สตาร์ตอัพกลางสึนามิโควิด ก้าวใหม่สมาคมเทคสตาร์ตอัพไทย

สัมภาษณ์พิเศษ

ไม่มีใครรอดจากโควิด-19 ไม่มากก็น้อย ไม่เว้นแม้แต่แวดวงสตาร์ตอัพ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อีเว้นท์ ป็อป โฮลดิ้งส์ ทั้งในแง่การปรับตัวของธุรกิจในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มจัดงาน “อีเวนต์” เมื่อต้องรับมือกับอีเว้นต์วิถีใหม่ รวมกับอีกบทบาทในฐานะนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association (TTSA) คนใหม่

Q : ทิศทางใหม่ของ TTSA

ที่ผ่านมาเรามีการทำงานเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐและองค์กรธุรกิจ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมสตาร์ตอัพไทย ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 400 บริษัทมีความหลากหลายตั้งแต่ระดับ ซีดไปจนถึงซีรีส์ซี กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจอันจะนำไปสู่นโยบายหรือการมีแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการ แต่สุดท้ายคงอยู่ที่แวลูของแต่ละรายเองถ้าสร้างแวลูกับเศรษฐกิจได้ รัฐก็ควรสนับสนุน แต่รวมถึงเอสเอ็มอีด้วย สตาร์ตอัพอาจมีโพเทนเชียลที่จะขยายไปต่างประเทศ ได้เร็วกว่าเพราะเป็นธุรกิจตัวเบาจึงช่วยปักธงให้เราในตลาดอื่น ๆ ได้

Q : ถ้าเทียบกับประเทศอื่น

สตาร์ตอัพไทยไม่แพ้ใคร แต่ขยายไปได้หรือไม่ได้ มีหลายส่วนนอกจากตัวเองยังเป็นเรื่องไมนด์เซตและโนว์ฮาว บทบาทของสมาคมตั้งใจทำเรื่องที่จะเป็นการติดอาวุธให้สตาร์ตอัพไทย ยังมี

สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อีกเยอะ ถ้าถามว่าทำไมไม่ไปตีตลาดในประเทศอื่น ก็น่าจะเป็นโจทย์ของการมองเห็นปัญหา และการเข้าไปแก้ปัญหา วิสัยทัศน์สมาคมยุคนี้คือ การปรับตัวให้เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลทำงานเชื่อมโยงกับต่างประเทศเป็นตัวแทนในการช่วยสื่อสารและติดต่อด้านต่างประเทศให้สตาร์ตอัพไทย ปรับภาพลักษณ์ให้ดูน่าสนใจในมุมมองของอินเตอร์เนชั่นแนล

Q : ผลกระทบโควิด-19

การทำงานหลายส่วนล่าช้าไปบ้าง ทั้งของสมาคมและมีกระทบกับสตาร์ตอัพต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นเรื่องการเอาตัวรอด ถ้าระดับเล็กหน่อยก็คงต้องค้นหาคอร์แวลูหาบิสซิเนสโมเดลใหม่ หากลุ่มลูกค้าใหม่ หาโอกาสใหม่ ทุกองค์กรต้องปรับตัว

Advertisment

Q : ในมุมอีเวนต์ป็อปปรับตัวยังไง

ช่วงที่ผ่านมา เหมือนกับการงมเข็ม เพราะทรัพยากรที่มีลดลงเรื่อย ๆ แต่รายได้ไม่เข้า จะหาน่านน้ำใหม่ได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องทำและเร่งด่วน เปรียบได้กับระเบิดเวลา แต่ยังโชคดีที่ได้โอกาสใหม่ ๆ ลูกค้าใหม่ ๆ เราเองได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี

Q : ก่อนโควิดระบาดด้วยซ้ำ

ตั้งแต่ม.ค.ที่นักท่องเที่ยวเริ่มหาย เพราะฐานลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยว แต่ในมุมของการจัดอีเวนต์ กระทบ ในช่วง มี.ค.ที่หยุดไปเลย ช่วงนี้เริ่มดีขึ้น ลูกค้าเริ่มประชุม วางแผนจัดอีเวนต์แล้ว แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ สเกลงาน โชคดีที่ได้ออนไลน์อีเวนต์มาช่วย

Q : ต่างจากอีเวนต์ปกติยังไง

ช่องทางการสื่อสารต่างไป ถ้าเป็นออฟไลน์ เราดึงทุกคนมาอยู่ในสถานที่ ทำโปรดักชั่นให้น่าสนใจ แต่พอออนไลน์ไปอยู่ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง มุมคอนเทนต์น่าสนใจเหมือนเดิม แต่ที่หายไปคือ การสร้างประสบการณ์และกลุ่มคนที่เราสามารถเอ็นเกจได้

Q : เม็ดเงินน้อยลงด้วย

ในแง่สเกลงาน พอเป็นออนไลน์จะสร้างความถี่ได้มากขึ้น ลูกค้ามีหลายระดับถ้าเป็นรายเล็กก็จะจัดมากขึ้น ถ้าสเกลใหญ่จะหันไปทำเวอร์ช่วลคอนเฟอเรนซ์ที่จะเอ็นเกจได้ทุกประเภทของลูกค้า องค์กรใหญ่ ๆ บางแห่งใช้สื่อสารกับพนักงานหรือผู้ถือหุ้น ก็ทำได้ค่อนข้างหลากหลายและน่าสนใจ

Advertisment

แต่ถ้าโจทย์เป็นเรื่องการขายของ สุดท้ายวนกลับไปเรื่องโปรโมชั่น ถ้าเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ เช่นงานแสดงศิลปะ ก็ต้องดูว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรที่จะดึงความสนใจของคน

ธุรกิจต่าง ๆ หันมาออนไลน์มากขึ้น เช่น เอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่มีการทำไลฟ์สตรีม แต่คงไม่ได้มองรายได้เป็นหลัก เชื่อว่าทุกคนน่าจะมุ่งไปในเรื่องการเรียนรู้สิ่งใหม่มากกว่า

Q : ถือว่าตั้งหลักได้แล้ว นิ่งแล้ว

เริ่มนิ่งแล้ว และมีความชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง นั่นคือออนไลน์อีเวนต์ และเอ็นเตอร์ไพรส์ซอฟต์แวร์ โพรไวด์เซอร์วิส เช่น คอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม ช่วงโควิดเราลองให้บริการกับสิงห์ มีอีก 4-5

เจ้าที่รอออนบอร์ด กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ต้องใช้เวลาบิลด์พอสมควร เป็นเรื่องดิจิทัลทรานซิชั่นของการจัดการคอมเมิร์ซ

เราเชี่ยวชาญเรื่องการจัดการการขาย จาก offline to online อีกอันที่ทำแล้วคือระบบจองอีทิกเก็ตองค์การสวนสัตว์ 7 แห่งในไทย และขายแคมเปญ เช่น ที่ทดลองกับชาบูเพนกวิน และขายบัตรโรงแรม เป็นต้น

Q : ถือว่ารอดแล้ว

เราคงจบที่รอด แต่รอดแบบทุลักทุเลหรือสวยงาม ก็ต้องบอกว่า เราอยากให้รอดแบบสวยงาม คือทำยังไงให้ดีกว่าปีก่อน นำสิ่งที่เรามีมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด เทคโนโลยีไม่เหมือนเครื่องจักร เราแก้โค้ดปรับเปลี่ยนได้ ถ้าออกแบบพื้นฐานดีก็นำมาปรับใช้ได้ ในแง่ทีมงาน ลดลง 20% จาก 50 คน แต่ทีมเอ็นจิเนียร์ไม่ได้ลด

Q : ภาพรวมสตาร์ตอัพไทย

บ้านเรามีสตาร์ตอัพเกือบทุกเซ็กเมนต์ ที่ไปได้ดีมากคือฟินเทค เพราะเป็นคอร์อินฟราสตรักเจอร์ของหลายธุรกิจ ทุกคนมุ่งมั่นอยากพัฒนาธุรกิจตัวเอง ความยากในการรันสมาคม คือด้วยความเป็นสมาคมการค้า สมาชิกล้วนเป็นเจ้าของกิจการก็จะมีความคิดที่แตกต่างกัน จะทำอย่างไรที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกันได้

คนมองว่าสตาร์ตอัพเป็นวิสาหกิจระดับเล็กที่เพิ่งเริ่มต้น แต่จริง ๆ เป็น กลุ่มธุรกิจที่สร้างอิมแพ็กต์ได้เร็ว และเยอะเพราะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศและโลกได้ ถ้าเราย้อนกลับไปดู 3-4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐีอันดับต้น ของโลกก็ไม่ใช่ธุรกิจดั้งเดิมอีกแล้ว ดังนั้นความสำเร็จเล็ก ๆ ของทุกคนก็สามารถที่จะเป็นความสำเร็จใหญ่ได้

เราอยู่ในคอมมิวนิตี้นี้มานานมาก ก็อยากเห็นทุกคนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแรง กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ตอัพไทยมีไม่น้อยที่ไม่ย่อท้อ ไม่ล้มเลิกหายไป แต่พร้อมปรับตัวไปเรื่อย ๆ สะท้อนถึงคอร์แวลูของธุรกิจสตาร์ตอัพ คือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ชินกับปัญหา ไม่ยอมแพ้ และหาวิธีใหม่เรื่อย ๆ.