ส่งไม้ต่อ “กสทช.” ชุดใหม่ บทบาทที่เปลี่ยนไปในยุคหลอมรวมสื่อ

เทคโนโลยีดิสรัปต์ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ซึ่งองค์กรกำกับดูแลอย่าง “กสทช.” หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ก็ต้องปรับให้ทันโลกด้วยเช่นกัน

แต่จะฝากความหวังไว้ได้แค่ไหน คงต้องรอคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ ที่กำลังจะมีการสรรหาภายในเร็ววันนี้ ก่อนจะถึงเวลานั้น “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์” 1 ในกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านกิจการบรอดแคสติ้งของไทยในหลายแง่มุม ดังนี้

Q : ธุรกิจบรอดแคสต์ช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

มาถึงวันนี้ต้องถือว่าเข้ารูปเข้ารอยแล้วการทำงานที่ผ่านมาได้กำหนดมาตรฐาน สร้างกรอบกติกาที่ชัดเจน ธุรกิจทีวี แบ่ง 2 ส่วน คือ ฟรีทีวี และโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (Pay TV)

ในส่วนฟรีทีวี มีการกำหนดชัดเจนว่าเป็นบริการสาธารณะ ที่ กสทช.รับรอง ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงได้ พร้อมกำหนดกติกาใหญ่ ๆ 2 ส่วน คือ กฎมัสต์แครี่ (Must Carry) คือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตกิจการทีวีทุกประเภทของ กสทช.

ต้องนำทีวีดิจิทัลทุกช่องไปออกอากาศบนแพลตฟอร์มของตนเอง ทั้งทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ตทีวี เพย์ทีวี และมัสต์แฮฟ (Must Have) กำหนดให้ทุกแพลตฟอร์มต้องนำรายการกีฬา 7 ประเภท ได้แก่ ซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ โอลิมปิก พาราลิมปิกและฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ไปออกอากาศ

ช่วงที่ กสทช.ชุดนี้เข้ามาใหม่ ๆ ยังไม่มีกติกา จนเกิดเคสตัวอย่างที่เอกชนไปซื้อลิขสิทธิ์กีฬามาแล้ว แต่ไม่สามารถออกอากาศได้ทุกแพลตฟอร์ม ทำให้คนที่ดูทีวีผ่านจานดาวเทียมจอดำ

เอกชนที่ไปซื้อลิขสิทธิ์มาให้เหตุผลว่า ซื้อเฉพาะสิทธิ์การออกอากาศแค่ภาคพื้นดิน ไม่ได้ครอบคลุมแพลตฟอร์มอื่น ๆ ซึ่งขณะนั้น กสทช.ไม่มีสิทธิไปบังคับ เพราะไม่มีกติกา จึงได้กำหนดกฎมัสต์แฮฟ และกฎมัสต์แครี่ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลธุรกิจทีวีถือว่าเดินต่อได้แล้ว เหลืออย่างเดียวที่ยังไม่เรียบร้อยคือ วิทยุทดลอง จากนี้จะต้องยุติการทดลองประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง ซึ่งเหลือผู้ประกอบการวิทยุชุมชนไม่กี่ราย

เพราะธุรกิจนี้มีกำไรลดลง เมื่อยุติแล้วก็จะนำเข้าสู่กระบวนการต่อไป ส่วนวิทยุดิจิทัลคาดว่าคงไม่เกิดง่าย ๆ ในต่างประเทศมีเคสที่ประสบความสำเร็จน้อยมาก แต่เราก็ยังศึกษาและทดลองอยู่

Q : กฎมัสต์แฮฟทำให้ กสทช.ต้องซื้อลิขสิทธิ์กีฬามาเรื่อย ๆ

กสทช.ไม่จำเป็นต้องซื้อคอนเทนต์กีฬามาออกอากาศตลอด ในอนาคตอาจมีเอกชนเข้าไปซื้อก็ได้ ถ้ามีโมเดลธุรกิจ มีแนวทางการหารายได้ที่ดี

การเข้าไปซื้อคอนเทนต์กีฬาของ กสทช.ไม่ได้ไปบิดเบือนกลไกตลาด เพราะถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่าเอกชน หรือบริษัทที่ซื้อคอนเทนต์กีฬามาออกอากาศมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องในเกือบทุกรายการ เพียงแต่คอนเทนต์กีฬาสร้างภาพลักษณ์ให้ธุรกิจได้

Q : ตั้งทีมซื้อคอนเทนต์กีฬา

ไม่ต้องถึงกับตั้งทีม แต่ใช้กลไกปกติในการเข้าไปสนับสนุน กรณีไม่มีเอกชนซื้อ กสทช.จะใช้กลไกเข้าไปซื้อ ล่าสุดการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก โตเกียว กสทช.ใช้เงินกว่า 200 ล้านบาท

จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไปซื้อคอนเทนต์ผ่านการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

การถ่ายทอดสดครั้งต่อไปจะเป็นในลักษณะนี้ คอนเทนต์กีฬาเป็นคอนเทนต์ที่มีต้นทุนเพิ่มทุกปี และสูงเกินความเป็นจริงสำหรับธุรกิจฟรีทีวี ซึ่งขณะนี้มีกลไกหลายอย่าง เช่น กำหนดให้ออกอากาศผ่านฟรีทีวี

ต้องออกอากาศทุกแพลตฟอร์ม ฉะนั้นถ้ามีคนเข้าไปซื้อน้อย เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีอำนาจต่อรองลดลง ราคาก็จะลดลงเช่นกัน เพราะเลยกำหนดก็จะขายไม่ได้ ถ้ามีกลไกของรัฐเข้ามาสนับสนุนแล้วสร้างบริการที่ถูกต้องจะสร้างอำนาจการต่อรองได้ เพราะรายการพวกนี้ต้องขายได้ ดีกว่าขายไม่ได้

กสทช.ต้องบาลานซ์ระหว่างการนำมาใช้ในเชิงธุรกิจกับการนำมาใช้ในเชิงสาธารณะให้ได้ เช่น การออกอากาศฟรีทีวี ช่วงที่มีการแข่งขันของนักกีฬาไทยอาจไม่จำเป็นหรือต้องกำหนดว่าต้องออกอากาศเป็น HD แค่ SD ก็ได้

Q : เรื่องเร่งด่วนที่บอร์ดชุดนี้ต้องเร่ง

มี 3 เรื่องเร่งด่วน 1.การประมูลคลื่น 3500 MHz เตรียมออกหลักเกณฑ์ที่นำไปสู่การประมูล โดย กสทช.ทำตามโรดแมป คาดว่าอีก 1-2 ปีจะเปิดประมูลได้ เนื่องจากต้องจัดการเรื่องผู้ใช้ทีวีดาวเทียมที่ได้รับผลกระทบก่อน และรอให้สัญญาสัมปทานกับไทยคมจบ ซึ่งตอนนี้ก็เดินตามแผน

2.การเตรียมความพร้อมในการตราพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เรื่องการหลอมรวมสื่อ

ซึ่งได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วตามลำดับ โดยกฎหมายระบุว่า ถ้า กสทช.มีความพร้อม ให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที โดยให้ออกพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับ เพื่อนำไปสู่การหลอมรวมสื่อ

และ 3.สร้างโรดแมปวิทยุทดลอง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะยุติการทดลองออกอากาศแล้ว และเปลี่ยนผ่านเรื่องของวิทยุไปสู่กระบวนอนุญาตกำกับที่ตรงไปตรงมา เพราะท้ายที่สุด วิทยุทดลองประกอบการกิจการ

หรือวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ต้องยุติลงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องกำหนดให้ชัดเจน ล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 ศาลปกครองสูงสุดเพิ่งมีคำสั่งให้เพิกถอนข้อ 7 ของประกาศกสทช.

เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันเสรี และลิดรอนสิทธิของรายใหม่

ดังนั้น เมื่อมีศาลปกครองสูงสุดสั่งมาแล้ว ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ต้องเร่งดำเนินการ

Q : การหลอมรวมสื่อความพร้อมที่ว่าหมายถึงอะไร

ความพร้อมของกฎกติกาต่าง ๆ สำหรับเรื่องนี้ทำไปเรื่อย ๆ ถ้าบอร์ดใหม่มาเร็วก็ให้บอร์ดใหม่ทำต่อ แนวคิดการหลอมรวมสื่อเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยกิจการกระจายเสียงก็อาจจะไปอยู่บนโทรคมนาคมก็ได้ หรือกิจการโทรคมนาคมอาจไปอยู่บนกิจการโทรทัศน์ก็ได้

ซึ่งจะใช้กับการออกใบอนุญาตใหม่กับคลื่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ได้ใช้กับคลื่นเก่า คาดว่าคงใช้เวลานาน แต่ได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีไปหมดแล้ว

Q : คลื่น 2600 กับ 700 MHz เริ่มรบกวนจานดำ

ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะผู้ประกอบการขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดการรบกวนกัน เกิดก่อนมี กสทช. อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มประมูล และใช้คลื่น 3500 MHz กสทช.จะเร่งหารือแนวทางแก้ไขออกมาก่อน

จะทำให้กระทบผู้ใช้งานให้น้อยที่สุด ส่วนกรณีคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz ที่เริ่มรบกวนจานดำ จะแก้ไขเป็น case by case ไป

Q : บทบาทบอร์ดใหม่ควรเป็นอย่างไร

บอร์ดใหม่จะไม่ได้แบ่งเป็นฝ่ายที่ดูแลด้านบรอดแคสต์และโทรคมนาคมเหมือนในปัจจุบัน จึงต้องมีความรอบรู้ทุกด้าน ข้อเสียคือจะหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติครบยาก

อย่างไรก็ตาม การเป็นบอร์ด กสทช.ต้องมองประโยชน์เชิงสาธารณะ โดยเฉพาะในปัจจุบันต้องยอมรับว่า การสื่อสาร และธุรกิจโทรคมนาคมถือเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่

โดยเฉพาะโทรคมนาคม และ 5G ที่ต้องเข้ามาเสริมธุรกิจ รับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น new S-curve และสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศที่จะเดินหน้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่ง กสทช.ถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญมาก

บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ต้องมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน ผลักดันให้ประเทศเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล มากกว่าแค่เข้ามาเพื่อทำหน้าที่ตามกฎหมาย หรือกำกับดูแลจัดสรรเท่านั้น

การนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต้องทำ 2 ส่วน คือ การวางโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล คือ 1.ธุรกิจโทรคมนาคม 5G 2.การกำกับดูแลสื่อ ซึ่งส่วนนี้คือ ธุรกิจบรอดแคสต์ ด้วยการนำของเสียออกจากระบบ

ฉะนั้น กสทช.ต้องมองว่าของเสียเหล่านั้นที่อาจขยายเพิ่มขึ้นจะเอาออกอย่างไร อย่างน้อยก็ต้องผ่านกระบวนการกำกับดูแล ซึ่งจะเป็นบทบาทของ กสทช.ยุคใหม่ที่จะเข้ามาทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า กสทช.ชุดใหม่จะมองบทบาทของตนเองอย่างไร

ถ้ามองแค่ว่าจะมาจัดสรรคลื่น ไม่ได้มองผลประโยชน์เชิงสาธารณะ ก็จะไม่ได้ช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐที่จะเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล