เจาะ “คลาวด์สาธารณะ” ผลกระทบเศรษฐกิจ ชงรัฐเพิ่มมาตรการภาษีจูงใจเอกชน

cloudคลาวด์ เก็บข้อมูล

โควิด-19 ผลักดันให้ภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐหันมาใช้บริการคลาวด์มากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมาจากทุกทิศทุกทาง เมื่อเร็ว ๆ นี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

จัดงานสัมมนาสาธารณะภายใต้หัวข้อ “คลาวด์สาธารณะ : ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศไทย” ในรูปแบบออนไลน์ โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงต่าง ๆ มานำเสนอมุมมองและประสบการณ์

โดย “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การพัฒนาทักษะบุคลากรไทยให้สอดรับกับดิจิทัลมากขึ้น เป็นทั้งโอกาสและสิ่งที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ มีเป้าหมายสร้างอีโคซิสเต็มที่เหมาะสมเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเติบโต

“รัฐบาลคาดว่าสิ่งที่พยายามทำจะส่งผลดีและมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพราะการมีคลาวด์เซอร์วิสทำให้การทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเหมือนอุตสาหกรรมเดิม ๆลดการพึ่งพาแรงงาน เป็นความหวังของประเทศที่จะพลิกโฉมโครงสร้างของประเทศไทยในอนาคต”

คาด 5 ปี มูลค่าทะลุ 7 แสน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับ “คลาวด์สาธารณะ : ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจต่อประเทศไทย” ทำโดยการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพจากบริษัทตัวอย่างในไทย 3 กลุ่ม ได้แก่ ด้านเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ รวม 23 บริษัท มีทั้งบริษัทขนาดเล็ก กลาง และใหญ่

พบว่าในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 การใช้บริการคลาวด์มีมูลค่าอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท และคาดว่าในอีก 5 ปีจากนี้ (ปี 2564-2568) จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% หรือมีมูลค่าถึง 727,100 ล้านบาท ภายในปี 2568 และจะผลักดันจีดีพีประเทศเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 3%

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการนำบริการคลาวด์มาปรับใช้ของธุรกิจไทยมี 3 ส่วน คือ 1.ระดับองค์กร พบว่าความเชี่ยวชาญของพนักงานคุ้นชินกับการใช้ data center แบบเดิม

ขณะที่บริษัทรู้สึกว่าการใช้พนักงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะ coding ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน 2.ผู้ให้บริการเอาเปรียบ หมายถึงเมื่อใช้แล้วประสิทธิภาพไม่เป็นไปตามข้อตกลง และไม่ได้รับเงินชดเชย

ดังนั้น ผู้ให้บริการคลาวด์จึงต้องให้บริการที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลด้วย และ 3.กฎหมาย การควบคุม การใช้ข้อมูลบนคลาวด์ในแต่ละธุรกิจต้องมีความชัดเจน

เจาะการใช้งานในองค์กรไทย

หากลงลึกในรายละเอียดของแต่ละบริษัทที่ได้ศึกษา ได้แก่ กลุ่มเอสซีจี ซึ่งมีธุรกิจหลากหลาย มีการใช้มัลติคลาวด์เพื่อลดต้นทุนระบบไอที ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อได้ ถัดมาเป็นธุรกิจกลุ่มอาหาร “ส.ขอนแก่น”

ซึ่งเคยเผชิญปัญหาระบบล่มทำให้การติดต่อกับลูกค้ามีปัญหา จึงนำระบบคลาวด์มาใช้คิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของทั้งบริษัท ทำให้ช่วยลดความเสียหายจากค่าเสียโอกาสทางการขายได้ดีขึ้น

สุดท้ายคือ โครงการคนละครึ่งของรัฐบาล ซึ่งกรุงไทยเข้ามาวางระบบโดยการดำเนินการทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นบนระบบคลาวด์ ทำให้โอนเงินช่วยเหลือให้ประชาชนจำนวน 10 ล้านคนในเฟสแรกพร้อม ๆ กันได้

มุมมองของหน่วยงานรัฐ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) กล่าวว่า แนวโน้มการให้บริการภาครัฐผ่านระบบคลาวด์เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งสำคัญคือ

ต้องมีการปกป้องข้อมูลของประชาชน โดยรัฐต้องสร้างระบบคลาวด์กลางให้ทุกคนใช้ได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำต่างใช้ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่การขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลช้า

โดย สพร.เน้นการทำ software as a service และ platform as a service บูรณาการข้อมูลหน่วยงานรัฐเข้าด้วยกัน โดยปัจจุบันเร่งสร้างอินฟราสตรักเจอร์รองรับก่อน และเร่งพัฒนาบุคลากรไอทีของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้มีอยู่เพียง 3,000 คน จากจำนวนข้าราชการทั้งหมด 500,000 คน

ชงเพิ่มมาตรการภาษีจูงใจเอกชน

ด้านผู้ให้บริการคลาวด์ “วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” ผู้จัดการประจำประเทศไทย อเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส กล่าวว่า ใน 3 ปีข้างหน้าแนวโน้มการใช้คลาวด์จะเพิ่มขึ้นมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% โดยกลุ่มสตาร์ตอัพเป็นกลุ่มที่เริ่มใช้ก่อน ส่วนองค์กรใหญ่ รัฐบาลและเอสเอ็มอีจะค่อย ๆ เปลี่ยนมาใช้ ซึ่งปัจจุบันองค์กรไทยมีการใช้คลาวด์ไม่ถึง 5% แต่ต่อไปจะมากขึ้น

ขณะที่ ดร.นิธิพงศ์ บุญหลง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ บริษัท ทรู ไอดีซี กล่าวว่า รูปแบบการใช้คลาวด์สาธารณะจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่การเก็บข้อมูลอย่างเดียว

แต่มีการนำมาใช้เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์รูปแบบใหม่ data analytics และ AI โดยเทรนด์การใช้งานจะมุ่งไปยังการจัดเก็บข้อมูล และรันแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ บนคลาวด์ จึงอยากเห็นภาครัฐมีมาตรการทางด้านภาษี สำหรับบริษัทที่ใช้คลาวด์เพื่อจูงใจให้เอกชนทรานส์ฟอร์มตนเอง และส่งเสริมให้ผู้เล่นไทยสามารถแข่งขันในตลาดระดับภูมิภาคได้