กสทช. ปักธงปี 63 เดินหน้า 5G ประเทศไทยเต็มสูบ

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. (แฟ้มภาพ)

เลขาธิการ กสทช. ปักธงปี 63 ดัน 5G เต็มสูบ เร่งนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ปรับปรุงโครงข่ายทีวีดิจิทัล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ปี 2563 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน กสทช.จะทุ่มเททำงานเพื่อผลักดันให้เกิด 5G ในประเทศไทย เพื่อรองรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทั้งเน้นการกำกับดูแล คุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของสำนักงาน กสทช.

ขณะที่มี 9 นโยบายสำคัญที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษได้แก่  เรื่องที่ 1 การประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่จะต้องทำให้บริการ 5G ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ในปี 2563 เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ รวมถึงสร้างความพร้อมเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแพทย์ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเกษตร การค้า ขนส่ง และบริการ

เรื่องที่ 2 การจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ล่วงหน้า เพื่อนำมาใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ 5G และจัดทำหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตและการกำกับดูแล

เรื่องที่ 3 การประกาศอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเดิม (ที่ไม่ได้ใช้ภายใต้สัมปทาน) ตามพ.ร.บ. กสทช. ที่ให้สิทธิ กสทช. ในการบริหารจัดการวงโคจรดาวเทียมที่เหลือจากให้สัมปทานดาวเทียมไทยคมเดิม โดยจะเร่งออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการอนุญาต เพื่อให้ได้ผู้ประกิจการดาวเทียมรายใหม่

เรื่องที่ 4 การจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน  เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งก่อให้เกิดทัศนียภาพอันสวยงาม โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร อันจะเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครแห่งอาเซียน

เรื่องที่ 5 การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Site) เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาของ ITU ที่ว่าเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งเสาส่งสัญญาณ

เรื่องที่ 6 การเร่งปรับปรุงโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนสามรถรับชมโทรทัศน์ด้วยความความชัด คุณภาพของภาพและเสียงที่ดี

เรื่องที่ 7 การกระจายการให้บริการจากสำนักงาน กสทช. ส่วนกลางไปยังสำนักงาน กสทช. ส่วนภูมิภาค เพื่อให้สำนักงานส่วนภูมิภาคสามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้ในทุกๆ บริการ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

เรื่องที่ 8 การยกระดับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. (Integrity & Transparency Assessment: ITA) เพื่อไปสู่ระดับ AA จากเดิมที่สำนักงาน กสทช. ได้รับการประเมินในระดับ A ในปี 2562 ด้วยคะแนน 94.71 ซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มหน่วยงานของรัฐอื่นๆ และเป็นอันดับที่ 40 ของประเทศไทยจาก 8,299 หน่วยงานรัฐที่เข้าร่วมรับการประเมิน

และเรื่องที่ 9 การพัฒนาสำนักงาน กสทช. ไปสู่การเป็นสำนักงานดิจิทัล สอดคล้องกับยุทธศาตร์ การพัฒนาประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน