ยืดจ่ายคลื่นพ่วง 5G ฉลุย ทีวีดิจิทัลแห่คืนช่อง

ในที่สุด ม.44 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 11 เม.ย.ที่ผ่านมาจนได้

หลังจากสำนักงาน “กสทช.” โดยเลขาธิการ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ผลักดันอยู่พักใหญ่เริ่มตั้งแต่ ธ.ค. 2560 และมีการเรียกประชุมร่วมกันระหว่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับตัวแทน 3 ค่ายมือถือ และ กสทช. รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

หลายต่อหลายรอบ แต่ก็มีเหตุให้สะดุดหยุดเงียบหายไป โดยเฉพาะเมื่อ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ท้วงติงว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน เป็นการสร้าง “นิทาน” ของ กสทช. ที่พยายามผูกเรื่องการ “อุ้ม” ค่ายมือถือเข้ากับการประมูล 5G เป็นภาคต่อของ “นิทาน” ที่พยายามกับการช่วยเหลือทีวีดิจิทัล

ยืดจ่ายค่าคลื่น 10 งวด

สำหรับสาระสำคัญของคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 ระบุว่า เพื่อให้การประกอบกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและการรับรู้ข่าวสารของประชาชน อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่น จูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลคลื่นย่าน 700 MHz และ 2600 MHz ที่จะช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมั่นคง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จาก กสทช. ที่ไม่สามารถชำระเงินค่าประมูลตามกำหนดเวลาเดิมได้ ยื่นหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วันนับแต่คำสั่งนี้มีผลบังคับ เพื่อขอแบ่งชำระเงินประมูลออกเป็น 10 งวดแทน ซึ่งก่อนหน้านี้ค่ายมือถือทั้งหลายพยายามเรียกร้องมาตลอด โดย “เอไอเอส-ทรู” ต้องจ่ายงวดสุดท้ายในเดือน มี.ค. 2563 เป็นเงินก้อนโต ได้แก่ เอไอเอส 59,574 ล้านบาท ทรู 60,218 ล้านบาท ขณะที่ดีแทคจ่ายงวดสุดท้ายในปี 2565 เป็นเงิน 30,024 ล้านบาท แต่ก็เข้าร่วมยื่นข้อเสนอให้ทางรัฐบาลพิจารณาเช่นกัน

สำหรับงวดจ่ายเงินตามคำสั่ง คสช. ล่าสุดจะนำเงินประมูลคลื่นทั้งหมดที่แต่ละค่ายเคาะราคาไว้ แบ่งเป็น 10 งวดเท่า ๆ กัน (งวดละ 1 ปี) โดยให้ปีที่ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นได้ นับเป็นงวดแรก

บังคับเข้าประมูล 700 MHz

ดังนั้น “เอไอเอส” จะได้คำนวณค่างวดใหม่จากเงินประมูลทั้งหมด 75,654 ล้านบาท ส่วน “ทรู” จะอยู่ที่ 76,298 ล้านบาท หาร 10 งวด ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2569 ขณะที่ “ดีแทค” จะอยู่ที่ 38,064 ล้านบาท แบ่งจ่าย 10 งวด ตั้งแต่ปี 2561-2571แต่ในประกาศนี้มีเงื่อนไขสำคัญ คือ บรรดาค่ายมือถือที่ขอยืดเวลาจ่ายเงินประมูลทั้งหมด จะต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ที่สำนักงาน กสทช.จัดขึ้นด้วย เนื่องจาก กสทช.จะนำเงินส่วนนี้ไปเยียวยาช่องทีวีดิจิทัล มิฉะนั้นจะถือว่าผิดเงื่อนไข และต้องชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ตามเงื่อนไขการประมูลเดิม

โดยเลขาธิการ กสทช.ได้ขีดเส้นไว้ว่า จะจัดประมูลคลื่น 700 MHz ให้ทันภายใน มิ.ย.นี้ และจะรีเซตการตั้งราคาเริ่มต้นการประมูลใหม่ทั้งหมดเป็นที่สังเกตว่าก่อนหน้านี้ ค่ายมือถือรวมถึงเลขาธิการ กสทช.เคยระบุว่า หากได้ยืดเวลายินดีจะจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5%) แต่สุดท้ายในตามคำสั่งฉบับนี้ไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยใด ๆ มีแต่การกำหนดให้ต้องจ่ายค่าปรับเป็นผลคูณของจำนวนเงินที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ย 15% คำนวณเป็นรายวัน

เปิดทางทีวีดิจิทัล “คืนช่อง”

ที่สำคัญ คือ เปิดทางให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” โดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช.ภายใน 30 วันได้ แถมให้สำนักงาน กสทช.พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวด้วย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นที่ได้ชำระแล้ว เรียกว่าได้คืนช่องสมใจ แล้วยังอาจได้เงินชดเชยนิดหน่อย ซึ่งเลขาธิการ กสทช.ระบุว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณา แต่ไม่ใช่ว่าทุกช่องจะได้เงินประมูลที่จ่ายไปแล้วคืนครบทั้งหมด โดยคาดว่าน่าจะมี 4-5 รายคืนใบอนุญาต

สำหรับช่องทีวีดิจิทัลที่ยังดำเนินการต่อ ไม่ต้องจ่ายเงินประมูลคลื่นในส่วนที่เหลือด้วย และ กสทช.จ่ายค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ให้แทน จนถึงวันสิ้นสุดการได้รับใบอนุญาต

TDRI ตีแสกหน้า 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI แสดงความคิดเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คำสั่ง คสช.มีความซับซ้อนในการกำหนดเงื่อนไข แต่ผลกระทบที่สร้างความเสียหายสำคัญ คือ ต่อไปนี้การเข้าประมูล เข้าทำสัญญากับภาครัฐ จะไม่มีความ “น่าเชื่อถือ และความแน่นอน” อีกต่อไป

“การอุ้มผู้ประกอบการ ความเสียหายที่เป็นเม็ดเงินจากค่าประมูลคลื่น เป็นความเสียหายที่จับต้องได้และเห็นมูลค่าชัดเจน”

ขณะที่การผูกเงื่อนไขการยืดเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz โดยให้ค่ายมือถือต้องเข้าประมูลคลื่น 700 MHz ที่ กสทช.จะจัดขึ้นนั้น ดร.สมเกียรติระบุว่า ดูเผิน ๆ เหมือนการบังคับเอกชน แต่จริง ๆ แล้วเป็นการรับประกันว่า ค่ายมือถือจะมีคลื่น 5G แน่นอน

หุ้นเด้งรับกระแสข่าว

ประธาน TDRI ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในช่วงนี้มีการปล่อยข่าวเกี่ยวกับคำสั่งนี้ จนทำให้หุ้นของค่ายมือถือปรับตัวสูงขึ้นทันที ซึ่งชี้ชัดเจนอย่างไม่มีข้อสงสัยว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสามจะได้ประโยชน์ ซึ่งตรงกันข้ามกับความพยายามก่อนหน้านี้ของคนในภาครัฐที่บอกว่า มาตรการนี้ไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน

“มองว่า ทั้งสามบริษัทจะได้ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน แม้หนี้ก้อนสุดท้ายไม่เท่ากัน แต่การปรับระยะเวลาในการยืดหนี้ที่แตกต่างกันก็ทำให้สุดท้ายได้ตัวเลขเท่า ๆ กัน คือแต่ละรายได้ผลประโยชน์ไปประมาณ 8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกันอย่างน่ามหัศจรรย์”

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ผู้เสียเปรียบจากคำสั่งนี้ คือ “ประชาชนผู้เสียภาษี” ส่วนข้ออ้าง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าประมูลคลื่น 5G ก็เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมและความจำเป็นต้องประมูลคลื่น 5G ในปีนี้

ชี้รัฐบาลขาดความรับผิดชอบ

ถือว่ารัฐบาลขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง ทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง ในทางกฎหมาย การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 จะทำให้ คสช. และรัฐบาลพ้นความรับผิดทางกฎหมาย ประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลได้ ส่วนในทางการเมือง การดำเนินการในช่วงหลังเลือกตั้งทำให้ไม่ถูกคู่แข่งโจมตีในการเลือกตั้งว่า เอื้อประโยชน์ให้นายทุน และการดำเนินการในช่วงก่อนสงกรานต์ ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อย เพราะเป็นวันหยุดยาว

หากรัฐบาลและ คสช.ซึ่งมาจากการยึดอำนาจ และกล่าวหารัฐบาลก่อนหน้านี้ว่าทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องออกคำสั่งใช้มาตรการพิเศษ เพื่อทำเรื่องที่ไม่จำเป็น สร้างความเสียหายต่อประชาชน และทำลายความน่าเชื่อถือในการทำสัญญากับภาครัฐ

ส่วนการเปิดทางให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนช่องได้นั้น ไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรม แต่เป็นการช่วยผู้ประกอบการแค่บางรายที่ไปไม่ไหว ไม่ได้มีผลต่ออุตสาหกรรม

คืนช่อง-คนทีวีระส่ำ

นายนวมินทร์ ประสพเนตร ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) กล่าวว่า ช่อง “MONO 29” คงไม่คืนใบอนุญาต เพราะอยู่ในกลุ่มเรตติ้ง Top 3 แต่มองว่าผู้ประกอบการที่มีช่องทีวีมากกว่า 1 ช่อง และกลุ่มช่องที่มีเรตติ้ง 5 อันดับท้าย น่าจะมีการขอคืนช่อง

“การขอคืนช่องไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม หรือช่องทีวีที่เหลือ เพราะช่องที่คืนคือช่องที่ไปไม่ไหวแล้ว ไม่ได้มีเม็ดเงินโฆษณาที่จะไหลไปที่ช่องที่ยังเหลือได้ แต่ที่น่าจับตาคือเมื่อช่องต้องปิด พนักงานก็จะตกงาน ซึ่งอาจจะมีหลายร้อยคน ช่องทีวีมองว่า น่าจะอยู่รอดได้ราว 10 ช่อง”

ส่วนการสนับสนุนค่า MUX ตลอดไลเซนส์ ถือเป็นข้อดีที่สุดของคำสั่งนี้ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการมีเงินลงทุนกับคอนเทนต์ดี ๆ มากขึ้น

อานิสงส์ไม่ต้องคืนเงิน กทปส.

ตอนท้ายของคำสั่ง คสช.ฉบับนี้ได้ระบุด้วยว่า เงินที่กระทรวงการคลังขอยืมไปจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของ กสทช. ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 26 พ.ค. 2558 14,300 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทยอยคืนแล้วบางส่วน เมื่อคำสั่ง คสช.นี้มีผลบังคับใช้ กระทรวงการคลัง “ไม่ต้องคืน” ส่วนที่เหลือ ซึ่งมีราว 9,700 ล้านบาท

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่… เปิดท่าที “ค่ายมือถือ” หลังคลอด “ม.44” ปูทางสู่ 5G

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!