เทรนด์ติดเรตเกลื่อนทวิตภพ “ดีอีเอส-ทวิตเตอร์” จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน

ทุกวันนี้โลกออนไลน์กับออฟไลน์ซ้อนทับกันจนแทบแยกไม่ออกอยู่แล้ว ยิ่งในยุคนิวนอร์มอลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งผลักดันให้ผู้บริโภคอยู่กับโลกออนไลน์มากขึ้นแทบจะตลอดเวลาที่ตื่นก็ว่าได้

1 ในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา มี “ทวิตเตอร์” (Twitter) รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะบทบาทในการจุดประเด็นความสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องความสวยความงาม กีฬา บันเทิง เกม ไปจนถึงการเมือง และกระแสฮอตในสังคมแต่ละช่วง

เรื่องที่ไม่น่าจะติดเทรนด์ และสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดข้อกฎหมายก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น #นัด…สระบุรี #รับงานชลบุรี #รับงานปทุมธานี #นวดอิสระ เป็นต้น ระบุอัตราค่าบริการ มีรูป และคลิปด้วย

การกำกับดูแลสไตล์ “ดีอีเอส”

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ดีอีเอสเฝ้าระวังสื่อลามกอนาจาร และสื่อที่มีลักษณะเชิญชวนให้มีการซื้อและขายบริการทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานผ่านศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (CSOC) รวมถึงการรับแจ้งจากประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก “อาสาจับตาออนไลน์”

“เรื่องใดเข้าข่ายผิดกฎหมาย เราจะขออำนาจศาล แล้วส่งต่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ปิดกั้นหรือลบข้อความนั้น ๆ ทันที”

กรณี “ทวิตเตอร์” หากประเด็นที่ติดเทรนด์มีเนื้อหาเข้าข่ายลามกอนาจาร ดีอีเอสจะดำเนินการ 2 รูปแบบ คือ 1.รายงานไปยังแพลตฟอร์มโดยตรง หากเป็นเนื้อหาที่ขัดต่อมาตรฐานชุมชน (community standards) ของแพลตฟอร์มก็จะมีการปิดกั้นให้ทันที และ 2.เนื้อหาที่อาจเข้าข่ายลามกอนาจาร ขัดต่อ กม.ในประเทศไทย

แต่ไม่ขัดต่อ community standards ดีอีเอสจะแจ้งไปยังแพลตฟอร์มพร้อมคำสั่งศาล เพื่อขอให้ปิดกั้น ที่ผ่านมาทำได้เพียง 40% เนื่องจากศาลได้ปรับเปลี่ยนวิธีการออกคำสั่งเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่ายโดยคู่กรณีมีสิทธิยื่นคัดค้านหลังได้รับคำสั่งศาล 7 วัน หากไม่คัดค้าน ศาลจะส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงดีอีเอส ก่อนส่งต่อไปยัง ISP ทำให้ใช้เวลามากกว่า 15 วัน

เปรียบเป็นแค่ “แมวไล่จับหนู”

สำหรับสื่อลามกอนาจารและการซื้อขายบริการทางเพศ จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (4) การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลที่มีลักษณะลามก

และข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ รวมถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ที่ระบุว่า การเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผย และน่าอับอาย

“เราผนึกกำลังกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่าย กม.ของดีอีเอส กับ บก.ปอท. และพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยประชุมร่วมกันทุกวัน เพื่อหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามทั้งสื่อลามกอนาจาร พนันออนไลน์ และข่าวปลอม”

ก่อนหน้านี้ ดีอีเอสเคยเสนอให้ ISP ปิดกั้นสื่อที่ผิดกฎหมายได้ โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล แต่หลายฝ่ายมองว่า เป็นเสรีภาพประชาชนในการแสดงออกผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

“ในจีน เวียดนาม กำหนดอายุผู้เข้าชมสื่อลามกอนาจาร และมีอำนาจปิดกั้นได้ตั้งแต่ต้นทาง แต่ไทยทำไม่ได้ ดังนั้น ใครมาทำหน้าที่ตรงนี้หนักใจมาก เหมือนแมวไล่จับหนู เมื่อปิดกั้นURL ก็ไปเปิดใหม่ในชื่อใหม่ได้”

ทวิตเตอร์แจงมาตรการ

“ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยัง “ทวิตเตอร์” ถึงนโยบายในการดูแลเนื้อหาและกรณีปรากฏแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีติดเทรนด์เป็นระยะ ๆ โดยแหล่งข่าวจากทวิตเตอร์ ชี้แจงว่าระงับแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายบริการทางเพศ

ตั้งแต่ที่ได้รับการแจ้งทั้งนโยบายในการใช้ทวิตเตอร์เทรนด์ ระบุชัดเจนว่า “ต้องการให้เทรนด์ส่งเสริมบทสนทนาที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงบางครั้งอาจไม่อนุญาตหรืออาจระงับไม่ให้เนื้อหาปรากฏในเทรนด์ชั่วคราว หากเป็นเนื้อหาที่ละเมิดข้อบังคับจนกว่าจะมีบริบทเพิ่มเติม”

และเมื่อมีการแชร์เนื้อหาที่เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจาร ทวิตเตอร์มีมาตรการในการปกป้องผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการเห็นเนื้อหากราฟิกบนแพลตฟอร์ม ซึ่งกำหนดให้ติดป้ายกำกับสำหรับผู้ที่ทวีตเนื้อหาที่มีลักษณะดังกล่าว

และมีการปรับให้ใช้การค้นหาที่ปลอดภัย (safe search) เป็นการตั้งค่าเริ่มต้น เพื่อให้ผู้ใช้จะต้องทำการ “ค้นหา” เนื้อหากราฟิกถึงจะพบเนื้อหาเหล่านี้ และไม่อนุญาตให้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารบนรูปโปรไฟล์ รูปภาพปก หรือไลฟ์วิดีโอ

เข้มละเมิด “เด็ก”-สกรีนคำ

นอกจากนี้ นโยบายด้านการโฆษณามีการห้ามส่งเสริมเนื้อหาประเภทดังกล่าวรวมถึงเทรนด์ที่มีลักษณะมีคำหยาบคาย หรืออ้างอิงภาพ/เนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ มุ่งเป้าไปที่ความเป็นส่วนตัวของเหยื่อของอาชญากรรมร้ายแรง

และผู้เยาว์ ซึ่งเป็นบุคคลส่วนตัว การบิดเบือนข้อมูลบนแพลตฟอร์ม รวมถึงสแปมและความพยายามอื่น ๆ ที่บ่อนทำลายบทสนทนาสาธารณะ เป็นการทำละเมิดข้อบังคับอย่างชัดเจน

“การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กเป็นการละเมิดหนึ่งในข้อบังคับที่ร้ายแรงที่สุดของเรา รวมถึงสื่อ ข้อความ ภาพประกอบ หรือรูปภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม”

ตัวแทนจากทวิตเตอร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทวิตเตอร์มีระบบอัตโนมัติในการตรวจสอบข้อความและปิดกั้นเนื้อหาที่มีคำหยาบคาย ภาพโป๊เปลือย หรือเนื้อหาที่อาจผิดต่อนโยบายหลักอยู่แล้ว

แต่กรณีเนื้อหา หรือข้อความที่เข้าข่ายค้าประเวณีที่พบส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้คำหยาบ เช่น รับงานพัทยา, รับงานลาดพร้าว รวมถึงแฮชแท็ก สาวอ้วน ไซด์ไลน์ นักเรียนรับงาน เป็นต้น

ทำให้ระบบตรวจสอบไม่พบ จึงต้องอาศัยการรายงาน (report) ไปยังแพลตฟอร์มโดยตรง เมื่อได้รับรายงานก็จะเร่งดำเนินการตรวจสอบและปิดกั้นต่อไป