดยมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 65ปี ถึง 11.7% ทั้งคาดว่าไม่เกินปี 2571 จะขยับไปถึงถึง 17.3% จนกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ : Completely Aged”

“การพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย “ประชาชาติธุรกิจ” รวมงานวิจัยชิ้นเด่นมานำเสนอ

“Health Smile” AI เช็กสุขภาพ

ประเดิมด้วยผลงานที่คว้ารางวัล Creator Awards จากเวที “เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ 2019” โดยซีพี ออลล์อย่าง “Health Smile” โปรแกรมตรวจสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) ช่วยให้การตรวจสุขภาพประจำปีเจาะจงกับความเสี่ยงเฉพาะคนได้

“นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง “เฮลท์สไมล์” เปิดเผยว่า เฮลท์สไมล์ ใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ผู้รับบริการแต่ละคนให้สามารถเลือกแพ็กเกจการตรวจสุขภาพได้เหมาะกับความเสี่ยงของตนเอง

“การตรวจสุขภาพประจำปี แพ็กเกจมักแบ่งตามช่วงอายุ-เพศ ทั้งที่ความเสี่ยงแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน หลายครั้งถูกตรวจเยอะเกินจำเป็น บางรายก็ตรวจไม่ครบ ที่สำคัญแม้ผลตรวจจะปกติก็อาจเป็นเพราะไม่ได้ตรวจในสิ่งที่คุณเสี่ยงจะผิดปกติก็ได้”

วิธีการทำงานของ Health Smile จะให้ลูกค้ากรอกข้อมูลส่วนตัว ตอบคำถามต่าง ๆ ประมาณ 80 ข้อ ใช้เวลา 8-10 นาที AI จะวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเลือกรายการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงของแต่ละคน และหากต้องการตรวจตามรายการที่วิเคราะห์ ก็จะมีบริการส่งพยาบาลไปตรวจให้ถึงที่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

หลังเริ่มเปิดบริการตั้งแต่ พ.ย. 2560 มีผู้ใช้บริการ 5% ที่พบความผิดปกติจากการตรวจนอกเหนือแพ็กเกจทั่วไป

“ยังแฮปปี้” ช่วยไม่เหงา

“ณฎา ตันสวัสดิ์” กรรมการฝ่ายบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไอเพย์ อิท ฟอร์เวิร์ด จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Younghappy เปิดเผยว่า ตั้งเป้าหมายจะสร้างสังคมความสุขของคนผู้สูงวัยด้วยคอมมิวนิตี้ออนไลน์เนื่องจากผลสำรวจข้อมูลพบว่า ผู้สูงอายุหลังเกษียณ 80% เป็น active senior ไม่ได้มีปัญหาเรื่องโรค ยังแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่มีภาวะความเครียด ความเหงา รู้สึกด้อยคุณค่า “Younghappy จึงจะดึงผู้สูงอายุกลับมาสู่สังคมเพื่อให้ active และยังแฮปปี้ได้นานที่สุด”

ผ่าน 3 ฟังก์ชั่นใหญ่ ๆ คือ 1.”การจัดกิจกรรมอีเวนต์” ที่เป็น family friendly ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี สอนให้ใช้โซเชียลมีเดีย สอนตัดต่อวิดีโอ

2.”content” มีแมกาซีนออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ เนื้อหาแนวไลฟ์สไตล์ สุขภาพ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี แรงบันดาลใจ

และ 3.”ห้องสนทนา” คล้าย การตั้งกระทู้พันทิป พูดคุยกันได้เหมือนมีคอมมิวนิตี้ใหม่ ๆ ทำให้สนุก รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ และกลับมาสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งวางแผนจะสร้าง commerce social media ของตัวเองให้เป็นเหมือนตลาดนัดค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดแอปไว้ที่ 100,000 ดาวน์โหลด

“โฟกัสกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหามากกว่าในชนบทที่อยู่กันแบบสังคมใกล้ชิดกัน มีคอมมิวนิตี้ในแบบของตัวเองอยู่แล้ว แต่เมืองใหญ่มักจะต่างคนต่างอยู่ เชื่อว่าถ้าเราสร้างเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่าย เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ น่าจะช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น”

“TidTam” เพื่อผู้ป่วยพาร์กินสัน

ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้พัฒนานวัตกรรมช่วยดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน “Elder Smart Pod : TidTam” อุปกรณ์สวมใส่ที่ข้อมือหรือส่วนอื่น มีขนาดเล็ก พกพาง่าย เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน เหมาะกับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

หลักการทำงานสำคัญ คือ ตรวจจับท่าทางเพื่อวิเคราะห์ภาวะการเกิดโรคพาร์กินสัน เมื่อผู้ป่วยมีอาการสั่น เกร็ง อุปกรณ์มีอัลกอริทึ่มตรวจจับจะส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชั่นของผู้ดูแลทันที อีกทั้งมีปุ่มกดขอความช่วยเหลือในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติ นอกจากนี้ สำหรับกรณีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระบบสามารถใช้เป็นเครื่องติดตามตำแหน่งของผู้ป่วยเมื่อออกนอกบริเวณที่กำหนด ช่วยเฝ้าระวังการสูญหาย

TidTam ถูกออกแบบภายใต้หลักการอยู่อาศัยแบบอัจฉริยะ สามารถทำควบคู่กับโครงการ Smart City ให้กับชุมชนระดับท้องถิ่น ทั้งยังใช้พลังงานต่ำ จึงใช้งานได้นาน โดยอาศัยโครงข่าย “LoRa network” ที่กระจายสัญญาณได้ไกลและใช้พลังงานน้อย

“TidTam เป็นต้นแบบนวัตกรรมที่พร้อมใช้งานได้ เป็น wearable ที่สามารถติดตามพิกัด จึงประยุกต์ใช้กับบุตรหลานเพื่อให้รู้ว่าอยู่ที่ไหน ส่วนการนำมาใช้ในทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันและอัลไซเมอร์ กำลังอยู่ในขั้นตอนการหารือกับทางการแพทย์เพื่อกำหนดขอบเขตที่แน่ชัดในอาการของโรค เพราะเมื่อทำให้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กับมนุษย์จะมีความละเอียดอ่อน ต้องมีการทดสอบ วิจัยอีกระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยได้ดี”