“ข้อมูล” ในวิถีนิวนอร์มอล เน็ตแอพ แนะองค์กรรับมือ “IOB”

เน็ตแอป

ความนิยมในการใช้โซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งการจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีมากด้วย

“วีระ อารีรัตนศักดิ์” ผู้อำนวยการภูมิภาค ไทย อินโดจีน และฟิลิปปินส์ บริษัท เน็ตแอพ (NetApp) บริษัทด้านการจัดการข้อมูล กล่าวว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นสิ่งที่พูดกันมาหลายปี แต่เกิดขึ้นชัดเจนและรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายสิ่งกลายเป็นวิถีปกติใหม่

วีระ อารีรัตนศักดิ์ ผู้อำนวยการภูมิภาค ไทย อินโดจีน และฟิลิปปินส์ บริษัท เน็ตแอพ (NetApp)
วีระ อารีรัตนศักดิ์ ผู้อำนวยการภูมิภาค ไทย อินโดจีน และฟิลิปปินส์ บริษัท เน็ตแอพ (NetApp)

เช่น ประชุมออนไลน์ เร่งให้ผู้บริโภคหันมาทำทุกสิ่งผ่าน “ดิจิทัล” มากขึ้น ทำให้ปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งไม่ใช่ข้อมูลชุดเดิมแต่มีเรื่องไลฟ์สไตล์เข้ามาเกี่ยวข้อง เรียกได้ว่าเป็น internet of behavior (IOB) ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

“เมื่อก่อนเราเดินทางไม่เคยดูแผนที่ วันนี้จะเปิดกูเกิลดูก่อนว่ารถติดแค่ไหน เริ่มวางแผนการใช้ชีวิต เช่น ทานอาหาร และอื่น ๆ ข้อมูลเหล่านี้ที่เกิดใหม่เป็นนิวนอร์มอล ซึ่งองค์กรที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันได้ต้องเทิร์นข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้”

โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรจะปรับเปลี่ยน “ข้อมูล” มาเป็นความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งความเร็ว (สปีด) สำคัญมาก คำถามคือ จะเปลี่ยนได้เร็วแค่ไหน

“การมีข้อมูลและเทิร์นให้เป็นเบเนฟิตได้สำคัญสุด แต่จะทำยังไงจึงจะบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปกป้องข้อมูลให้มีความปลอดภัย เน็ตแอพมีโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ได้ครบ เวลาเราพูดถึงการบริหารจัดการข้อมูลจะพูดถึงว่าทำยังไงให้ข้อมูลมีความปลอดภัยด้วยตัวมันเอง เหมือนสร้างบ้าน เมื่อขโมยเข้าบ้านทำยังไงที่จะไม่ให้ขโมยสิ่งมีค่าไปได้ ในแง่องค์กรก็คือข้อมูล จะดีกว่าไหม ถ้าเราปกป้องทั้งบ้านและทรัพย์สินที่มีค่าไว้ได้พร้อมกัน”

ปัจจัยต่าง ๆ ผลักดันให้การลงทุนด้านไอทีของบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตต่อ โดยการจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นและความรวดเร็ว ซึ่ง “ไฮบริดมัลติคลาวด์” ตอบโจทย์ได้เร็วกว่า เมื่อทุกอย่างกลายเป็นดิจิทัลไลฟ์สไตล์ องค์กรที่ไม่สามารถทรานส์ฟอร์มได้จะอยู่ไม่ได้

“โควิดเป็นโพซิทีฟอิมแพ็กต์สำหรับตลาดไอที เพราะดิจิทัลไลฟ์สไตล์ต้องการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งต้องลงทุนระบบไอทีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้องใช้วันนี้หรือไม่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีควรคิดเผื่อให้รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย และการใช้คลาวด์ ไม่ใช่ถูกกว่า แต่ทำได้เร็วกว่า โลกในอนาคตจึงต้องการไฮบริดคลาวด์ ที่ระบบต่าง ๆ ของข้อมูลสามารถลื่นไหลไม่ติดขัด”

ด้าน นายกิตติ์ ชสิธภนญ์ ผู้จัดการและวิศวกรอาวุโสอาเซียน บริษัทเดียวกัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น เป็นความเสี่ยงที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอยู่แล้ว แต่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อมี กม.คุ้มครองข้อมูล เพราะถ้าไม่ดูแลจะผิด กม.

โดยการออกแบบระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของเน็ตแอพใช้แนวทางที่เรียกว่า “zero trust” คือ ใช้ “ข้อมูล” เป็นศูนย์กลางในการรักษาความปลอดภัย เพราะคือสินทรัพย์ที่มีค่ามากสุดสำหรับองค์กร โดยจะมีการตรวจสอบทุกขั้นตอน ทั้งเน็ตเวิร์ก, ดีไวซ์, คนที่เข้า หรือแม้แต่ตัวงานว่าใช่ตามกฎ กติกาต่าง ๆ หรือไม่

“แนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลายมาเป็นเรื่องจำเป็นในไม่กี่ปีนี้เอง ทั้งเป็นแนวทางมาตรฐานในปีนี้ เราจึงคิดว่าจะนำแนวคิดนี้มาแนะนำลูกค้าเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล”

โดยนำเสนอเทคโนโลยีการปรับปรุงประสิทธิภาพ และบริการข้อมูลองค์กรสู่ระบบคลาวด์ ด้วยโซลูชั่นแบบไม่ใช้เซิร์ฟเวอร์ และสตอเรจสำหรับคอนเทนเนอร์จาก Spot by NetApp

รวมถึงบริการข้อมูลและไฮบริดคลาวด์สตอเรจที่ทำงานแบบอัตโนมัติ และโซลูชั่นเวอร์ชวลเดสก์ทอปบนระบบคลาวด์เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกและปรับปรุงการจัดการของระบบมัลติคลาวด์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ารองรับการเคลื่อนย้ายคลาวด์แอปพลิเคชั่นที่ใช้ข้อมูลจำนวนมากได้ พร้อมโซลูชั่นสถานที่ทำงานแบบครบวงจรบนสภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ เป็นต้น

“เน็ตแอพไปซื้อบริษัทชื่อ สปอต (Spot) ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายเป็น เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายที่ลดลงได้ เมื่อขึ้นคลาวด์แล้วทำให้การลงทุนถูกลงได้ อยากแนะนำให้องค์กรธุรกิจที่ขึ้นไปใช้คลาวด์แล้วยังควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้ มาลองใช้ เรายังมีคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า คีย์สโตนที่ให้ลูกค้าเลือกได้ว่าจะใช้เป็นเปเปอร์ยูสได้ด้วย ปัจจุบันมีองค์กรใหญ่ในไทย 2 แห่ง ในธุรกิจพลังงานและค้าปลีกใช้ระบบนี้อยู่”