ไปดู “ยูนิคอร์น” ที่อินโดนีเซีย ทำไมมีตั้ง 4 ตัว

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมได้พาคนไทยมาเยี่ยมชมบริษัทสตาร์ตอัพอันดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ ที่อินโดนีเซีย คือ Traveloka สตาร์ตอัพท่องเที่ยว ที่เป็นยูนิคอร์นเรียบร้อยแล้ว ถัดมา Bukalapak สตาร์ตอัพอีคอมเมิร์ซที่เน้นเรื่องท้องถิ่น ซึ่งโตมาก
ยูนิคอร์นตัวที่สาม คือ Tokopedia เป็นสตาร์ตอัพอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของที่นี่ และ Go-Jek สตาร์ตอัพให้บริการเรียกรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์อินโดนีเซียวันนี้เปลี่ยนไปเยอะมากจากเมื่อ 3 ปีก่อน การมาครั้งนี้ ทำให้เข้าใจว่าทำไมนักลงทุนถึงอยากมาลงทุนที่อินโดนีเซียกันมาก นั่นก็เพราะมีโอกาสอันมหาศาล และมีความ early มาก

ผมคิดว่าในอีกไม่เกิน 5 ปี จะนำหน้าไทยแน่นอน และอาจนำอีกหลายประเทศ ด้วยมีนักลงทุนเทเงินเยอะมาก ทั้งประชากร 265 ล้านที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง และยังเป็นประเทศที่มีปัญหาเยอะ ซึ่งในเชิงธุรกิจ ปัญหาเท่ากับ “โอกาส”

สตาร์ตอัพหลายรายเน้นที่การแก้ปัญหาให้คนอินโดนีเซีย และโฟกัสแต่ตลาดอินโดนีเซียเท่านั้น เห็นได้จากยูนิคอร์น 4 ตัวที่มีอยู่ มีเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่ออกไปข้างนอก คือ Traveloka ที่มีสาขาในไทยแล้ว และ Go-Jek ที่มาบ้านเราในชื่อ GET ส่วนที่เหลือบอกว่าจะไม่ออกไปด้วยซ้ำ

สตาร์ตอัพอีคอมเมิร์ซ Bukalapak บอกว่า ไม่ออกไปนอกประเทศ เพราะตลาดอินโดนีเซียใหญ่พอแล้ว ผู้บริหารกลุ่มนี้ มักเป็นคนอินโดนีเซียที่ไปเรียนต่างประเทศ เท่าที่คุยกันมีคำหนึ่ง คือ SEA Turtle (SEA คือ Southeast Asia) จากคำพูดของคนจีนเกี่ยวกับเต่าที่ออกทะเลไป แต่มันจะกลับมาที่ฝั่งอีกครั้ง เปรียบกับคนที่ออกไปเรียนต่างประเทศแล้วกลับมาพัฒนาบ้านเมืองของเขาให้ดีขึ้น

สตาร์ตอัพอินโดนีเซีย รักชาติสูงมาก อย่างวินมอเตอร์ไซค์ จะเป็นสีเขียวไปหมด (ที่นี่มี 2 เจ้า คือ Go-Jek ที่เป็นท้องถิ่น และ Grab ของมาเลเซีย ซึ่งใช้สีเขียวเหมือนกัน) ยิ่ง Go-Jek เสื้อพนักงานจะมีป้ายธงชาติติดอยู่ด้วย เพื่อให้คนอินโดฯเห็นว่า นี่เป็นธุรกิจของประเทศนี้เท่าที่ดูคนที่ทำสตาร์ตอัพใหญ่ ๆ

ส่วนมากมีลักษณะเหมือนกัน คือ 1.เป็นคนที่ไปเรียนต่างประเทศ 2.ส่วนใหญ่จบด้านการเงิน เริ่มทำงานในบริษัทที่ปรึกษา บริษัทด้านการเงิน หรือ investment banker มาก่อนจุดสำคัญ คือ บริการทั้งหมดไม่เน้นเฉพาะแต่คนเมืองเท่านั้น แต่เน้นคนต่างจังหวัดด้วย เพราะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายเรื่องพื้นที่ ต่างจากสตาร์ตอัพของไทยที่โฟกัสเฉพาะคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยเจอบริการที่ทำให้เฉพาะคนต่างจังหวัด

ทริปนี้ผมยังมีโอกาสได้พบกับทูตพาณิชย์ของไทย มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า การจะมาลงทุนที่อินโดนีเซีย ต้องมีคนท้องถิ่นร่วมด้วย รัฐบาลมีส่วนปกป้องธุรกิจท้องถิ่นสูงมาก เช่น Google จะมาตั้งที่อินโดนีเซียได้ ต้องมาตั้ง data center หรือ server ที่เก็บข้อมูลไว้ที่อินโดนีเซียเท่านั้น

ช่วงหนึ่งผมได้พูดคุยกับนักกฎหมาย เรื่องว่าหากจะมาลงทุนในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในธุรกิจเทคโนโลยี ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง หลายธุรกิจ เช่น อีคอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดีย ฯลฯ จะกำหนดว่า บางธุรกิจไม่สามารถถือหุ้นได้เกิน 49% หรือบางธุรกิจได้เพียง 30% แม้จะมีการควบคุมในแต่ละหมวด แต่ก็มีข้อยกเว้นบ้าง หากนำเงินมาลงทุนเกิน 8 ล้านเหรียญ มีสิทธิ์ถือหุ้นได้ 100%

จะเห็นว่าที่นี่มีการปกป้องธุรกิจท้องถิ่นมาก และค่อนข้างกีดกันแบบนิด ๆ ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตได้ และพยายามช่วยเหลือธุรกิจเทคโนโลยีท้องถิ่น จึงพอเดาออกว่าทำไมถึงมียูนิคอร์นถึง 4 บริษัท

เมื่อกลับมาดูบ้านเราก็พอจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมถึงไม่มียูนิคอร์นเลยสักตัว