GBDi บิ๊กดาต้าภาครัฐ สู่เป้าหมายยั่งยืน-โปร่งใส-คุ้มค่า

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะสำเร็จได้ หนึ่งในสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญ คือ “ข้อมูล” โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลเน้นย้ำมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ตั้งสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute : GBDi) ขึ้นเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศ ที่เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data analytics)

“รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล” ผู้อำนวยการ Big Data Experience Center กล่าวว่า GBDi เป็น business unit ภายใต้สังกัดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานและสามารถให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าภาครัฐทั่วไป รวมถึงจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้มากกว่าการเป็นหน่วยงานรัฐปกติโดยฐานการทำงานของ GBDi จะมี 2 เรื่องหลัก คือ “อินฟราสตรักเจอร์” ได้แก่ เนชั่นแนลดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ และบิ๊กดาต้าแพลตฟอร์ม รวมถึงการวางมาตรฐานที่เดิม สพธอ.เป็นผู้ดำเนินการอยู่ เพื่อเป็นการวางกรอบพื้นฐานของประเทศ กับ “การพัฒนาบุคลากร” ให้เพียงพอกับความต้องการของภาครัฐและเอกชน

ข้อมูลรัฐเต็มด้วยปัญหา

“จากการลงมาทำงานเต็มตัวกับภาครัฐเรื่องดาต้าทำให้พบว่า ในหลายภาครัฐยังมีปัญหาเรื่องความถูกต้องแม่นยำ ความครอบคลุมและความทันสมัยของข้อมูล จึงต้องมีการให้ความรู้ในด้านนี้กับหน่วยงานภาครัฐด้วย นอกจากนี้ เมื่อต้องการจะนำข้อมูลจากภาครัฐมาใช้ยังพบปัญหาว่า ไม่รู้ว่าข้อมูลนี้หน่วยงานใดถือดาต้าอะไรอยู่ที่ไหน แล้วขอใช้ได้หรือไม่ มีชั้นความลับหรือไม่ มีรูปแบบการเก็บข้อมูลเป็นดิจิทัลหรือกระดาษ จึงต้องมีการสร้างสมุดหน้าเหลืองของข้อมูลทั้งหมดภาครัฐ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจะเป็นผู้ให้บริการในส่วนนี้ เพื่อสร้างแค็ตตาล็อกที่สำคัญขึ้นมาก่อน และเริ่มทยอยทำให้ครบ”

อีกปัญหาที่พบคือ การตีความกฎหมายว่าเปิดเผยข้อมูลใดได้มากน้อยแค่ไหน บางครั้งหน่วยงานยึดถือว่าเปิดเผยไม่ได้ แต่จริง ๆ ไม่มีกฎหมายห้าม จึงต้องมีหน่วยงานด้านกฎหมายที่จะมาวินิจฉัยให้สอดคล้องกับทั้งกฎหมายของหน่วยงานและตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

พัฒนาคนให้ทำงานได้จริง

แต่งานหลักของ GBDi คือ การพัฒนาคนด้านบิ๊กดาต้า ภายใต้แนวคิดที่จะเป็น experience center ซึ่งอาจไม่ถึงขั้นเป็นสถาบันวิจัย แต่ต้องสร้างคนที่ทำงานได้จริง เป็นการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลได้จริง และมีการสร้างแพลตฟอร์มพัฒนาบุคลากรที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้

“ดาต้าไซเอนทิสต์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลตอบแทนสูงในภาคเอกชน และมีการเปลี่ยนงานบ่อย ซึ่งเป้าหมายของ GBDi คือทำให้เกิดอิมแพ็กต์กับประเทศ ไม่สำคัญว่าคนต้องอยู่กับ GBDi จึงพร้อมจะให้ฟอร์มทีมใหม่ทุก ๆ 2-3 ปี พร้อมเปิดรับนักศึกษาจบใหม่ เพราะงานดาต้าอนาไลติกส์ ต่อให้เรียนเยอะขนาดไหนแต่ไม่เคยลงมือทำก็ไม่เก่ง”

สร้างอีโคซิสเต็ม

ขณะเดียวกันได้เริ่มหารือความร่วมมือเพื่อให้มหาวิทยาลัยเปิดรับดาต้าไซเอนทิสต์จาก GBDi ที่ต้องการความรู้เพิ่มเติมในบางหัวข้อ หรือบางสาขาวิชา เข้าไปเรียนสมทบเพิ่มได้ตามความต้องการ เป็นแบบ nondegree เพราะดาต้าไซเอนทิสต์ต้องมีความรู้ใหม่เมื่อมีโจทย์ใหม่

“ความท้าทายสุดของประเทศตอนนี้ คือ การทำบิ๊กดาต้าภาครัฐที่จะต้องลุยทำกันจริง ๆ จะเป็นที่มาของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจริง ๆ เป็นการสร้างอีโคซิสเต็ม”

และจะมีการนำร่องวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งเริ่มแล้วกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพ และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กับโจทย์การพัฒนาท่องเที่ยวเมืองรอง และอีกหลายโจทย์เพื่อให้เห็นผลจากบิ๊กดาต้า

ทั้งจะทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านดาต้า และแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงการสร้างเครือข่ายที่จะร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำงานร่วมกัน สร้างนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการสนับสนุนด้านเงินทุนสร้างต้นแบบ

พัฒนาอย่างยั่งยืน

“18 เดือนแรกตั้งเป้าว่า ผู้ที่จะมาใช้บริการ GBDi คือ ภาครัฐทั้งหมด และไม่ใช่แค่การจดเลกเชอร์ แต่จะให้ผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานบอกโจทย์ความต้องการพร้อมข้อมูลในมือ เพื่อใช้เป็นการอบรมสร้างคนในองค์กรขึ้นมา เป็นการออกแบบหลักสูตรด้วยดาต้าที่มีและโจทย์ที่อยากใช้ เป็นการลงมือทำจริง ๆ เหมือนการทำวิทยานิพนธ์ และมีอาจารย์เป็นไกด์เป็นที่ปรึกษา”

พร้อมกับเป็นที่ปรึกษาในการเขียนโครงการการลงทุนพัฒนาด้านบิ๊กดาต้าของแต่ละหน่วยงานอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อการพัฒนาดาต้าภาครัฐอย่างยั่งยืน

เป้าหมายระยะยาว คือ มีนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ที่จะทำให้เกิดบริการใหม่ ๆ และที่สำคัญที่สุด คือ เกิดกระบวนงานของภาครัฐที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับความสะดวก เป็นธรรม งบประมาณถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ