ไปรษณีย์ไทยเล็งเขย่าโครงสร้างรีสกิลพนักงานสู้ศึกขนส่ง

“ไปรษณีย์ไทย” ปรับรอบทิศรับสมรภูมิโลจิสติกส์แข่งแรง เล็งเขย่าโครงสร้างองค์กรใหม่เข้ม บริหารต้นทุน-รีสกิลพนักงาน เติมบริการใหม่ ๆ พร้อมเดินหน้าลงทุนเพิ่ม 140 ล้านบาทติดตั้งเครื่องคัดแยกพัสดุรองรับอีคอมเมิร์ซขาขึ้น ทั้งเตรียมนำรถไฟฟ้ามาใช้งานปลายปีนี้ หวังลดเสี่ยงต้นทุนน้ำมัน-รักษ์โลก

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์รุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้จะเห็นความเคลื่อนไหวของผู้เล่นแต่ละรายชัดเจน

ทั้งกรณีเคอรี่ที่ได้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากจีน รวมถึงบริษัท ปณท เองก็จับมือกับพาร์ตเนอร์ 2 รายคือ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด เปิดตัวธุรกิจขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิในชื่อ “ฟิ้วซ์ โพสต์” (FUZE POST) ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งวงกว้าง

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ ปณท ต้องปรับตัวในหลายมิติ โดยเฉพาะการบริหารจัดการต้นทุน และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดพนักงาน และเตรียมเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ภายในปีนี้เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้สอดรับกับความเหมาะสมของธุรกิจ

ขณะเดียวกัน ยังวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการรีสกิลพนักงาน รวมถึงขยายไปยังบริการรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มเติม ทั้งหมดก็เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพขององค์กรมากขึ้น

“ปณท พยายามปรับองค์กรในหลาย ๆ ส่วนด้วยกัน ทั้งการรีเทิร์น รีสกิลพนักงาน และทำงานในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ส่วนแนวทางการปรับลดพนักงานและจำนวนนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่เป้าหมายหลักคือต้องการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อตอกย้ำบทบาทด้านการสื่อสารและขนส่งหลักของชาติผ่านแนวทางสำคัญคือ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัลหรือ tech post”

นอกจากนี้ ปณท ยังได้ลงทุนเพิ่มเติมเป็นเงิน 140 ล้านบาท ติดตั้งเครื่องคัดแยกแบบ cross belt sorter ที่ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) ทำให้สามารถคัดแยกพัสดุได้ถึง 7.2 ล้านชิ้นต่อเดือน มากกว่าเครื่องเดิมที่คัดแยกได้ 6.5 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยการติดตั้งเครื่องใหม่ถือเป็นเครื่องที่ 3 ต่อจากศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา และศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่

เมื่อรวมทั้ง 3 เครื่องจะรองรับปริมาณงานได้มากถึงกว่า 20 ล้านชิ้นต่อเดือน เพียงพอต่อการรองรับปริมาณพัสดุจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นอีกในอนาคต

ดร.ดนันท์กล่าวด้วยว่า ผลจากการติดตั้งเครื่องคัดแยกดังกล่าวจะทำให้การใช้พนักงานคัดแยกลดลง 20-30% เฉพาะศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) เดิมใช้พนักงานคัดแยก 120 คน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกสินค้าให้มีความแม่นยำขึ้น เร็วขึ้น และรองรับการคัดแยกได้ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีแผนติดตั้งเครื่องคัดแยกพัสดุเพิ่มเติมอีก 5-6 แห่ง

ปัจจุบันมีพื้นที่แล้ว 8 แห่ง เช่น ศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา ศูนย์ไปรษณีย์ขอนแก่น ศูนย์ไปรษณีย์อุบลราชธานี เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดว่าจะติดตั้งที่พื้นที่ใดก่อน

ขณะเดียวกัน ปณท ยังมีแผนที่จะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้ในการขนส่งด้วย และคาดว่าจะเริ่มได้ภายในปีนี้ ส่วนจะเริ่มที่รถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ก่อนอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา เนื่องจากต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายส่วนทั้งจำนวนสถานีชาร์จและเวลาในการชาร์จ เป็นต้น

“การนำรถไฟฟ้าเข้ามาขนส่งไม่เพียงช่วยบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุนน้ำมันที่ถือเป็นต้นทุนหลักในการขนส่งเท่านั้น แต่ยังช่วยลดมลพิษสิ่งแวดล้อมด้วย”