สินค้าเทเงินดันโฆษณาดิจิทัลปีนี้โต 0.3%

กราฟฟิก โฆษณา ดิจิทัล

DAAT เผยโควิดพ่นพิษหั่นงบฯโฆษณาดิจิทัลทั้งปีโตเพียง 0.3% จากปีก่อน หรือมีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท รอลุ้นต่อครึ่งปีหลัง หลังสินค้าแห่อัดงบฯผ่านอีคอมเมิร์ซ และโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ TikTok กู้ยอดขายคืน ดัน “เฟซบุ๊ก-ยูทูบ” กินแชร์สูงสุด

นายราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการบริหารสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT กล่าวว่า ครึ่งปีหลังนี้คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลจะมีมูลค่า 10,112 ล้านบาท และในสิ้นปีนี้การใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลจะมีมูลค่า 19,610 ล้านบาท โต 0.3% จากปีก่อน โดย 5 อุตสาหกรรมหลักที่ใช้เงินสูงสุด ได้แก่ รถยนต์ 2,577 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว 1,880 ล้านบาท เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ 1,643 ล้านบาท ธุรกิจสื่อสาร 1,642 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์นม 1,420 ล้านบาท

“แม้ช่วงล็อกดาวน์คนใช้อินเทอร์เน็ตสูงขึ้น แต่ COVID-19 ทำให้งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลปีนี้หายไป 10-20% จากที่เคยโตเป็นตัวเลข 2 หลักทุกปี เพราะแบรนด์ไม่สามารถลอนช์แคมเปญใหญ่ ที่วางไว้ตอนครึ่งปีแรกได้ ขณะที่เมื่อเข้าครึ่งปีหลัง ทุกแบรนด์ก็หยุดลอนช์แคมเปญใหญ่ และเปลี่ยนไปทุ่มจัดโปรโมชั่นอีคอมเมิร์ซ ทั้ง 9 เดือน 9, 10 เดือน 10 เพื่อกู้ยอดขายคืนมามากที่สุด”

ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจก็เทเงินส่วนหนึ่งไปกับการสร้างโมบายแอปพลิเคชั่น รองรับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ที่คนคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และยังกังวลว่า ถ้าระบาดรอบ 2 จะได้มีแพลตฟอร์มสำหรับทำตลาด สร้างความสัมพันธ์และขายสินค้า

นอกจากนี้ COVID-19 เพิ่มบทบาทให้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางการสื่อสารหลักที่ตีคู่กับทีวี ทำให้ในครึ่งปีหลังนี้ แบรนด์เทงบฯโฆษณาเข้าไปช่องทางนี้มากขึ้น ซึ่ง DAAT คาดการณ์ว่า เฟซบุ๊กยังกินสัดส่วนสูงสุด 31% เป็นมูลค่า 6,023 ล้านบาท รองมา ยูทูบ 19% มูลค่า 3,717 ล้านบาท ครีเอทีฟ 10% มูลค่า 1,950 ล้านบาท โซเชียล 9% มูลค่า 1,789 ล้านบาท และเสิร์ช 9% มูลค่า 1,753 ล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มการใช้งบฯโฆษณากับดิสเพลย์ลดลง แต่ในมุมแพลตฟอร์มใหม่ TikTok ที่มีกระแสมาตั้งแต่ปลายปี 2562 และแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คาดการณ์ว่าแบรนด์จะใช้งบฯโฆษณาผ่าน TikTok มากขึ้น และ “เสิร์ช” ถือเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และเป็นแพลตฟอร์มที่แบรนด์ยังให้ความสำคัญ เพราะเวลาที่จะซื้อสินค้า คนยังค้นหาข้อมูลผ่านเสิร์ชอยู่ ล่าสุดกูเกิลออก Google Shopping Ad ให้เทียบราคา

“แม้รัฐบาลปลดล็อกดาวน์ แต่การซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซไม่ได้ลด ทำให้การใช้งบฯเทมาที่สื่อออนไลน์มากขึ้น คาดว่าการเติบโตของงบฯมาจากอีคอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มทางเลือก TikTok”