ย้อนดูผลงาน “กสทช.-ดีอี” แรงกระเพื่อมอุตสาหกรรมแสนล้าน

ปี 2560 การขยับของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งผลมากมายทั้งกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อุตสาหกรรมโทรคมนาคม-บรอดแคสต์ มูลค่าหลายแสนล้านบาท

ย้ายปลัด (อีก)-เน็ตประชารัฐ

12 เดือนใต้การบริหารของ รัฐมนตรีดีอี “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมชัด ๆ คือ งาน Digital Thailand Big Bang 2017 ที่ทุ่มงบฯกว่า 93 ล้านบาท (ไม่รวมค่าจัดบูท) มีผู้เข้าชม 241,004 คน ด้วยแรงดึงดูดของการแข่งขัน e-Sport โชว์นวัตกรรม IOT และ Drone

ขณะที่ “เน็ตประชารัฐ” ติดตั้งบรอดแบนด์ 24,700 หมู่บ้านงบประมาณ 13,000 ล้านบาท ที่่ล่าช้ามาปีกว่า ยังส่งผลให้มีการเปลี่ยนปลัดดีอีอีกครั้งจาก “วิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล” เป็นอดีตรองเลขาฯ BOI อย่าง “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย”

แม้ในที่สุดทีโอทีจะติดตั้งได้ครบเมื่อ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทันเส้นตายของรัฐบาล แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะเปิดให้เอกชนเข้าเชื่อมต่อโครงข่ายนี้ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าปลายทางได้อย่างไร มีแค่การเคาะกรอบค่าบริการ 349 บาทต่อเดือนสำหรับความเร็ว 30/10 Mbps

ส่วนโครงการขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์และเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างประเทศ มูลค่า 5,000 ล้านบาท กว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องรูปแบบและโอนงบประมาณให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) ได้ก็เกือบ ต.ค. 2560

ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง “กสทช.”

ฟาก “กสทช.” มี พ.ร.บ.ใหม่มายุบรวม 2 บอร์ดเล็ก อย่าง “กทค.” และ “กสท.” ให้มีเพียงบอร์ดเดียวตัดสินใจ ทั้งบอร์ดชุดปัจจุบันก็ครบวาระ แต่บทเฉพาะกาลให้ทำหน้าที่ต่อไปพลางก่อน พร้อมเลือก “พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร” เป็นประธานใหม่แทน “พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี” ที่ต้องเกษียณ แถมล่าสุด เลขาธิการ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ก็กลายเป็น 1 ใน 7 รายชื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย

ปีที่ผ่านไปถือเป็นปีที่ กสทช. เริ่มต้นอย่างดุเดือดในหลายเรื่อง อย่างการกดดันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ให้นำเนื้อหาที่ผิดกฎหมายตามคำสั่งศาลออกจากระบบให้หมด

OTT วืด-เน็ตชายขอบ

การลุกขึ้นมากำกับ OTT (Over-The-Top) บริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งผู้ให้บริการคอนเทนต์ประเภทฟรีทูแอร์ และคอนเทนต์ออนดีมานด์ รวมถึงแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการบรอดแคสต์ เช่น ไลน์ทีวี และเฟซบุ๊กไลฟ์ ที่เริ่มต้นโดยมี “พ.อ.นที ศุกลรัตน์” รองประธาน กสทช. เป็นโต้โผใหญ่ ขีดเส้นให้ผู้ประกอบกิจการเข้ามาลงทะเบียนภายใน 22 ก.ค. 2560 แต่ปรากฏมีมติบอร์ด กสทช. 5 ก.ค. 2560 สั่งเบรกทุกสิ่งแล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่ จนสุดท้ายก็เงียบกริบ

ส่วนงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรมเสียทีคือ “เน็ตชายขอบ” โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน งบประมาณ 13,614.62 ล้านบาท ที่ถูกเบรกมานาน ก็เริ่มติดตั้งและจะเริ่มทยอยเปิดบริการได้แล้วทั้งบอร์ดยังอนุมัติงบฯ 4,683.73 ล้านบาท ให้ผู้มีรายได้น้อยใช้บริการฟรีด้วย

ขณะที่การจัดประมูลเบอร์สวย 3 ครั้ง รวมได้เงินเข้ารัฐ 195,694,985 บาท

ส่วนที่เซอร์ไพรส์สุด คือ “ทรูมูฟ เอช” และ “AWN” ยื่นขอ คสช. ขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดที่ 4 ในปี 2562 ซึ่งแต่ละรายต้องจ่ายอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ทีวีดิจิทัลรอเก้อ-เร่ขายกิจการ

แต่ที่ “รอเก้อ” ที่สุด คือ แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ยังไม่มีเสียงตอบรับใด ๆ จากข้อเสนอที่บรรดาผู้ประกอบการยื่นต่อ กสทช. คสช. และรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการให้คืนช่องได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินประมูลที่เหลือ หรือขอสนับสนุนเงินค่าเช่าโครงข่ายสำหรับออกอากาศ ฟากผู้ประกอบการจึงดิ้นรนเต็มที่ ล่าสุด ช่อง GMM 25 ได้กลุ่มสิริวัฒนภักดี เข้ามาซื้อกิจการถือหุ้น 50% ส่วนของเนชั่นกรุ๊ป ประกาศขาย ช่อง NOW 26 ส่วนช่อง VOICE 21 เลิกจ้างพนักงาน 127 คน

พันธมิตร “ทีโอที” ไม่คืบ

ขณะที่การตั้งบริษัทลูกของ “ทีโอที” และ “แคท” ตามมติ ครม. คือ บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co.) ยังถูกคัดค้านจากสหภาพแรงงานฯ และอยู่ในขั้นตอนประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

ด้านการหาพันธมิตรธุรกิจของทีโอที แทบไม่คืบหน้า ทั้งคลื่น 2300 MHz กับ “ดีแทค” ที่ยังชุลมุนชี้แจงกับ กสทช. มาครึ่งปี ส่วนกับ “AIS” 2 ปีแล้วเพิ่งได้ไฟเขียวจากสำนักงานอัยการสูงสุด เหลือขั้นตอนที่บอร์ดของทั้ง 2 บริษัทจะอนุมัติให้ลงนาม

อีกเหตุการณ์สำคัญคือการสิ้นสุดสัมปทานโทรศัพท์บ้าน “ทีโอที-ทรู” ที่ 25 ปี สร้างรายได้ให้ทีโอที 41,000 ล้านบาท ทรู 190,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บมจ.ทีทีแอนด์ที ที่แจ้งให้เจ้าของสัมปทานดำเนินการแทน จึงทำให้ทีโอทีเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่รายใหญ่สุด