อิสราเอล ผู้นำสตาร์ตอัพ กับการพัฒนาที่เป็นดาบสองคม

อิสราเอล
FILE PHOTO : stinne24 : Pixabay
คอลัมน์ TechTimes
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ชื่อเสียงของอิสราเอลในฐานะ “ประเทศแห่งสตาร์ตอัพ” กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา อิสราเอลผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเทคโนโลยีที่สำคัญของโลกจากการมีระบบการศึกษาที่ล้ำหน้า มีการบรรจุหลักสูตร cybersecurity และ cyberwarfare ชั้นสูง

เพื่อฝึกทหารเกณฑ์ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีแขนงนี้อย่างเข้มข้น ทำให้มีคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

หนึ่งในซอฟต์แวร์ “เมดอินอิสราเอล” ที่โด่งดัง ได้แก่ “Pegasus” ที่เคยช่วยรัฐบาลเม็กซิโกจับ El Chapo เจ้าพ่อค้ายาที่ใหญที่สุดในโลกมาแล้ว

Pegasus คือ ซอฟต์แวร์ใช้ติดตั้งบนมือถือเพื่อสอดแนมบทสนทนา อีเมล์ ข้อความ และธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ทั้งยังแปลงโทรศัพท์ให้กลายเป็น “เครื่องดักฟัง” แบบเรียลไทม์ได้ตลอดเวลา

ปฏิบัติการไล่ล่า El Chapo ประสบความสำเร็จได้เพราะแอบติดตั้งซอฟต์แวร์ Pegasus บนมือถือ

นับจากนั้น NSO เจ้าของ Pegasus ก็ขยับขึ้นเป็นผู้ให้บริการระดับโลก

แต่ชื่อเสียงของอิสราเอลและ NSO กำลังสั่นคลอนหลังการสืบสวนภายใต้ความร่วมมือขององค์กรสื่อกับเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน Amnesty International และ Forbidden Stories

พบว่า Pegasus ถูกรัฐบาลหลายแห่งใช้สอดแนมการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน นักข่าว และนักเคลื่อนไหวทั่วโลก

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า Pegasus ถูกติดตั้งบนมือถือคนใกล้ชิดของจามาล คาชอกกี คอลัมนิสต์ชาวซาอุฯแห่ง Washington Post ก่อนถูกสังหารโหดในกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในปี 2018

นักวิจัยจาก Citizen Lab มหาวิทยาลัยโตรอนโต ยังพบว่ามีการใช้มัลแวร์ของ USO เพื่อแฮกไอโฟนของอาเหม็ด แมนซัวร์ นักสิทธิมนุษยชนขององค์กร Emirati จนทำให้เขาถูกจับและต้องโทษจำคุกใน UAE ถึง 10 ปี ในข้อหา “ทำลายชื่อเสียงของประเทศ”

แม้ NSO จะยืนกรานว่าเทคโนโลยีของบริษัทพัฒนาเพื่อ “ช่วยชีวิต” และอยู่ภายใต้กฎระเบียบการส่งออกเทคโนโลยีด้านการทหาร บริษัทก็ยอมรับว่าไม่มีสิทธิก้าวก่ายการใช้งานของลูกค้าได้

ข่าวนี้ทำให้หลายองค์กรทั้งภายในและภายนอกอิสราเอลเริ่มเรียกร้องให้มีการกำหนดกฎระเบียบเพื่อควบคุมตลาดซอฟต์แวร์ด้านการสืบราชการลับไซเบอร์ มากขึ้น

ล่าสุด รมว.กลาโหมของอิสราเอลเปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังอยู่ในขั้นตอนการ “ศึกษา” ข้อกล่าวหาที่โจมตี NSO ว่าจริงเท็จอย่างไร มีการจัดตั้งคณะทำงานทบทวนกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบว่ามีการนำเทคโนโลยีไปใช้ “ผิดวัตถุประสงค์” หรือไม่

ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ Yuval Shany จาก Hebrew University of Jerusalem มองว่า สิ่งที่อิสราเอลควรทำคือ เข้าร่วมในข้อตกลง Wassenaar Arrangement กับอีก 42 ประเทศทั่วโลก เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบการส่งออกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหาร

ในขณะที่ Karine Nahon นักวิชาการจาก The Interdisciplinary Center Herzliya and President of the Israel Internet Association เสนอว่า ควรมีการกำหนดระเบียบการออกใบอนุญาตให้กับสตาร์ตอัพและเจ้าของเทคโนโลยีเพื่อควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ

Israel Bachar ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและกลยุทธ์ของรัฐบาลบอกว่า NSO เป็นกลไกหนึ่งที่ใช้ในงานสืบราชการลับ และไม่ใช่อิสราเอลที่มีหน่วยสืบราชการลับ ประเทศไหน ๆ ก็มีทั้งนั้น

แม้ตอนนี้อาจดูเหมือนว่า NSO และอิสราเอลจะแปดเปื้อนด้วยข้อครหามากมาย แต่ Bacher มองในแง่ดีว่า การ “สาดโคลน” ครั้งนี้ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของอิสราเอลในฐานะผู้นำเทคโนโลยีชั้นสูงด้านภารกิจลับขจรขจายมากขึ้นกว่าเดิม

ถึงขั้นทำนายว่าอีก 3 เดือน สิ่งเดียวที่หลงเหลือในความทรงจำของผู้คนเกี่ยวกับข่าวนี้ก็คือ อิสราเอลคือเจ้าของเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลก