DeepTech ไทยขาดแคลน แนะปั้น “B2B2C” ลุยอาเซียน

ศักยภาพสตาร์ตอัพไทยยังรุ่ง “เทรนด์สุขภาพ-เกษตร-อาหาร” มาแรง แต่ระดมทุนยากเพราะติดปัญหากฎหมาย แถมยังขาดคน แนะเร่งปฏิรูปการศึกษา พัฒนา DeepTech ปักธงลุยตลาดภูมิภาค ปั้นโมเดล B2B-B2B2C เติบโตได้แน่นอน

นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด เปิดเผยว่า สตาร์ตอัพไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดมีกว่าร้อยบริษัทที่ได้สามารถระดมทุนได้ โดยที่เปิดเผยข้อมูลนั้นมีกว่า 800 บริษัท มูลค่าตั้งแต่ปี 2554-2561 รวมกว่า 337 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเทรนด์ที่มาแรงคือ สตาร์ตอัพด้านสุขภาพ การเกษตร และอาหาร ขณะที่ฟินเทคจะมีลดน้อยลง เหตุเพราะไปแข่งขันกับฟินเทคต่างประเทศได้ยากด้วยข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ

“จริง ๆ คนไทยเก่งเยอะ แต่ถ้าทำฟินเทคมันจะต้องขออนุมัติ ต้องอยู่ในแซนด์บอกซ์ของหน่วยงานกำกับก่อน จึงอาจจะช้า แม้ภาครัฐจะตื่นตัวในการสนับสนุน แต่กฎระเบียบ 2-3 ข้อ ที่เคยหยิบยกขึ้นหารือ เช่น capital gain tax ก็ยังเป็นข้อจำกัด จึงทำให้การระดมทุนในมูลค่าสูง ๆ จะมุ่งไปจดทะเบียนบริษัทที่สิงคโปร์แทน”

ขณะเดียวกัน ด้วยแนวคิดของสตาร์ตอัพที่ไม่ได้โฟกัสที่การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคตั้งแต่แรก ทำให้การระดมทุนในระดับ seed, series A ยังมีไม่กี่ราย และยิ่งมีน้อยลงไปอีกที่สามารถระดับทุนได้ในมูลค่าที่สูงกว่านั้น อย่างเช่น ที่โอมิเซะ, เอคอมเมิร์ซ, ไพรซ์ซ่า ระดมทุนได้

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่นักลงทุนกำลังมองหาคือ DeepTech ทั้งเอไอ บิ๊กดาต้า อย่างเอไอได้กลายเป็น marketing word นักลงทุนมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยดูระบบว่าทำได้จริงไหม ขณะที่สตาร์ตอัพไทยยังไม่มีในส่วนนี้โดยตรง รวมถึงสตาร์ตอัพที่สร้างผลิตภัณฑ์ในระดับ mass

“ถ้าย้อนไปช่วง 2554-2555 มีเยอะ แต่เน้นทำโมบายแอป เพื่อหาลูกค้า B2C แต่คนทั่วไปจ่ายเงินยาก จึงทำตลาดได้ยาก ส่งผลให้สตาร์ตอัพแบบ B2C มีน้อย ต้องถูกจริตคนจริง ๆ เช่น อุ๊คบี ที่อยู่ได้”

ดังนั้น ทางเลือกที่ดีของสตาร์ตอัพไทยคือ หันมาสร้างโมเดลธุรกิจแบบ B2B หรือ B2B2C เช่น “โอมิเซะ” หรือ “วงใน” ที่ทำบริการแบบ B2B2C และหัวใจสำคัญคือต้องมี “data” ที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟให้พาร์ตเนอร์ได้มากพอ เช่น “วงใน” ที่มีข้อมูลร้านอาหารเยอะ จึงหาพาร์ตเนอร์อย่าง “ไลน์แมน” ได้

“ปัญหาอีโคซิสเต็มของสตาร์ตอัพในไทยคือ เรื่องคน โดยเฉพาะเอ็นจิเนียร์, ดาต้าเอ็นจิเนียร์ ที่หายากยิ่งกว่าดาต้าไซเอนซ์ เพราะโดนบริษัทยักษ์ใหญ่รวมถึงต่างชาติมาดึงตัวไป อย่างการให้หุ้นกับพนักงาน กฎหมายไทยยังไม่เปิดช่อง ทั้งระบบการศึกษาไทยยังต้องเปลี่ยนเยอะ เพราะขาดทักษะด้านอินโนเวชั่นครีเอทีฟ ระบบการศึกษาไทยต้องปฏิรูปใหม่หมด เพื่อผลิตบุคลากรให้ทัน เพราะตอนนี้บริษัทใหญ่ ๆ ต้องบินไปจ้างคนเก่ง ๆ จากต่างประเทศกันหมด ขณะที่สตาร์ตอัพไทยก็ไม่มีเงินจ้าง”

นอกจากนี้ เทรนด์สตาร์ตในปัจจุบันจะประสบความสำเร็จได้ต้องจับมือกับองค์กรใหญ่ จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายและเปิดกว้างในการหาโอกาส การจัดงาน Techsauce Global Summit 2019 เพื่อระดมผู้ที่สนใจในวงการนี้มารวมกัน เปิดโอกาสให้องค์กรใหญ่ที่ต้องการ new S-curve กับสตาร์ตอัพได้มาร่วมมือกัน รวมไปถึงการจับมือกันแบบข้ามธุรกิจเพื่อให้หาโอกาสใหม่ ๆ