DGA ปั้นกลไก “แมตชิ่ง” ผุด GovTech ดันมูลค่าหมื่นล้าน

ผ่านไป 5 เดือนแล้ว ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA สำหรับ “ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ” แม้จะตกอยู่ในภาวะต้อง “ล็อกดาวน์” แต่ก็ยังผลักดันผลงาน ทั้งการปรับบทบาทจาก service provider ให้บริการคลาวด์ภาครัฐ หรือการร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พัฒนาระบบ chatbot หรือไลน์ @DGAChatbot ให้เชื่อมกับเว็บไซต์ “สมาร์ทโชวห่วยเดลิเวอรี่.moc.go.th” ล่าสุดคือ การจับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้ง “GovTech” ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยถึงเป้าหมายในปีนี้ของผู้อำนวยการ DGA

Q : ตั้งศูนย์ GovTech

ใช้พื้นที่ ม.เกษตรฯ ศรีราชา เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล โดยดึงความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย เอกชน และสตาร์ตอัพ มาร่วมกันปรับปรุงการบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ในระยะแรกจะเป็นการวางกรอบของโจทย์ ปัญหาต่าง ๆ ของภาครัฐ แล้วร่วมมือกันหาโซลูชั่นที่จะเข้ามาแก้ไขหรือเป็นคำตอบให้ ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ EEC ก่อน และตั้งเป้า 3 ปีจะสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐได้ 1 หมื่นล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายราว 477 หน่วยงานระดับกรม

โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเริ่มได้เห็นการใช้ประโยชน์ ภายใต้ 3 กรอบใหญ่คือ การเชื่อมโยงแพลตฟอร์มให้เป็น one stop service ต่อยอดจาก biz portal ที่ DGA ทำไว้อยู่แล้ว อาทิ การออกใบอนุญาตทำธุรกิจต่าง ๆ การบูรณาการข้อมูลภาครัฐ การสร้างแพลตฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ ภายในพื้นที่มาบตาพุดของการนิคมอุตสาหกรรม และ EEC

Q : ศูนย์แบบนี้มีเยอะมากอยู่แล้ว

GovTech จะแตกต่างกับศูนย์อื่นคือ เน้นที่การพัฒนาบริการภาครัฐ เป็นการแมชิ่งระหว่างปัญหาจริง ๆ ของฝั่งหน่วยงานเข้ากับสตาร์ตอัพหรือเอกชนที่พัฒนานวัตกรรมเข้าไปตอบโจทย์ได้

การตั้งศูนย์แบบนี้อาจจะดูว่ามีเยอะแล้ว แต่เอาเข้าจริงสิ่งสำคัญคือ reaction ที่จะตามมา ซึ่ง GovTech มี action plan ชัดเจน และไปปักหลักที่พื้นที่ EEC ซึ่งเป็นแหล่งรวมของดีมานด์ เป็นพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการลงทุน ซึ่งจะทำให้ผลที่เกิดขึ้นจะสร้าง impact ได้จริง

ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ที่มีกฎระเบียบพิเศษที่สามารถปรับปรุงหรือลดขั้นตอนทางราชการต่าง ๆ ได้ ซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ได้ง่าย และหากทำได้สำเร็จแล้วก็มีโอกาสจะนำไปใช้เป็นต้นแบบในพื้นที่อื่น ๆ ได้

ถ้าพูดตามตรง การตั้งชื่อว่าเป็นศูนย์ GovTech จริง ๆ คือแค่ให้มีชื่อเรียก หัวใจสำคัญคือการทำให้เกิด activity ซึ่งความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยก็เพื่อจะดึงทรัพยากรทั้งหมดของ ม.เกษตรฯให้มาทำงานร่วมกัน และไม่ได้จำกัดแค่สถาบันการศึกษาเดียว ในอนาคตก็จะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย รวมถึงพาร์ตเนอร์ภาคเอกชนรายอื่น ๆ เพิ่มด้วย

ทั้งเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ของกระทรวงดิจิทัลฯ และสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัลของดีป้า (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) ซึ่งจะทำให้มีความพร้อมในด้านการพัฒนาคนตามแนวทางที่เตรียมจะสร้างระบบพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรในพื้นที่นั้น

Q : กฎระเบียบ=อุปสรรคนวัตกรรม

จากที่ DGA ได้พัฒนา biz portal มานานแล้ว พบว่าหลายครั้งมีความพยายามจะไป digitize กระบวนการภาครัฐเดิม แต่จะให้ได้ผลจริงจะต้องมีการreengineer กระบวนการทั้งหมด ซึ่ง EEC ได้ทำสำเร็จในหลายเรื่อง อย่างการขอใบอนุญาตบางอย่างที่เคยใช้เวลา 100 กว่าวัน ก็เหลือ 40 วัน ถือว่าลดลงได้เยอะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะยังสามารถหากระบวนการหรือขั้นตอนอื่นมาช่วยลดการใช้เวลาให้น้อยลงกว่านี้ได้ นวัตกรรมจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ แต่ก็ต้องมีการตั้งโจทย์ให้ชัดเพื่อจะได้เข้าไปแก้ไขให้ถูกจุด

Q : ต้องใช้งบประมาณเท่าไร

ยังไม่ได้ตั้งไว้ ต้องมีการหารือกันในรายละเอียดก่อน เช่น การมีผู้เชี่ยวชาญมาซัพพอร์ต แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณจาก DGA เพียงอย่างเดียว มีอีกหลายหน่วยงานที่จะเข้าไปขอรับการสนับสนุนได้ อย่าง NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ก็ให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนา GovTech

แต่ถ้าในส่วนของ DGA เอง ปีงบประมาณ 2563 ได้งบประมาณมาทั้งหมดราว 1,600 ล้านบาท กว่าครึ่งเป็นงบฯโครงสร้างพื้นฐานที่มีบางส่วนยังต้องให้บริการ G-cloud กับ GIN (เครือข่ายสารสนเทศกลางของภาครัฐ)

แต่ภายใน ก.ย.นี้ G-cloud ก็จะโยกไปอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ตามมติ ครม. ฉะนั้น ต่อไปงานหลักจะไม่ใช่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว

Q : งานแมตชิ่งก็เหมือนดีป้า

ดีป้าจะเน้นส่งเสริมให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจึงโฟกัสที่เอกชน ที่ผ่านมาคนก็จะถามเสมอว่า DGA กับกระทรวงดิจิทัลฯกับดีป้าทำงานซ้ำซ้อนกันหรือไม่

ในส่วนของดีอีเอสก็จะเน้นภาพรวมของประเทศ ซึ่งใช้ดีป้าในการส่งเสริมภาคเอกชนให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจ แล้วใช้ สพธอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นผู้วางกฎระเบียบ

แต่ในส่วนของ DGA จะโฟกัสที่การพัฒนาและส่งเสริมภาครัฐให้ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล การดึงสตาร์ตอัพเข้ามาก็เพื่อให้เขาเข้ามาสนใจโจทย์จากภาครัฐด้วย

โดยการที่ DGA เป็นหน่วยงานกลาง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง เป็นข้อดีที่จะเชื่อมโยงและประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้ดีขึ้น โดยมองภาพรวมของประเทศและมองว่ากลไกหลักควรจะเป็นอะไร เพื่อดูว่าจะเข้าไปเสริมได้ตรงไหน DGA เป็นคนประสานให้เกิด one stop service มีแพลตฟอร์มกลางไม่ใช่การไปทำงานทับเส้นกับใคร แต่เชื่อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ก็น่าจะทำให้หลายอย่างที่แต่ก่อนนี้ทำไม่ได้ก็ทำได้มากขึ้น