SAP เปิดกลยุทธ์ใหม่หนุนธุรกิจทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลยกโซลูชั่นให้บริการบนคลาวด์ ตอบโจทย์องค์กรต้องการความรวดเร็วในการปรับตัว ชูบริการ-ราคาหลากหลาย เพิ่มน้ำหนักเจาะเอสเอ็มอีทุกเซ็กเมนต์
นายเอทูล ทูลิ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี อินโดไชน่า ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นระดับองค์กร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้องค์กรธุรกิจรวมถึงหน่วยงานรัฐหันมาให้ความสำคัญกับการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะการนำโซลูชั่นบนคลาวด์มาปรับใช้เต็มรูปแบบ ทำให้ใน 1-2 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านคลาวด์ทั่วโลกเติบโตขึ้น
ขณะที่ในไทยคาดว่าปีนี้จะมีมูลค่า 4,080 ล้านบาท โตขึ้น 36.6% จากปีก่อน เอสเอพีจึงปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจใหม่ภายใต้กลยุทธ์ cloud only strategy หรือการยกโซลูชั่นต่าง ๆ ที่มีขึ้นมาให้บริการผ่านคลาวด์สอดรับความต้องการของลูกค้าปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยต้นทุนไม่สูง
คาดว่าจะผลักดันให้บริการโซลูชั่นบนระบบคลาวด์เติบโตขึ้น ขณะที่ผลประกอบการไตรมาสแรกเติบโตขึ้นทั่วโลก
ด้าน นางสาวกุลวิภา ประดิษฐผลเลิศ ผู้อำนวยการธุรกิจทั่วไป เอสเอพี อินโดไชน่ากล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังคงอยู่ทำให้โจทย์ของธุรกิจมีความหลากหลายขึ้น ทั้งการเพิ่มทักษะบุคลากร เพิ่มยอดขาย การนำดาต้ามาปรับใช้เพื่อวางแผนกลยุทธ์ให้แม่นยำ
พฤติกรรมการใช้งาน กลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไป ต้องการความสะดวกสบายรวดเร็วขึ้น บริษัทจึงปรับเปลี่ยนตนเองมุ่งไปสู่กลยุทธ์ cloud only strategy ซึ่งการยกโซลูชั่นมาไว้บนคลาวด์มีข้อดี คือ ลูกค้าใช้ประโยชน์จากดาต้าได้แบบเรียลไทม์
ปัจจุบันเอสเอพีให้บริการลูกค้าในกว่า 25 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ค้าปลีก เฮลท์แคร์ อีคอมเมิร์ซ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น มีบริการครอบคลุมตั้งแต่งานด้านซัพพลายเชน (supply chain) ระบบจัดซื้อ บริหารทรัพยากรบุคคลไปจนถึงโซลูชั่นบริหารประสบการณ์ลูกค้า
ล่าสุดร่วมกับ South City Group ใช้โซลูชั่น RISE with SAP เน้นข้อมูลเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน
“การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านคลาวด์เทคโนโลยีเป็นพันธกิจสำคัญของเอสเอพีในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนทางธุรกิจ ตลอดจนความต้องการของลูกค้า ปัจจุบันโซลูชั่นคลาวด์ของเรามีส่วนทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่าเทียมองค์กรขนาดใหญ่ ด้วยทางเลือกในการใช้บริการแบบ subscription และการลงทุนที่น้อยกว่า
ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะมีผลบังคับใช้ 1 มิ.ย. เราเองพร้อมอยู่แล้ว ขณะที่ลูกค้าโดยเฉพาะธุรกิจใหญ่ก็พร้อม ส่วนเอสเอ็มอีอาจใช้เวลาเตรียมตัวอีกระยะ โดยพิจารณาบทบาทของตนเองและข้อมูลอะไรที่จำเป็นต้องจัดเก็บให้ปลอดภัย”
นายนพดล เจริญทอง ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจการตลาดขนาดกลาง เอสเอพี อินโดไชน่า กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนเพราะมากถึง 90% ในอาเซียนเป็นเอสเอ็มอี ครอบคลุมการจ้างงานกว่า 50% ทั่วอาเซียน
หรือคิดเป็น 41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของอาเซียน (GDP) เอสเอพีจึงให้ความสำคัญในการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่การเป็น Intelligent, Sustainable Enterprise สร้างระบบหลังบ้านที่แข็งแกร่งและเติบโตในอนาคต
ผลการศึกษาล่าสุดของเอสเอพี ในหัวข้อ “Transformational Talent : The impact of theGreat Resignation on Digital Transformation in APJ’s SMEs” เจาะลึก SMEs ไทย พบว่าเอสเอ็มอีไทย 68% มองว่าพาร์ตเนอร์ทางเทคโนโลยีที่ช่วยในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้มีความจำเป็นอย่างมากต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
และ 66% ของเอสเอ็มอีไทยไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นดำเนินงานกับพาร์ตเนอร์ทางเทคโนโลยีได้อย่างไร ซึ่งปีนี้เอสเอพีประเทศไทยจะเพิ่มน้ำหนักในการเจาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นในทุกเซ็กเมนต์