กลุ่มทรูปักธงก้าวสู่โกลบอลเพลเยอร์

“ทรูคอร์ป” เตรียมก้าวสู่เพลเยอร์ระดับโลก ประเดิมติดสปีด “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” บุกตลาดเอเชีย พร้อมย้ำ 5G เป็นเทคโนโลยีเลี่ยงไม่ได้ ชี้ภาครัฐควรส่งเสริมให้ต้นทุนไม่สูงเกิน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกของกลุ่มทรู แม้การเติบโตอาจจะดูเหมือนชะลอตัวลงไปบ้าง แต่เป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านสู่การทำกำไร ก่อนจะพลิกกลับในครึ่งปีหลัง จากโครงข่ายบรอดแบนด์ไฟเบอร์ ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และดิจิทัลเซอร์วิสที่ดีขึ้น อาทิ ทรูไอดี, ทรูวอลเลต ซึ่งขยายสู่อาเซียนแล้ว

“ทรูไอดีไปอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แล้ว ส่วนทรูวอลเลตก็ไป 5 ประเทศอาเซียน โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ เราไม่หยุดแค่ในประเทศ แต่ต้องการเป็นโกลบอลเพลเยอร์มากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มสามารถอยู่บนเน็ตเวิร์กได้ทั่วโลก แผนระยะยาว 3-5 ปีตั้งเป้าที่จะกระจายทั้งอาเซียนและเอเชีย”

เมื่อต้นปีได้ลงทุน 24 ล้านเหรียญสหรัฐใน “Crave” สตาร์ตอัพระบบออโตเมชั่นในโรงแรม ซึ่งเป็นเบอร์อันดับ 1 ในอังกฤษ เพื่อรองรับแผนที่จะเจาะตลาดในจีนและยุโรป

สำหรับ 5G ทางทรูคงต้องร่วมประมูลคลื่นเพราะหยุดไม่ได้ แต่ก็หวังว่ารัฐบาลจะช่วยส่งเสริมให้ต้นทุนไม่สูงมากเกินไป เพื่อให้นำเงินทุนไปลงในด้านอื่น ๆ เช่น เน็ตเวิร์ก โดย 5G นั้นจะเข้ามาเปลี่ยนมิติของเทคโนโลยีเยอะ ทั้ง IOT, gaming, entertainment เป็น S-curve ใหม่ เช่น เฮลท์แคร์, สมาร์ทลิฟวิ่ง, สมาร์ทคาร์, สมาร์ทซิตี้ และดิจิทัลคอนเทนต์ อีกสิ่งที่สำคัญ คือ ซีเคียวริตี้

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ไทยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี สตาร์ตอัพ อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ ขณะที่ ซี.พี.ได้เปิดทรู ดิจิทัล พาร์ค และมีคอลลาบอเรชั่นกับกองทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภาครัฐให้การสนับสนุน เช่น BOI, work permit จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าประเทศไทยจริงจัง ซึ่งจะช่วยดึงดูดบุคลากร สตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จมาช่วยแชร์ความรู้ ดึงกองทุนระดับโลกเข้ามาในไทย เกิดเป็นคอมมิวนิตี้ที่ใหญ่

“อีโคซิสเต็มของเราค่อนข้างดี มีอีโคแล็บ มีหัวเว่ย มิตซูบิชิแล็บ มีเทคโนโลยีชั้นนำรวมอยู่ที่นี่ มีบริษัทเฉพาะช่วยในการอินคูเบตสตาร์ตอัพกว่า 50 บริษัท มีคอลลาบอเรชั่นกองทุนอีกกว่า 100 สถาบัน ดังนั้น นี่เป็นจุดศูนย์รวมที่ดี หวังว่าจะเป็นอินโนเวชั่นมาร์เก็ตเพลซ”

สตาร์ตอัพ อีโคซิสเต็มไม่ได้สำคัญแค่กับกลุ่มทรู แต่มองว่าเป็นผลดีต่อประเทศไทยด้วย ทั้งยังตอบสนองภาครัฐที่ต้องการให้เอกชนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

โดยเฉพาะ “human infrastructure” ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางด้านอินโนเวชั่นของประเทศ และของภูมิภาคได้ทั้งหวังว่าจะเป็นผู้เชื่อมโยงหรือให้กำเนิด “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทเกินพันล้านเหรียญสหรัฐ สัญชาติไทย

“ที่ผ่านมาฮับด้านอินโนเวชั่นเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ โดยไพรเวตเซ็กเตอร์ของอาเซียน มองว่าไทยน่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอาเซียนและเชื่อมโยงกับโลกได้”

ปัญหาของไทยในปัจจุบันนี้ คือ สิทธิพิเศษและแรงจูงใจที่จะให้กับสตาร์ตอัพและนักลงทุน กองทุนต่าง ๆ จึงทำให้สตาร์ตอัพไทยไปจดทะเบียนตั้งบริษัทในต่างประเทศแทน หากสามารถแก้ส่วนนี้ได้ไทยจะเหนือกว่าประเทศอื่น เพราะนวัตกรระดับโลกสนใจมาทำงานในไทยเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย”อินเซ็นทีฟเป็นสิ่งเดียวที่ยังขาด ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันต่อ ๆ ไป”