ปั้นสูตรชดเชยเรียกคืนคลื่น “กสทช.” ซุ่มโฟกัสกรุ๊ปยกร่างหลักเกณฑ์

“กสทช.” ปั้นสูตรคำนวณค่าชดเชย “เรียกคืนคลื่น” เดินหน้าจัดโฟกัสกรุ๊ป ประเดิมด้วยคลื่น 2600 MHz หวังปั๊มรายได้เข้ารัฐปลายปีนี้ “วงใน” ฟันธงไม่ง่าย เชื่อต่อรองค่าชดเชยยิบตา ขณะที่คลื่น 700 MHz หมดสิทธิแน่ เหตุกระทบช่องทีวีดิจิทัล

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เตรียมพร้อมเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ตามที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่ ที่เปิดช่องให้ กสทช.เยียวยาการเรียกคืนคลื่นก่อนกำหนดได้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาโฟกัสกรุ๊ปรับฟังความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาวิจัยการจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณค่าตอบแทนมาแล้วหลายครั้ง และได้มีการยกร่างประกาศ หลักเกณฑ์ และวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ พ.ศ. …. โดยเลขาธิการ กสทช. กำหนดให้เสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อเสนอเข้าที่ประชุม กสทช. ก่อนประชาพิจารณ์เพื่อประกาศใช้ต่อไป

3 ย่านความถี่เข้าข่ายเรียกคืน

โดยในเบื้องต้นมีคลื่นความถี่ 3 ย่าน ที่เข้าข่ายมีแนวโน้มอาจโดนเรียกคืนคลื่น ได้แก่ 1.ย่าน 2500-2690 MHz ซึ่งปัจจุบันมีผู้ถือครอง ได้แก่ บมจ.อสมท ถือครองไว้มากที่สุด จำนวน 140 MHz ที่เหลือมีการถือครองโดยกรมการทหารสื่อสาร และกรมการสื่อสารทหาร

2.ย่าน 2300-2400 MHz ผู้ถือครองในปัจจุบัน ได้แก่ บมจ.ทีโอที ถือครองไว้มากที่สุด จำนวน 60 MHz ที่เหลือถือครองโดยกรมการทหารสื่อสาร กรมการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ กรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ กรมการสื่อสารทหาร กองตำรวจสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.สามารถเทลคอม บมจ.ปตท. บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3.ย่าน 698-790 MHz ซึ่งปัจจุบันใช้สำหรับให้บริการทีวีดิจิทัลในไทยทั้งหมด ผู้ถือครองคลื่นจึงเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลทั้งที่เป็นบริการธุรกิจและบริการสาธารณะ แต่เนื่องจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้มีการประกาศให้คลื่นย่านนี้เป็นคลื่นสำหรับบริการโทรคมนาคมแล้วจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนการใช้งานคลื่นจากด้านบรอดแคสต์ให้เป็นไปตามที่ ITU กำหนด

ไม่ใช้คลื่นหมดสิทธิได้ชดเชย

สำหรับหลักการสำคัญในการพิจารณาแนวทางชดเชยจะคำนึงถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนในแต่ละกรณี ดังนั้นเมื่อมีการเรียกคืนคลื่นความถี่จะเริ่มจากคณะกรรมการ กสทช.พิจารณาว่า คลื่นมีการใช้งานหรือไม่ หากไม่มีและไม่มีแผนการใช้งานหรือมีการใช้งานแต่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดแนบท้ายใบอนุญาต หน่วยงานเจ้าของคลื่นเดิมจะไม่ได้รับการชดเชยใด ๆ แต่ถ้ามีการใช้งานอยู่ จะพิจารณาต่อว่าจะจัดหาคลื่นอื่นมาทดแทนได้หรือไม่ หากหาคลื่นอื่นมาทดแทนไม่ได้ หรือคลื่นทดแทนมีคุณสมบัติด้อยกว่าเดิมจึงจะมีการจ่ายค่าชดใช้หรือจ่ายค่าตอบแทนให้

โดยพิจารณาแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ กรณีเป็นส่วนราชการ จะใช้ปัจจัยจากการใช้งานคลื่นความถี่ ระเบียบที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการได้รับการชดเชยขององค์กรนั้น กรณีที่ไม่ใช่ส่วนราชการจะมีปัจจัยการใช้คลื่นความถี่ ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ แต่ต้องไม่มากไปกว่ามูลค่าคลื่นที่สำนักงาน กสทช.ประเมิน และปัจจัยอื่น ๆ ตามที่ กสทช.เห็นสมควร

ขณะที่การคำนวณต้นทุนมูลค่าการชดใช้ และหรือจ่ายค่าตอบแทนนับตั้งแต่วันที่ประกาศให้คืนคลื่นจนถึงวันสิ้นสุดสิทธิในการถือครองคลื่น โดยรายได้ที่นำมาคำนวณจะมีทั้งรายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการให้บริการในคลื่นที่มีการเรียกคืนและรายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากไม่มีคลื่นโดนเรียกคืน

ส่วนค่าใช้จ่ายประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการให้บริการในคลื่นที่มีการเรียกคืน กับกรณีที่ไม่มีคลื่น อีกส่วนคือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทั้งค่าเช่าอุปกรณ์โครงข่าย ค่าใช้จ่ายการทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับโครงข่าย ค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแล ค่าใช้จ่ายทางการเงิน โดยสำนักงาน กสทช.อาจขอให้หน่วยงานที่โดนเรียกคืนคลื่นแสดงหลักฐานสนับสนุนข้อมูล

ประเดิมคลื่น 2600 MHz

แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.กล่าวว่า คลื่น 2600 MHz เป็นคลื่นแรกที่เข้าข่ายนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้งาน ตามแผนที่ เลขาธิการ กสทช.วางไว้ว่า จะจัดประมูลให้ได้ภายในปลายปีนี้ ส่วนคลื่นย่าน 700 MHz เป็นกลุ่มที่มีโอกาสน้อยที่สุด เนื่องจากกระทบกับช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด หากมีการเรียกคืนคลื่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งค่าชดเชยโอกาสทางธุรกิจ งบประมาณในการลงทุนใหม่ รวมถึงย่านคลื่นใหม่ที่ต้องหามาทดแทน ซึ่งต้องรอให้มีการยุติระบบทีวีแอนะล็อก

อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงาน กสทช.จะเตรียมร่างหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าชดเชยต่าง ๆ ไว้แล้ว แต่เชื่อว่าการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเดิมการยกร่างเกณฑ์คำนวณตามแนวทางสากลเพื่อระบุถึงงบประมาณที่เหมาะสมในการชดเชย แต่จากการโฟกัสกรุ๊ปและการหารือภายในสำนักงาน กลายเป็นว่ามูลค่าที่คำนวณได้ตามสูตรนี้จะกลายเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการเริ่มต้นเจรจาระหว่าง กสทช.กับหน่วยงานเจ้าของคลื่นมากกว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานรัฐจึงไม่อาจทำให้รัฐในฐานะเจ้าของคลื่นเสียประโยชน์ได้ ดังนั้นมูลค่าการชดเชยจะกลายเป็นประเด็นที่มีการต่อรองอย่างมาก และยากที่จะได้ข้อสรุป

“คลื่น 2600 MHz ของ อสมท ไม่เข้าข่ายที่ต้องได้รับค่าชดเชยเพราะไม่ได้มีการใช้คลื่น แผนที่ว่าจะมีการร่วมทุนกับเอกชนก็ยังไม่ได้เริ่ม แต่จะเรียกคืนโดยไม่จ่ายเงินให้ อสมท เลย เป็นไปไม่ได้แน่ต่อให้เป็นมูลค่าการเยียวยา ก็ยากจะได้ข้อสรุป นอกจากรัฐบาลจะมีคำสั่งตรงลงมา จึงไม่แปลกใจที่บรรดาค่ายมือถือที่เป็นผู้เข้าประมูลคลื่นย่านนี้จะเชื่อว่าไม่สามารถเรียกคืนคลื่นนี้ได้ หากทำได้จริงคงทำไปนานแล้ว”