ถอดรหัส เจมาร์ท รวมกันใหญ่ ย้ำ “ซินเนอร์ยี่” ลดต้นทุนเพิ่มโอกาสโต

สัมภาษณ์พิเศษ

ก่อร่างสร้างธุรกิจจากห้องแถวไม่กี่คูหา ทุนก้อนแรก 2 ล้านบาท กับธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน (มี “ซิงเกอร์” เป็นต้นแบบ ซึ่งใน 20 ปีต่อมาซื้อกิจการซิงเกอร์ในไทยมาไว้ในมือได้) เมื่อเห็นโอกาสในสินค้าใหม่อย่างมือถือก็ไม่รอช้า พร้อมมองหาโอกาสใหม่ตลอดเวลา

จากตามหนี้ค่าโทรศัพท์ขยายมายังหนี้บัตรเครดิต และอีกสารพัดหนี้ จากพนักงาน 11 คน สู่หลักพันคน กลายเป็นเบอร์ต้น ๆ ในธุรกิจนี้เติบโตต่อยอดไปอีกมาก โดย “เจมาร์ท” โฟกัสบทบาท “อินเวสต์เมนต์โฮลดิ้งคอมปะนี” ลงทุนในหลายธุรกิจทั้งค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์, เทคโนโลยี และการเงิน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ มาร์ท (JMART) หลากหลายแง่มุม ทั้งแนวคิดบริหารธุรกิจ-บริหารคน การรับมือโควิด-19 โดยยังตั้งเป้าการเติบโตก้าวกระโดดแบบไม่สนเศรษฐกิจปัจจุบันด้วยความมั่นใจว่ามูลค่าธุรกิจ (market cap) ของทั้งเครือจะขยับจาก 5 หมื่นล้าน เป็นแสนล้านบาท ในปี 2564

โตด้วยดีเอ็นเอ “เจมาร์ท”

นายอดิศักดิ์ อธิบายว่าการตั้งเป้าให้สูงก็เพื่อส่งสัญญาณไปยังทีมงานทุกคนว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อไปให้ถึงเป้าที่ต้องการ เช่น ปีนี้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเจอกับวิกฤตโควิด-19 แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เชื่อว่าทุกวิกฤตมี “โอกาส” และคิดต่อทันทีว่าจะทำอย่างไรถึงจะขับเคลื่อนผลักดันธุรกิจให้โตต่อได้ โดยเฉพาะการสร้าง “กำไร” ด้วยการประสานความร่วมมือ (ซินเนอร์ยี่) ระหว่างธุรกิจในเครืออย่างเข้มข้น

“ตอนเริ่มธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามาขายมือถือเงินผ่อน เมื่อ 30 ปีก่อน ก็ไม่เคยคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยน และส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เป็น DNA คนเจมาร์ท คือการไม่ยอมแพ้ กล้าลองทำสิ่งใหม่ และทำงานหนัก บุคลากรของเราหลายคนอยู่กันมาแต่แรก

Advertisment

และเติบโตเป็นผู้บริหารระดับสูง โควิดล่าสุดชัดเจนมาก เมื่อยอดขายมือถือลดลงช่วงล็อกดาวน์ ก็มาคิดกันว่าจะทำให้ต้นทุนลดลงได้อย่างไร ช่วงที่ผ่านมาอาจถือเป็นช่วงวิกฤตที่สุดอีกครั้ง แต่เราก็ยังสร้างการเติบโต ในแง่กำไรทำสถิติใหม่ได้ จากพื้นฐานโครงสร้างธุรกิจที่วางไว้ และพลัง synergy”และยังท้าทายตัวเองต่อด้วยการตั้งเป้าว่า มูลค่าธุรกิจในเครือ (market cap)จะต้องเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาทในปี 2564 หรือเพิ่มเท่าตัวจากปัจจุบัน

สำหรับ “เขา” ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ และย้อนว่าวันที่เจมาร์ทระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯปี 2552 market cap อยู่ที่ 450 ล้านบาท วันนี้โตขึ้นเกือบ 27 เท่า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558-2562 รวมเป็นเงินกว่า 40,000 ล้านบาท

“เราลงทุนไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้าน วันนี้เริ่มตั้งหลักได้แล้ว แผนธุรกิจที่วางไว้เชื่อว่าจะทำได้ตามเป้า จึงมั่นใจว่าจะโตจาก 5 หมื่นล้านเป็นแสนล้านได้เป็นการเติบโตแบบยั่งยืนด้วย”

ธุรกิจในเครือเจมาร์ท ปัจจุบันมี market cap รวมกันกว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเจมาร์ท 15,000 ล้านบาท JMT ราว 30,000 ล้าน ซิงเกอร์ 6,000 ล้าน, เจเอเอสแอสเซ็ท 1,000 ล้าน ไม่นับธุรกิจอื่น ๆ เช่น เจ ฟินเทค และสตาร์ตอัพ รวมถึงร้านกาแฟคาซ่าลาแปง”

Advertisment

คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา

“อดิศักดิ์” ย้ำว่า การตั้งเป้าไว้สูง ๆ นอกจากเพื่อให้พนักงานทุกคนรู้ว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากยังทำให้เห็นภาพเดียวกัน เป็นการยืนอยู่บนความท้าทายที่จับต้องได้ และรู้ทิศทางว่าจะเดินไปทางไหน

ย้ำพลัง “ซินเนอร์ยี่”

สำหรับแนวคิดในการขยับขยายธุรกิจจะมุ่งการซินเนอร์ยี่ธุรกิจในเครือ เพื่อให้การบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้น และเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้มีโอกาสชนะผู้เล่นที่ใหญ่กว่าได้ เพราะเจมาร์ทเข้าไปลงทุนหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล, เช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า, ธุรกิจบริหารหนี้, ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์

“ช่วงนี้ต้องระมัดระวังการบริหารจัดการต้นทุน และผลจากการซินเนอร์ยี่ที่ทำมาเป็นปีที่ 5 ทำให้หลายอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ และกำไร แต่ต้นทุนไม่เพิ่ม”

ล่าสุดเกิดโมเดลธุรกิจ “JMART synergy” จากการแปลงโฉมช็อปเดิม แล้วนำสินค้าและบริการที่มีในเครือมารวมไว้ที่เดียว จะไม่ได้ขายแค่มือถือแต่จะมีสินค้าในเครือ ตั้งแต่ประกันภัย, บริการของซิงเกอร์, มีร้านกาแฟคาซ่าลาแปง จะเริ่มที่ 12 สาขา ก่อนขยายเป็น 70 แห่งในสิ้นปี และ 120 แห่งปีหน้า เพื่อให้สอดรับกับแต่ละพื้นที่

“โมเดลแบบนี้ต้นทุนไม่เกิด เพราะอยู่ในพื้นที่เช่าของเจมาร์ทอยู่แล้ว เป็นการเพิ่มในสิ่งที่มีอยู่ ร้านใหม่เน้นโทนสีขาว พนักงานไม่ต้องเพิ่ม แต่ฝึกเพิ่มเติมให้ทำงานได้หลากหลายทั้งมือถือ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, สินเชื่อ, ประกัน และกาแฟ”

สร้างอีโคซิสเต็มต่อยอดธุรกิจ

นายอดิศักดิ์กล่าวว่า การมีสินค้าและบริการหลากหลายทำให้มีลูกค้าจำนวนมากจึงเตรียมพัฒนาระบบสมาชิก”เจมาร์ทการ์ด” เดิมที่มีฐานลูกค้า 7 ล้านราย นำมาต่อยอดให้ตอบโจทย์มากขึ้น ทั้งในแง่การดูแลลูกค้า นำเสนอสินค้า และบริการเพิ่มเติม

“ระบบพอยต์ซิสเต็มเป็นดาต้าเบสที่บอกถึงพฤติกรรมลูกค้าที่เราจะนำมาวิเคราะห์ ออกแบบสินค้า และนำเสนอบริการที่ตรงความต้องการมากขึ้น เช่น ลูกค้าสินเชื่อที่มีประวัติอยู่กับเราแล้วนำรถมาจำนำทะเบียนกับซิงเกอร์ได้”

อดิศักดิ์ย้ำว่า ดาต้าเบสเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าจับฐานลูกค้าของแต่ละคนได้แล้วเอามาผูกกันได้จะมีประโยชน์มาก เหมือนขายมือถือมีแถมประกันจอแตก การให้สิทธิประโยชน์เหล่านี้ทำให้ลูกค้าเลือกเรา และไม่ไปไหน เนื่องจากนำเสนอบริการใหม่ตลอดเวลา”

เป็นการสร้างอีโคซิสเต็มจากสินค้าและบริการที่มี โดย JMART synergy เป็นช่องทางในการขายสินค้าและบริการทั้งเครือ มีเจ เวนเจอร์ส (JVC) พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ระบบสินเชื่อดิจิทัล JFIN DDLP บนบล็อกเชน เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น

ผนึกเกาหลีลุยธุรกิจสินเชื่อ

ธุรกิจของเจมาร์ทใน 3-4 ปีจากนี้ คาดว่าธุรกิจเรือธงประกอบด้วย 3 บริษัท ได้แก่ เจเอ็มที, ซิงเกอร์ และเจ ฟินเทค แต่ละบริษัทมีทิศทางธุรกิจชัดเจน โดยเฉพาะเจ ฟินเทคที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคล “J-money” ล่าสุดเพิ่งเซ็นสัญญากับพาร์ตเนอร์รายใหญ่จากเกาหลี “KB KooKmin Card Co., Ltd” ที่มีส่วนแบ่งตลาดบัตรเครดิตอันดับ 2 ของเกาหลี ในเครือ KB Financial Group เพื่อรุกสินเชื่อส่วนบุคคลในไทย

แม่ทัพเจมาร์ทบอกว่า พันธมิตรธุรกิจจากเกาหลีมองว่าตลาดไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และจะนำเทคโนโลยี, โนว์ฮาว และศักยภาพด้านการเงินมาทำงานร่วมกับทีมคนไทย และเครือข่ายธุรกิจเจมาร์ทที่มีทั้งร้านค้าปลีกมือถือ “เจมาร์ท โมบาย”, เจ ฟินเทค สินเชื่อส่วนบุคคล, ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ “ซิงเกอร์” เจเอ็มทีฯ เพื่อขยายตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลและมุ่งสู่สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเต็มรูปแบบ

เพิ่มน้ำหนักขายออนไลน์

นายอดิศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากเทรนด์ของผู้บริโภคปัจจุบัน แม้การขายมือถือผ่านช่องทางปกติยังมีสัดส่วนกว่า 90% แต่ในอนาคตออนไลน์จะมีบทบาทขึ้น และอาจเพิ่มเป็น 30-40% ได้จากพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ตลาดต่างจังหวัดยอดขายจากออนไลน์ยังเพิ่มไม่มาก ดังนั้น โจทย์ของบริษัทคือต้องบาลานซ์ช่องทางการขายให้ดี เพื่อให้ยอดขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์โตควบคู่กันไป