หักปากกาเซียน! ประมูลคลื่น 2600 MHz เคาะราคาแค่ 2 รอบได้เงินเข้ารัฐ 37,164ล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz  ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ “กสทช.” นำออกประมูลในวันนี้ (16 ก.พ. 2563)

ปรากฏว่า การประมูลจบอย่างรวดเร็ว โดยจบในรอบที่ 2 การประมูลในเวลา 13.30 น.

โดยผู้เข้าประมูล ทั้ง 3 ราย ได้แก่  เอดับบลิวเอ็น ในเครือเอไอเอส, ทียูซี ในเครือทรู และ กสท โทรคมนาคม (แคท)  เสนอราคาประมูล  เสนอรอบแรกของการประมูลที่เริ่มขึ้นในเวลา 12.50 น. เสนอซื้อรวมกัน 25 ใบอนุญาต

แต่เมื่อเข้าสู่การประมูลรอบที่สอง ที่ราคาต่อใบอนุญาต ขยับไปอยู่ที่ 2,048 ล้านบาท มีผู้เสนอราคารวมกันแค่ 19 ใบอนุญาต เท่ากับที่ กสทช. นำออกประมูล

การประมูลจึงจบลง ด้วยราคาประมูลต่อใบอนุญาตที่ 1,956 ล้านบาท รวมกันทั้ง 19  ใบอนุญาต ได้เงินเข้ารัฐ 37,164 ล้านบาท

สำหรับคลื่น 2600 MHz กสทช. นำออกประมูลทั้งหมด 10 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz  ราคาเริ่มต้นประมูลที่ 1,862 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต

โดยคลื่นย่านนี้ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. เชื่อว่าจะมีการแข่งขันราคากันดุเดือดที่สุด

ทั้งยังเชื่อว่า การประมูลคลื่นสำหรับให้บริการ 5G ครั้งนี้จะสามารถทำรายได้เข้ารัฐกว่า 1 แสนล้านบาท  หลังจากการประมูลคลื่น 700 MHz ในช่วงเช้าจำนวน 3 ใบอนญาต จบลงด้วยราคา 17,153 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต  ทำให้มีเงินรายได้ส่งเข้ารัฐเฉพาะคลื่นย่านนี้ รวมกว่า 51,459 ล้านบาท

เมื่อรวมกันทั้ง 2 ย่านคลื่นได้เงินเข้ารัฐ 88,623 ล้านบาท