ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ = ไม่แชร์ คาถาป้องกัน “สูงวัย” จาก Fake News

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผู้สูงวัย” ในปัจจุบันไม่ใช่ผู้ที่จะมานั่ง “ตะบันหมาก” เลี้ยงหลานไปวันๆ เหมือนในอดีต  แต่กลับเป็นหนึ่งในพลเมือง “โซเชียล” ไม่ต่างจากผู้คนในช่วงวัยอื่นๆ

รายงาน การสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2561 (ไตรมาส 4) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 9.6% ในปี 2558 เป็น 24.3% ในปี 2561 โดย 88.9% ของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ยังใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ต 5-7 วันต่อสัปดาห์

อีกทั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ยังพบว่าผู้ที่มีอายุในช่วง 54 – 72 ปี ใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตนานราววันละ 8 ชั่วโมง 20 นาที

“มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มอย่าง การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และ แอร์เพย์ (AirPay)  จึงได้ประกาศความร่วมมือกับ  “YoungHappy”  ธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มผู้สูงอายุ จัดเวิร์คช้อป ‘Sea (Thailand) x YoungHappy’ ชวนสูงวัยรู้ทันภัยจากโซเชียล มุ่งสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในการเสพข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ สร้างเกราะป้องกันภัยและความเสี่ยงที่มาพร้อมโลกออนไลน์เพื่อกลุ่มผู้สูงอายุ  เพื่อเตรียมพร้อมที่ประเทศไทยจะการก้าวสู่สังคม “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ซึ่งมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากถึง 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งหมด ในปี 2564

“การสร้างคอมมูนิตี้บนโลกดิจิทัลที่มีคุณภาพและปลอดภัย เป็นหนึ่งในภารกิจที่ Sea (ประเทศไทย) ต้องการสร้างให้เกิดขึ้นจริง  โดยมุ่งผลักดันการพัฒนาทักษะ ความรู้ความเข้าใจ ในการใช้งานและอยู่รวมกับเทคโนโลยี เพื่อเสริมศักยภาพผู้บริโภคให้สามารถเก็บเกี่ยวโอกาสที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด”

“ธนากร พรหมยศ” ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘YoungHappy” กล่าวเสริมว่า จากการได้คลุกคลีกับสังคมผู้สูงอายุมาเป็นเวลานาน ได้สังเกตเห็นว่าปัจจุบันกลุ่มผู้สูงวัยได้รับผลกระทบจากข่าวเท็จ ข่าวสารที่มีการบิดเบือน หรือข่าวสารที่จงใจสร้างให้เกิดความเข้าใจผิด มากพอสมควร  การให้ความรู้ความเข้าใจกับพวกเขาเป็นเรื่องจำเป็น เพราะรูปแบบพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ มักจะแชร์ข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมากไปสู่แวดวงคนรู้จักหลายๆ กลุ่ม โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัยของพวกเขา เช่น เรื่องสุขภาพและการเงิน

ด้าน “พีรพล อนุตรโสตถิ์”  หัวหน้าศูนย์ “ชัวร์ก่อนแชร์” ระบุว่า ผู้ใหญ่ในครอบครัวนี่แหละ ที่เป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือที่สุด  ดังนั้นต้องยิ่งตระหนักว่าในปัจจุบัน ผู้คนสามารถผลิตซ้ำข้อมูลได้ไม่จำกัด ทั้งยังสามารถกระจายผ่านสื่อออนไลน์ไปได้ทั่วโลก

“เราหรือผู้อื่นอาจเดือดร้อนจากข้อมูลที่เราแชร์ก็เป็นได้ เพราะข้อมูลที่ถูกส่งต่อไปอาจไม่ใช่ความจริง นอกจากนี้ ข้อมูลที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ยังเปรียบเสมือนการเล่น ‘เกมกระซิบ’ ซึ่งในแต่ละครั้งที่ข้อมูลถูกแชร์ออกไป ข้อมูลก็จะถูกบิดเบือนไปเรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย”

ฉะนั้นนอกจากตรวจสอบว่ามีแหล่งที่มาแล้ว ต้องตรวจสอบด้วยว่าแหล่งข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือจริง และข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยแหล่งข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่การนำชื่อไปแอบอ้าง

“หลักการง่ายๆ ในการรู้ทันข่าวสารคือ  ตั้งคำถามว่า จริงหรือ?  ถ้าหากใคร่ครวญแล้วหาคำตอบไม่ได้ ก็ให้ ‘ยอมรับว่าไม่รู้’ และ ‘ไม่แชร์’ เพื่อหยุดการผลิตซ้ำเนื้อหาที่ไม่เป็นประโยชน์หรือเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดผลเสีย”

โดยกรณีศึกษาที่พบมากคือ โฆษณาสินค้าเพื่อสุขภาพบนโซเชียลมีเดีย โดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญรับรองความปลอดภัย ทั้งยังอาจนำรูปภาพบุคคลลอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นผู้ใช้สินค้า การล่อลวงให้ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ไม่มีอยู่จริงเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล

สิ่งที่วัยเก๋า ควรต้องมีเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองและคนรอบข้าง คือ “4 Literacy” ได้แก่

1. Digital literacy เช่น ตระหนักไว้เสมอว่าใครก็สามารถสร้างข้อมูลได้ และมีความเป็นไปได้เสมอว่าอาจเป็นข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ยังต้องเข้าใจธรรมชาติของแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อที่จะระบุความผิดปกติได้

2.Health Literacy ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพ และควรต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทุกครั้งก่อนตัดสินใจปฏิบัติตามเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต

3. Media Literacy เช่น การตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

4. Financial Literacy ต้องเข้าใจธรรมชาติของการลงทุนว่าไม่มี ‘Low Risk, High Return’ และเข้าใจระบบการทำธุรกรรมทางการเงินในเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้โดยง่าย