ปัญหา 5G อาเซียน ราคา-คลื่น-ยูสเคส

ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดัน 5G เต็มที่ “ซิสโก้” ได้เปิดเผยรายงาน “5G ในอาเซียนจุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กรและผู้บริโภค” พร้อมชี้ว่าประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกที่พร้อมให้บริการ 5G ภายในปี 2564

“ดาร์เมช มัลฮอตรา” กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคม บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ระบุว่า อาเซียนจะลงทุน 5G จนถึงปี 2568 ราว 3 แสนล้านบาท โดยสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย จะเป็นกลุ่มแรกที่เปิดบริการและ 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้ 9-12% ซึ่งการเติบโตในระยะแรกจะมาจากลูกค้าระดับสูงที่มีอุปกรณ์รองรับ และคาดว่าจะมีลูกค้า 5G ในอาเซียนกว่า 200 ล้านราย ซึ่งจำนวนประชากรถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของรายได้โดยหากเปิดให้บริการแบบใช้โครงข่ายร่วมกับโครงข่ายเดิม คาดว่าโอเปอเรเตอร์ต้องใช้เงินลงทุนราว 15-20% ของรายได้ แต่ถ้าสร้างโครงข่ายใหม่ทั้งหมดจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่ม 5 เท่า ซึ่งคาดว่าในช่วง 2-3 ปีแรกจะเป็นการเปิดใช้งานร่วมกับโครงข่ายเดิม

สำหรับประเทศไทย คาดว่าภายในปี 2568 จะมีการใช้งาน 5G ราว 33% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยอาเซียนที่ราว 25-40% คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้โอเปอเรเตอร์ได้ถึง 34,000 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็นรายได้จากผู้บริโภคทั่วไปเติบโต 6-9% เนื่องจากผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 10-15% เพื่อใช้งาน 5G ขณะที่รายได้ลูกค้าองค์กรเติบโต 18-20%

โดยคาดว่าในระยะแรกจะเน้นการให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วมากเพื่อรองรับการสตรีมวิดีโอความละเอียดสูง และคอนเทนต์แบบอินเตอร์แอ็กทีฟ และการทำงานรูปแบบใหม่ เช่น หุ่นยนต์ควบคุมทางไกล, รถยนต์อัตโนมัติรวมถึงมีโมเดลธุรกิจ B2B2X ที่ให้บริการแก่องค์กรธุรกิจ เพื่อนำไปขายบริการให้ผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง

ส่วนปัญหาในอาเซียนจะมี 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. ราคา ที่ควรกำหนดราคาตามการใช้งานจริง ไม่ใช่เหมาจ่ายและควรหลีกเลี่ยงการทำตลาดด้วยสงครามราคา

2. มียูสเคสที่ตอบโจทย์เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีอื่น เช่น LTE, WiFi 6 และเครือข่าย IOT ที่หลากหลาย ยังเป็นคู่แข่งกับ 5G ด้วย

สุดท้าย ปัญหา “ย่านความถี่” ซึ่งทั่วโลกใช้งานอยู่ใน 3 ย่านหลัก ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ (700 MHz), ย่านความถี่กลาง (3.5 ถึง 4.2 GHz) และย่านความถี่สูง บนสเปกตรัม mmWave (24 ถึง 28 GHz)

ในอาเซียน ย่านความถี่เหล่านี้กำลังถูกใช้งานสำหรับบริการอื่น ๆ เช่น ย่านความถี่ต่ำใช้สำหรับฟรีทีวี และย่านความถี่กลางใช้สำหรับบริการดาวเทียม แม้ว่าสเปกตรัม mmWave จะพร้อมใช้งาน แต่ในการติดตั้งระบบจำเป็นที่จะต้องรวมย่านความถี่ต่ำเข้าไว้ด้วย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมเขตชานเมืองและชนบท รวมถึงการเชื่อมต่อภายในอาคาร

“คลื่นช่วงโลว์แบนด์เป็นช่วงที่หลาย ๆ ประเทศในอาเซียนยังไม่เคลียร์ ส่วนไทยแม้ว่าจะมีการประมูล 700 MHz แต่แค่ล็อกละ 15 MHz ขณะการใช้เพื่อ 5G ต้องการที่ 100 MHz ติดกัน ดังนั้น ส่วนนี้ยังเป็นปัญหา สุดท้าย ปัญหาเรื่องคลื่นนั้นต้องกลับมาที่การพิจารณามูลค่าทางเศรษฐกิจและสามารถตอบโจทย์สังคมได้ดีกว่ากันมาเป็นตัวชั่งน้ำหนักว่าควรจัดสรรไปใช้กับอะไร”