“จุฬาฯ-กสทช.” นำร่อง โชว์เคส 5G ทำอะไรได้บ้าง

จุฬาฯ-กสทช. นำร่อง โชว์เคส 5G

หลังเปิดประมูลคลื่น 5G เสร็จไปแล้ว “กสทช.” ก็ยังเดินหน้าขับเคลื่อนการใช้งานต่อ ล่าสุดมีการจัดงานแสดงผลงานการทดสอบ Chula 5G Use Cases ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนจากทั้งสถาบันการศึกษา ผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้ให้บริการในการทดลองทดสอบ และพัฒนาบริการต่าง ๆ

โดยกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สนับสนุนด้านงบประมาณราว 58 ล้านบาท เพื่อจัดทำ open platform สำหรับการวิจัยเทคโนโลยี การใช้งานจริง ภายใต้ sandbox เพื่อทดสอบระบบ 5G ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้าน healthcare และ smart living เป็นต้น

“วัฒนศักดิ์ ศรีศิริ” นักศึกษาปริญญาเอกคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยนักวิจัย หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาโครงการวิจัยด้านสุขภาพกล่าวว่า การโอนถ่ายข้อมูลทางการแพทย์เป็นปัญหาสำคัญของสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงที่โรงพยาบาลจุฬาฯเช่น แผนกเกี่ยวกับโรคทางตา เนื่องด้วยอุปกรณ์ถ่ายภาพตาที่ห้องตรวจ และห้องวินิจฉัยโรคอยู่คนละพื้นที่ การส่งถ่ายข้อมูลจึงเป็นการเซฟใส่ thumb drive จากห้องตรวจไปยังห้องวินิจฉัยโรค ทำให้มีความล่าช้า ไม่สะดวก และเกิดการสูญหายของข้อมูลได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาอุปกรณ์ส่งข้อมูลจากห้องตรวจไปยังห้องวินิจฉัยโรค ผ่าน cloud server

“ภาพถ่ายหรือ VDO ด้านการแพทย์จำเป็นต้องมีความละเอียดสูง เพื่อให้แพทย์เห็นภาพได้ชัดเจนและวิเคราะห์ได้แม่นยำที่สุด จึงมาพร้อมปริมาณข้อมูลที่ต้องส่งสูง ด้วยเทคโนโลยี 5G จึงเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เหมาะกับการนำมาใช้ในข้อมูลทางการแพทย์ เพราะรวดเร็วและมีความเสถียร จึงเพิ่มความสะดวกและลดความเสี่ยงหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ในอนาคต”

ถัดจากนี้มีแผนนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการตรวจโรคตาออนไลน์ในระยะต่อไป โดยจะเป็นการสำรวจพื้นที่ ออกแบบ และติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อส่งข้อมูลภาพการตรวจโรคตาผ่านระบบสื่อสารไร้สายบนเครือข่าย 4G จากห้องผ่าตัดโรคตาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังจากนั้นจะดำเนินการทดสอบการใช้งานต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง(ห้องผ่าตัด) และประเมินผลการทดลองใช้งาน การดำเนินงานในระยะสุดท้ายเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปผลการทดลองใช้งาน และข้อเสนอแนะก่อนปรับมาใช้เป็นเทคโนโลยี 5G ในปีถัดไป

ด้าน smart living และ connected society เช่น การสร้างมิเตอร์อัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยี NB-IOT, LoRa และเทคโนโลยี 5G

“ปัจจุบัน smart meter มีราคาสูง ทำให้การเข้าถึงผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยยังไม่สะดวก เราจึงพัฒนาให้มีราคาถูกลง แต่คงประสิทธิภาพการใช้เดิม เพราะช่วยบริหารจัดการการใช้พลังงานได้ ทำให้ผู้ใช้รู้ปริมาณพลังงาน และราคาค่าไฟฟ้าที่ตนเองใช้ได้ตลอด ทำให้เกิดความตระหนักในการใช้พลังงานมากขึ้น ขณะที่การไฟฟ้าก็บริหารจัดการเรื่่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อผู้ใช้ได้ ซึ่งมิเตอร์ทั่วไปแบบเดิมจะเป็นแบบจานหมุน การอ่านค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไปด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และส่งข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลไปที่ระบบควบคุม ทำให้การคิดเงินต้องใช้พนักงานเดินทางไปจดที่มิเตอร์แต่ละบ้านเรือน ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรบุคคลค่อนข้างมาก”

โครงการนี้จึงเสนอการศึกษาวิจัย ออกแบบ และสร้างมิเตอร์อัจฉริยะ โดยมีแนวคิดในการนําไมโครคอนโทรลเลอร์ และเทคโนโลยีระบบสื่อสารไร้สายด้วยเทคโนโลยี NB-IOT, LoRa และเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้เพื่อให้รับข้อมูลของแต่ละมิเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม

“มิเตอร์วัดกําลังไฟฟ้าที่สร้างขึ้นต้องมีความทนทานต่อสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมของไทย การวัดพารามิเตอร์ไฟฟ้ามีความคลาดเคลื่อนในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งในอนาคตจะมีการใช้ smart meter เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ปริมาณข้อมูลจะมีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ตามด้วยบิ๊กดาต้า จึงต้องมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน รวดเร็ว และตอบสนองผู้ใช้ได้ดีที่สุด ซึ่ง 5G เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม

ในระยะต่อไปเราจะสำรวจพื้นที่ ออกแบบ และติดตั้งต้นแบบมิเตอร์อัจฉริยะในจุฬาฯเพื่อทดสอบฟังก์ชั่นการใช้งานต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง และประเมินผล เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อสรุปผลการทดลองใช้งาน และข้อเสนอแนะก่อนปรับมาใช้ในปีต่อไป”