“ไซเบอร์-ข้อมูล”ไร้แนวปฏิบัติ เอกชนหวั่นใจเสี่ยงโทษหนักทั้ง”คุก-ปรับ”

เอกชนกังวล พ.ร.บ. “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้-ข้อมูลส่วนบุคคล” เหตุมีโทษหนักทั้งจำ-ปรับ แต่ฤกษ์คลอด “กม.ลูก” ส่อแววดีเลย์ ฟาก “DES” ยังมั่นใจทุกอย่างเดินตามแผน แม้ผ่าน 90 วันแล้วยังเคาะตั้งบอร์ดไม่ได้

พลเอกบรรเจิด เทียนทองดี คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาครัฐต้องเร่งขับเคลื่อน 2 กฎหมายสำคัญ คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว

“ต้องไม่ให้กระทรวงดิจิทัลฯ ยกร่างกฎหมายอยู่คนเดียว เพราะรัฐไม่ได้เก่งขนาดนั้น จำเป็นต้องเปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม”

“คน” เรื่องสำคัญสุด

ขณะนี้สำนักปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ทำหน้าที่รักษาการตามกฎหมาย ก่อนที่องค์กรใหม่จะตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ฉะนั้นจะต้องวางรากฐานให้ดี ตั้งแต่การคัดกรองคน รวมถึงสร้างกลไกการเรียนรู้และเพิ่มทักษะให้บุคลากร

“คนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการกฎหมาย ทั้งในด้านเทคนิค ด้านอำนวยการ และด้านปฏิบัติการ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้ ฉะนั้น DES ต้องเขียนทิศทางให้ชัดเจนว่าจะไปทางไหน ทำอย่างไร เพื่ออะไร”

สำหรับระบบไอทีของหน่วยงานที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. แต่ยังมีความอ่อนแอมากที่สุด คือ ระบบของหน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากมีความซับซ้อนของงานอย่างมาก จึงจำเป็นจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าใครคือ regulator และเข้าไปช่วยสร้างระบบให้พร้อมรองรับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านไอที

ไร้ กม.ลูก แถมโทษหนัก

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสภาหอการค้าฯก็กำลังรอความชัดเจนในเรื่องแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายใหม่จากภาครัฐ เพื่อที่จะสามารถสื่อสารไปยังเอกชนที่เป็นสมาชิกให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง เหมือนกรณีของภาษี

                         “นี่ยังไม่เห็นรายละเอียดอะไรเลย ก็รออยู่ เอกชนจะทำได้ถูกต้อง”

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแต่ภาคการเงิน การธนาคาร และธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะที่ตื่นตัวจะปรับระบบเพื่อรองรับ 2 กฎหมายใหม่ ส่วนองค์กรในอุตสาหกรรมอื่นยังตื่นตัวค่อนข้างน้อย ทั้งที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรง มีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก ซึ่งทาง MFEC ก็พยายามจะให้ความรู้กับองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวกับโซลูชั่นด้านไอทีที่จะมารองรับการปฏิบัติตามกฎหมายนี้

“การที่กฎหมายลูกออกช้า และยังมีบทลงโทษรุนแรง เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมาก โดยเฉพาะกับฝั่งไอทีเอง ซึ่งหากจะวางระบบทั้งหมดให้พร้อม ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน”

กม.ลูก ลากยาว

ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอให้ที่ประชุม ครม.ตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายทั้ง2 ฉบับ จากนั้นจึงตั้งสำนักงานใหม่ตามกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายลูก

“พ.ร.บ.ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ได้เตรียมตั้งที่ปรึกษาช่วยยกร่างกฎหมายลูกให้เสร็จเร็วที่สุด เนื่องจาก กม.มีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนกฎหมายลูก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังมีเวลายกร่างอีก 1 ปี หลังมีผลบังคับใช้ พ.ค. 2563 นั่นคือ พ.ค. 2564 จึงมั่นใจว่า กฎหมายลูกจะเสร็จตามกรอบเวลาแน่นอน”

แหล่งข่าวจากกระทรวงดีอีเอส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่อนข้างแน่ชัดว่ากฎหมายลูกตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะไม่สามารถออกประกาศได้ทัน 27 พ.ค. 2563 ซึ่ง พ.ร.บ.จะมีผลบังคับส่งผลให้ทุกหน่วยงานต้องวางกรอบปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะหน่วยงานของตนเองไปก่อน รวมถึง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายลูกเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติขององค์กรต่าง ๆ

“กระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการตาม กม.ทั้ง 2 ฉบับ ช้ากว่า 90 วันหลัง พ.ร.บ.บังคับใช้ไปแล้ว เมื่อยังไม่มีบอร์ดก็ยังอนุมัติโครงสร้างองค์กร อัตรากำลัง รวมไปถึงออกกฎหมายลูกที่จะเป็นแนวปฏิบัติไม่ได้ อย่างเร็วสุดที่จะตั้งสำนักงานใหม่ได้ คือ มี.ค. 2563 ซึ่งการออก กม.ลูกต้องเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมด้วย ฉะนั้นกว่าจะมี กม.ลูกออกมาบังคับใช้ได้ น่าจะ พ.ค. 2563 ไปแล้ว”

มีทั้งโทษ “ปรับ-จำคุก”

สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กำหนดให้ การ “เก็บ-ใช้-เปิดเผย” ข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมอย่างชัดเจน ทั้งระบุให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือผู้ประมวลผล ต้องชดใช้ค่าสินไหมหากฝ่าฝืน และมีโทษทางอาญา สูงสุดจำคุกไม่เกิน1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมถึงมีโทษทางปกครองกรณีไม่ปฏิบัติตาม ปรับสูงสุดถึง 5 ล้านบาทด้านกฎหมายไซเบอร์ซีเคียวริตี้ มีทั้งโทษปรับและจำคุก ตั้งแต่ระดับวันละหมื่นบาท ไปจนถึงหลักแสน ส่วนโทษจำคุกมีสูงสุดถึง 3 ปี