จิตวิญญาณ “สตาร์ตอัพ ยูนิคอร์น

สามัญสำนึก
ดิษนีย์ นาคเจริญ

สิ่งที่ทำให้ “สตาร์ตอัพ” ต่างไปจาก “เอสเอ็มอี” นอกจากมีเรื่องแนวคิดในการทำธุรกิจที่มักเริ่มจากความต้องการในการที่จะ “แก้ปัญหา” แล้วก็น่าจะเป็นความสามารถในการสร้างการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

ตัวอย่างล่าสุดที่ชัดเจนเป็นกรณี “แฟลช เอ็กซ์เพรส” หลังประสบความสำเร็จในการระดมทุนซีรีส์ D+ และ E จากนักลงทุน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบิ๊กเนมทั้งนั้น ได้เงินเบ็ดเสร็จ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ร่วม ๆ 4,700 ล้านบาท

“แฟลชกรุ๊ป” จึงขยับขึ้นมาเป็นสตาร์ตอัพระดับ “ยูนิคอร์น” ตัวแรกของไทยสำเร็จ ภายในเวลาแค่ 3 ปี มีมูลค่าธุรกิจเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท

คนส่วนใหญ่รู้จัก และคุ้นเคยกับ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจ “โลจิสติกส์” แต่ “คมสันต์ ลี” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “แฟลชกรุ๊ป” (Flash Group) บอกว่า ต้องการเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร

คมสันต์ ลี

กว่าจะมีวันนี้ของ “คมสันต์” เองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เขาเกิดและเติบโตที่เชียงราย ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน พูดได้ทั้งภาษาจีน และภาษาไทย พ่อแม่หย่ากันตั้งแต่อายุ 13 จึงเติบโตมาในสถานรับเลี้ยงเด็ก ในความโชคไม่ดีก็มีความโชคดี ความลำบากทำให้เป็นคนที่มีความทะเยอทะยาน และมุ่งมั่นทำงานส่งตนเองเรียนจนจบมหาวิทยาลัย

ด้วยความที่พูดภาษาจีนได้ จึงมีโอกาสทำธุรกิจร่วมกับคนจีนหลายอย่าง 1 ในนั้น คือ ธุรกิจส่งสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ไปจีน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการโลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซในจีนตั้งแต่เริ่มต้นจึงมองเห็นโอกาสในประเทศไทย ด้วยว่าอีคอมเมิร์ซในไทยในเวลานั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เช่นกันกับ “โลจิสติกส์” ที่แม้จะมีผู้เล่นจำนวนมาก แต่ “ราคา” ก็ยังสูงมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับ “รายใหม่”

“จีนใหญ่กว่าไทย 8-10 เท่า แต่ขนส่งสินค้าใช้เวลาแค่ 2 วัน ไปถึงหน้าบ้านลูกค้า ค่าขนส่งทั่วประเทศ 15 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ไทยเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เริ่มต้นที่ 35 บาทต่อกิโลกรัม และใช้เวลานานกว่ามาก”

นอกจาก “ราคา” ที่ถูกกว่า “แฟลช” ยังสร้างความแตกต่างด้วยการเป็นรายแรกที่ให้บริการ 365 วัน และไปรับสินค้าถึงหน้าบ้าน ส่วนที่มาของโลโก้ “สายฟ้า” นอกจากต้องการ “สื่อ” ถึงความรวดเร็วแล้ว ยังหมายถึงว่าทุกครั้งที่มีฝนตก หรือพายุก็จะมี “สายฟ้า” เปรียบได้กับ “แฟลช” ที่เข้ามาในวงการแม้ไม่ง่าย และเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ยิ่งมีพายุและลมฝนมากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้แข็งแกร่งมากขึ้น

สิ่งที่ทำให้ “แฟลช” เติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นได้ คือ “เทคโนโลยี” ที่ผ่านมาได้มีการลงทุนระบบไอทีจำนวนมาก ดึงทีมงานระดับหัวกะทิมาจากไอบีเอ็ม และอาลีบาบา ปัจจุบันมีพนักงานด้านไอทีมากกว่า 300 คน

“ตอนที่แฟลชเข้ามา คู่แข่งยังใช้มือจดแต่เราใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีโปรแกรม flash radar ให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ใช้งานฟรี ซึ่งทำให้เขาเห็นข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้าเพราะถือว่าคือฐานสำคัญ ถ้าเขามีกำไร เราก็จะมีกำไร ถ้าค่าขนส่งแพง ผู้บริโภคก็ต้องซื้อของแพง ถ้าลดต้นทุนได้ ผู้บริโภคก็จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ”

“คมสันต์” หยิบยกคำ 3 คำของเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ “แจ็ก หม่า” ที่ว่า “มองไม่เห็น ไม่เชื่อ ตามไม่ทัน” มาพูดถึงวันนี้ของ “แฟลช” ว่า ในวันที่ผม (แฟลช) เข้ามาทำธุรกิจ เขา (คู่แข่ง) อาจยังไม่เห็นคุณค่า หรือตอนที่ลงทุนก็คงไม่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ ทำให้ตอนที่เราประสบความสำเร็จแล้ว เขาก็จะตามไม่ทัน”

การเป็นผู้มาทีหลัง เป็น “โชคดี” ทำให้ได้เรียนรู้ความผิดพลาดของคนอื่น จึงพัฒนาบริการให้ดีกว่าได้ และว่าความสัมพันธ์ของเขากับ “แฟลช” มากกว่าคำว่า “เจ้าของบริษัท” แต่เปรียบเหมือน “ลูก” และว่า “ถ้าวันไหนไม่ได้ทำงาน คงนอนไม่หลับ” และยังคิดแต่ว่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร

แม้จะเริ่มต้นธุรกิจในไทย แต่เป้าหมายต่อไปของ “แฟลช” คือขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่เปิดระดมทุนรอบใหม่ เพราะตั้งใจว่าใน 5 ปี ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของ “เซาท์อีสต์เอเชีย” ก็จะสัมผัสบริการของ “แฟลช” ได้ ซึ่งมีมากกว่าบริการขนส่งที่ลูกค้าในไทยรู้จักกันดีอยู่แล้ว