ภาพรวมอีคอมเมิร์ซ ในประเทศไทย

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมจะวิเคราะห์ภาพรวมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย หลังสถานการณ์โควิดต้องยอมรับว่าช่วงที่ประเทศเข้าสู่ภาวะการปิดประเทศ รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว ธุรกิจต่าง ๆ ปิด ส่งผลกระทบกับธุรกิจภาพรวมอย่างมาก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) บอกว่า ตัวเลขมูลค่าการซื้อสินค้าผ่าน e-Commerce ในปี 2563 น่าจะโต 19% โตเฉลี่ยต่อเดือน 14,900 ล้านบาท เทียบช่วงปกติที่ไม่มีโควิดคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 9%

ตัวเลขที่โตขึ้นจาก 9% เป็น 19% เมื่อเทียบแล้วโตขึ้นจากปีก่อน 7,600 ล้านบาท ประเมินแล้ว มูลค่าใช้จ่ายรวมบนระบบออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นทั้งปี 87,000 ล้านบาท เมื่อเทียบแล้วมูลค่าการซื้อขายออนไลน์ในประเทศคิดเป็น 1.5% ของการบริโภคภาคเอกชน หรือ 0.8% ของ GDP ทั้งปี

ผมเองฝันมานานแล้วว่า การค้าขายออนไลน์น่าจะเป็นตัวเลขส่วนหนึ่งของ GDP วันนี้เริ่มเห็นแล้วว่าการทำธุรกิจออนไลน์ เริ่มเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา หลายธุรกิจปิดกิจการ

และถึงแม้จะเริ่มมีการเปิดประเทศแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลายธุรกิจก็ล้มหายตายจากกันไปจำนวนมากเลยทีเดียว ผมเชื่อว่าต่อจากนี้ไปจะเริ่มกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น หลายธุรกิจเริ่มประกาศปิดกิจการหรือลดขนาดธุรกิจลงแล้ว

เมื่อมีประกาศในลักษณะนี้ก็จะมีการเลิกจ้าง ฉะนั้น จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่โดนลอยแพหรือโดนเลิกจ้าง กลุ่มคนเหล่านี้ต้องหางานใหม่ หาโอกาสใหม่ ๆ

บอกได้เลยว่าส่วนใหญ่จะหางานใหม่

แต่ส่วนหนึ่งที่จะเริ่มต้นหาธุรกิจใหม่ ๆ

หรือหารายได้จากช่องทางใหม่ ๆ

ที่ผ่านมาเราอาจเจอมนุษย์เงินเดือนหรือคนที่ทำธุรกิจแล้วเริ่มหันมาใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น ใน 3-4 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย เริ่มเห็นว่าคนที่เป็นพนักงานบริษัทหรือราชการมีอาชีพที่สอง ขายของบน Facebook เริ่มไลฟ์ขายของและเก่งมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าวิธีการเรียนรู้ของคนเปลี่ยนไป

เมื่อก่อนอาจต้องมีการจัดหลักสูตรอบรม แต่หลังโควิดหลักสูตรเรียนออนไลน์ที่เรียนเองโดยจ่ายเงินเองหรือเรียนฟรีมีออกมาเยอะมาก ใน YouTube มีคนสอนเรื่องการเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ ขายของบน Facebook วิธีการหาสินค้ามาขาย ฯลฯ มากมาย

ที่น่าสนใจคือตัวเลขจาก สสว.ปี 2561 ผู้ประกอบการ SMEs ที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯและภูมิภาคมี 1.28 ล้านราย จาก SMEs ทั่วประเทศที่มีประมาณ 3 ล้านราย พูดง่าย ๆ คือ SMEs ที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯและภูมิภาคมีสัดส่วน 41% มีการจ้างงาน 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 30%

แต่ผู้ประกอบธุรกิจ e-Commerce ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มี 1,800 รายเท่านั้น หรือ 0.14% ของการค้าทั้งหมด แต่มูลค่าโตขึ้น โดยเฉพาะค้าปลีกที่โตขึ้น 8.2 แสนล้านบาท ดูแล้วอาจกระทบกับธุรกิจหลายอย่าง แต่ผมคิดว่าจะเกิดการสะวิง คือบางส่วนล้มหายตายจากไปจากโลกออฟไลน์ ธุรกิจที่มีสาขามากจะเริ่มหายไป

การมาของ “โควิด” ทำให้เกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง หลายธุรกิจหันมาอยู่ในโลกออนไลน์เช่น ร้านอาหารเมื่อเปิดใหม่บางส่วนแม้ปิดกิจการหรือปิดหน้าร้านแต่ยังเปิดบริการผ่านแอปพลิเคชั่นได้

การแข่งขันของแอปพลิเคชั่นด้านการสั่งอาหารกระตุ้นให้เกิดธุรกิจใหม่อีกรูปแบบ คือ คนหันมาทำอาหารขาย มีร้านอาหารหน้าใหม่เกิดเยอะมาก บางคนทำงานประจำเสาร์-อาทิตย์ เปิดร้านขาย และขายผ่าน Facebook ผ่านแอปพลิเคชั่น เทรนด์นี้ผลักดันให้ SMEs เกิดขึ้นแม้จะล้มหายไปแต่ก็มีที่เพิ่มขึ้นมา แต่การเพิ่มขึ้นในลักษณะออนไลน์มีจุดอ่อน คือไม่มีข้อมูลในการวัดที่ชัดเจนว่ามีเท่าไหร่

ฉะนั้น รูปแบบ e-Commerce ยุคนี้มีความหลากหลายขึ้น ไม่ใช่การขายของที่ต้องแพ็กได้ส่งได้เท่านั้น แต่เริ่มเข้ามาในฝั่งที่เป็นเรื่องของอาหาร บริการ หรือการทำ data และข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความอิสระความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจช่วงหลังโควิดมีมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ ธุรกิจมีความหลากหลายมากขึ้น และแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นเริ่มเข้ามาเป็นตัวกลางทำให้คนสามารถทำธุรกิจได้ง่ายมากขึ้นนั่นเอง