17 ปีคอมพิวเตอร์ “ไอซีที” “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ทำไมต้อง CARE

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
สัมภาษณ์

สิบกว่าปีก่อนประเทศไทยมีโครงการคอมพิวเตอร์ไอซีทีเพื่อคนไทยจากการผลักดันของรัฐมนตรีคนแรกของกระทรวงไอซีที “นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ผ่านไปเกิน 10 ปีในแวดวงไอซีทีก็ยังพูดโครงการนี้ เพราะทำให้คนไทยเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น มีเงินหลักหมื่นต้น ๆ ก็ซื้อมาใช้ได้ ซึ่งถือว่าถูกมากเวลานั้น เป็นยุคก่อน “ไอโฟน” จะเฟื่องฟู และเปลี่ยนโลกการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตไปตลอดกาล

หลังมรสุมการเมืองและคดีความ “หมอเลี้ยบ” ไม่ได้กลับเข้าสู่สนามการเมืองในสภา แต่ไม่ได้ห่างหายไปไหน เป็น 1 ในผู้ก่อตั้ง CARE กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมและเศรษฐกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “หมอเลี้ยบ-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อดีตรัฐมนตรีไอซีที

ที่มาของกลุ่มแคร์

ตั้งแต่อยู่ ก.ไอซีทีผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าจะทำงานการเมืองแค่ 8 ปี ไม่อยากทำมากกว่านี้ พอปี 2551 โดนตัดสิทธิทางการเมือง ก็พอแล้ว ที่กลับมาวันนี้ในนามกลุ่มแคร์ เพราะเห็นว่าไม่มีใครเสนอทางออกในเรื่องเศรษฐกิจให้ประเทศ ไม่ว่าพรรคไหน เลยคิดว่าอยากระดมคนที่ตั้งใจดี มีความสามารถมาช่วยกันคิดและเสนอทางออก

ช่วงแรกคนจะนึกว่าเป็นพรรคการเมือง ซึ่งไม่ปฏิเสธถ้าบอกว่าคนในกลุ่มแคร์บางคนอยากไปทำพรรคการเมือง แต่ไม่เกี่ยวกับกลุ่มแคร์ สิ่งที่แคร์ทำคือ คิดในเชิงนโยบาย คิดไปข้างหน้า เสนอทิศทางที่ควรจะเป็น ใครจะเอาไปใช้ก็ได้

เคยเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง

ต้องบอกว่าโชคดีที่ได้มีประสบการณ์แบบนั้น ได้มีโอกาสเป็นโฆษกด้วย ไอซีทีผมอยู่ 2 ปีครึ่ง อยู่สาธารณสุขปีครึ่ง แล้วก็อยู่คลังประมาณ 7 เดือน สิ่งที่เห็นระหว่างอดีตกับปัจจุบัน คือ โลกเปลี่ยนมาก หลายสิ่งที่ตอนอยู่ไอซีทีแล้วก็คิดว่า โอ้โห…เป็นจินตนาการที่จะไปถึงไหม สิ่งที่บอกว่าวันนั้นเป็นจินตนาการ แต่วันนี้ล้าสมัยมากแค่ 15 ปี หลายสิ่งเปลี่ยนไปชนิดนึกไม่ออกว่าจะเปลี่ยน หรือจะเกิดอย่างนี้ได้ ไม่ต้องพูดเรื่องไอโฟน แอปต่าง ๆ สมัยก่อนคิดไม่ออกเลย

สมัยก่อนแค่เรื่องฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์อย่างมากก็เป็นแค่โนว์เลดจ์แมเนจเมนต์ จะทำไทยแลนด์โนว์เลดจ์เซ็นเตอร์ คือให้เข้าถึงความรู้เท่านั้นเอง เรื่องโซเชียลมีเดียไม่มีอยู่ในความคิดเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น

15 ปีนี้เปลี่ยนไปเยอะ เชื่อว่าอีก 15 ปีข้างหน้าจะเร็วกว่า 15 ปีที่ผ่านมามาก

สิ่งที่เกิดขึ้นใน 15 ปีนี้อาจเกิดขึ้นใน 5 ปี ฉะนั้น ถ้าถามว่าเยอะไหม เยอะ แต่สิ่งที่น่าหดหู่คือการเมืองไทยไม่เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนแล้วยังถอยหลังด้วยทำให้เสียโอกาส

ในช่วงที่เรามีการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการพัฒนาต่าง ๆ เป็นช่วงที่เทคโนโลยียังไม่เกิดการดิสรัปต์ ไม่เกิดการแตกตัวอย่างก้าวกระโดด แม้ตอนนั้นเราพัฒนาได้แต่ก็ไม่ได้เร็ว เพราะเทคโนโลยีไม่เอื้ออำนวย

มาวันนี้เป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีนั้นก้าวกระโดด ประเทศอื่นซึ่งล้าหลังเราหลายสิบปี แต่โชคดีที่มาวันนี้อยู่ในเฟสของการพัฒนาเทคโนโลยี เขาจะพัฒนาได้เร็วมาก และก้าวล้ำหน้าเราไปได้ในเวลาไม่ช้า เราเสียอีกที่ตอนเทคโนโลยีกำลังเติบโตก้าวกระโดด เรากลับหยุดแล้วถอยหลัง ตรงนี้น่าห่วง

ไอซีทีปัจจุบันเป็นกระทรวงดีอีเอสแล้ว

สมัยผมนั่งไอซีที สิ่งที่ผมเริ่มต้นเลย คือ ตอนเข้าไปไอซีทีคนในวงการก็ไม่แน่ใจว่าผมจะทำอะไรได้แค่ไหน ตอนอยู่คลังคนก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้แค่ไหน

สิ่งที่สำคัญมากคือ ใช้นโยบาย “โอเพ่นดอร์โพลิซี” เปิดประตูฟังเขาให้เยอะ ช่วง 6 เดือนแรกของไอซีทีมีคนมาเจอพบทุกวงการ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เราฟังเขา ต้องบอกว่าคนพวกนี้อยู่ ๆ ให้ไปเล่าให้คนนั้นคนนี้ฟังเขาไม่เล่าหรอก เพราะคือความลับของการทำธุรกิจของเขา วิชั่นของเขา จะเล่าให้ใครฟังทำไม แต่เราโชคดีอยู่ตรงนั้น มีทุกกลุ่มทุกคนมาเล่าให้ฟังหมด

หน้าที่เราก็มาต่อจิ๊กซอว์ว่าคนนี้มองอย่างนี้ คนนั้นมองอย่างนั้น จิ๊กซอว์ภาพรวมควรเป็นยังไง นั่นคือโอกาสสำคัญในการเรียนรู้ หลายเรื่องที่ทำ ทุกโปรเจ็กต์ก็เกิดจากโอเพ่นดอร์โพลิซีทั้งนั้น

สมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย ทำฮาร์ดแวร์ คนนี้ทำเรื่องซอฟต์แวร์ ไมโครซอฟท์หรือโอเพ่นซอร์ซ มานั่งคุยแล้วเราก็ต่อจิ๊กซอว์ให้การบ้านเขา เช่น ทำไมผมเห็นวอลมาร์ตขายคอมพิวเตอร์ราคาถูกมาก ทำไมเราทำไม่ได้ คุณทำได้ไหมราคานี้ เขาก็บอกว่าจะกลับไปดู ไปทำการบ้าน แล้วกลับมาบอกว่า ทำได้ แต่ซอฟต์แวร์แพง

มีคนเคยเล่าถึงลีนุกซ์ให้ฟัง ถ้าจะเอาตรงนี้จับใส่เข้าไปจะไม่แพง เราก็ประกาศว่าจะเอาใส่ในคอมพิวเตอร์ไอซีที พอไมโครซอฟท์ซึ่งมีแอนดรู แมคบีน เป็นซีอีโอสมัยนั้นรู้ ก็วิ่งมาหาบอกว่าขอร่วมทำด้วย เราก็มีเงื่อนไขอย่างเดียวว่าทำให้ซอฟต์แวร์คุณจับต้องได้ ทำให้ผมจับใส่คอมพิวเตอร์ราคาถูกได้ เขาบอกว่าทำไม่ได้ ผมก็บอกคุณไปคุยกับเจ้านายคุณที่สำนักงานใหญ่ ก็ออกมาเป็นโฮมเอดิชั่น

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นคอมพิวเตอร์ไอซีที นี่คือตัวอย่างว่าคุณต้องฟังเยอะ ผมว่าวันนี้มีคนเก่งมากมายในวงการไอซีที หรือจะเรียกว่าดีอีก็ตาม ผมว่าคนเก่งถูกตัดขาดออกจากภาครัฐ และภาครัฐมีหน้าที่ฟาซิลิเตต คุณมีอำนาจที่จะเรียกแบบทานอสก็ได้ กระดิกนิ้วหน่อยเดียวก็ทำโน่นนี่ได้

ตอนผมเป็นข้าราชการ ผมรู้ว่าราชการเราทำอะไรไม่ได้มากหรอก อยากทำโน่นนี่ติดกฎระเบียบไปหมด แต่พอมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี แค่คิดดัง ๆ เท่านั้น มีคนเซิร์ฟได้ว่าอันนี้เขาทำได้ อันนั้นทำได้

ถ้ารัฐฟังให้เยอะ ต่อจิ๊กซอว์ให้ได้ และฟาซิลิเตตจะมีคนเข้ามาอยากช่วยมาก

สำคัญมากคือ ทุกวงการมีทั้งตัวจริงตัวปลอม หาตัวจริงให้เจอ ถ้าหาตัวจริงเจอแล้วทุกอย่างจะไปได้เร็ว

เคล็ดลับคือการฟัง

แน่นอนการฟังทำให้รู้ว่าคนนี้ใช่ของจริงไหม เขามีอะไรที่ฟังแล้วแปลก ๆ แล้วเราสามารถดับเบิลเช็ก

เอกชนไทยเก่งอยู่แล้ว

ถูกต้อง แม้แต่ตอนผมอยู่คลังก็เหมือนกัน เอกชนไทยเก่งมาก คลังยุคนั้นก็เก่ง พูดจริง ๆ คุณฟังเขาให้เยอะ หาตัวจริงให้เจอ ตัวจริงประเภทที่ทั้งเก่งด้วยทั้งตั้งใจจริงที่จะพัฒนา อุตสาหกรรมเขา ทุกวงการมีหมด

อย่างวงการเศรษฐศาสตร์ ผมหา ดร.ศุภวุฒิเจอ ผมก็ไม่ต้องฟังใครอีกแล้ว

มุมมองเกี่ยวกับภาษีดอตคอม

ผมยังคิดว่าเรื่องการเก็บภาษีเป็นประเด็นรอง ควรมองในภาพรวม อยู่ที่่ว่ารัฐต้องการเก็บภาษีหรือยกระดับทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านนี้

ถ้าไม่ต้องเก็บภาษีแต่ทำให้เกิดการก้าวกระโดดในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทำไมไม่ทำ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ถ้าลดภาษีแล้วทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างก้าวกระโดดก็ควรทำ

ต้องตีภาษีให้เป็นเครื่องมือในการใช้เป็นกลไกในการกระตุ้น ดึงดูดให้เกิดการตัดสินใจของการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในแต่ละเรื่อง

คนไทยใช้เฟซบุ๊ก กูเกิล เน็ตฟลิกซ์ เงินออกไปหมด

ต้องตั้งโจทย์ให้ชัด แต่คำถามคือ ถ้ามีแพลตฟอร์มแบบนี้เราจะทำยังไงที่จะเกาะกับเขาแล้วพัฒนาต่อไปได้

อย่าไปตั้งเป้าว่าจะเอาเงินภาษีมา เพราะเสียดายที่เก็บจากเขาไม่ได้ แต่ตั้งเป้าว่าภายใต้แพลตฟอร์มแบบนี้จะทำยังไงให้เอสเอ็มอีเราได้ประโยชน์ มีความสามารถทางการค้า ทำธุรกิจหรือต่อยอดให้ได้

ถ้าบอกว่าเราเก็บภาษีแล้วเขาถอนออกไป ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่เก็บภาษี แต่ให้เขาเสนอเงื่อนไขอะไรให้เราจะทำให้เอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัพได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มของเขาได้ก็ต้องมาคุย

ภาษีเป็นเครื่องมือทั้งในการหารายได้ของรัฐ หรือเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาใหม่ ๆ เรายกเว้นภาษีบีโอไอตั้งมากมายถามว่ากลับมาเท่าไร เราอาจต้องเลือกว่าภาษีประเภทที่ทำกันมา 20-30 ปี บางตัวยกเลิกได้ไหม บางตัวควรเก็บ บางตัวที่ควรเก็บมาก ๆ แต่จริง ๆ ได้ไม่เยอะ จะพลิกมาเป็นเครื่องมือกระตุ้นยังไงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องความร่วมมือระหว่างตัวใหญ่กับตัวเล็ก

และต้องคิดถึงด้วยว่าใช้ภาษีอย่างคุ้มค่าหรือไม่ด้วย

แคร์จะผลักดันอะไรบ้าง

เอาเรื่องระยะสั้นก่อน คือประเทศจะไปไม่ได้แล้ว เราจึงลุกขึ้นมาพูดถึง 150 วันอันตรายจะเกิดในเดือน ต.ค.นี้ ต่อมาก็พูดเรื่องอัดฉีดเอสเอ็มอี 2 ล้านล้าน ตามด้วยเรื่องท่องเที่ยว จากนี้จะพูดเรื่องเกษตร เรื่องมาร์เก็ตเพลซของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรไทยตัวเล็ก ๆ สร้างมาร์เก็ตเพลซได้จริง มาร์เก็ตเพลซทำให้คนตัวเล็กลืมตาอ้าปากได้

จะทำแฮกกาธอนมาร์เก็ตเพลซด้านการเกษตรเรียกว่า “แคร์ราธอน” มีทั้งที่เจอกันต่อหน้าและเวอร์ชวล เหมือนที่ไต้หวันที่ รมต.ดิจิทัล “ออเดรย์ ถัง” ใช้คำว่า “กัฟซีโร่” ระดมความเห็น ระดมสมองคนในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยทุกคนมาแชร์ไอเดียกันแบบ anonymous (ไม่ระบุชื่อ) สุดท้ายได้โซลูชั่นออกมา